ในเวลานี้มีห้องมากมายเกิดขึ้นบน Clubhouse จากเดิมที่มีแค่ห้องที่ให้ความรู้ แนวสัมมนาจากผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหารระดับ C-level กลายเป็นตอนนี้ใครๆ ก็เริ่มหาความคิดสร้างสรรค์แหวกแนวเพื่อจัดห้องในแบบใหม่ๆ บางห้องก็ได้กระแสตอบรับดี บางห้องก็อาจจะกำลังหาแนวทาง
ใครที่กำลังเป็นอย่างหลัง วันนี้ RAiNMaker มีทริกเล็กๆ น้อยๆ ในการเป็น Moderator หรือผู้ตั้งห้องที่ดี เพื่อนำไปปรับใช้กับการจัดห้องบน Clubhouse ยังไงให้ราบรื่นมาฝากถึง 10 ข้อด้วยกัน ลองไปเช็กลิสต์ก่อนเปิดห้องกันเลยค่ะ
1. ตั้งเวลาสร้างห้องล่วงหน้า
การตั้งเวลาไว้ล่วงหน้า เป็นประโยชน์ต่อเรามากๆ เนื่องจากคนจะเห็นว่าเราจะจัดห้องตอนไหน และสามารถตั้งเตือนเพื่อเข้ามาฟังเราได้ในเวลานั้น นอกจากนี้การสร้างห้องไว้ก่อนยังทำให้สามารถนำลิงก์ไปแชร์ต่อในช่องทางอื่นเพื่อเชิญชวนให้คนเข้ามาดูต่อได้อย่างสะดวกมากขึ้นอีกด้วย
ทริกเล็กน้อยสำหรับการสร้างห้อง
- ตั้งชื่อห้องให้กระชับและน่าสนใจ
- เลือกเวลาที่เหมาะสม
- เลือก Co-host หรือแขกรับเชิญที่น่าสนใจ เพื่อดึงดูดคนดู ยิ่งเลือกคนที่มีผู้ติดตามมากก็จะทำให้ผู้ติดตามของคนเหล่านั้นตามมาในห้องของเรามากขึ้นอีกด้วย
2. ลองเปิดจากห้องเล็กๆ ก่อน
หากกลัวว่าการเปิดห้องจะไม่ประสบความสำเร็จ ให้ลองสร้างจากห้องเล็กๆ เช่น ห้อง Closed หรือ Social ก่อนก็ได้ เพื่อพูดคุยเฉพาะกับคนที่เชิญหรือคนที่ฟอลโลว์ เป็นการฝึกในการจัดการกับห้องดูก่อน ทั้งในแง่ของฟังก์ชันต่างๆ และทักษะในการพูดคุยของเราเอง จากนั้นคอยเปิดห้องเป็นสาธารณะก็ได้
ซึ่งรูปแบบในการสร้างห้องก็มีหลายแบบ สามารถเลือกจัดได้ตามความเหมาะสมของจุดประสงค์ แบ่งหลักๆ ได้เป็น
- งานสัมมนาที่ให้ Moderator หรือสปีกเกอร์พูด และผู้ฟังฟังได้อย่างเดียว
- การสัมภาษณ์ที่ให้ Moderator ถามคำถามกับสปีกเกอร์
- Q&A ที่เปิดให้ผู้ฟังมีส่วนร่วมได้การถามตอบด้วย
- แบบเปิดให้ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ทุกเมื่อ
3. ตั้ง Moderator มาช่วย
ควรมี Moderator อีกคนมาช่วยดูแล เผื่อไว้ในกรณีที่อาจเกิดปัญหาขัดข้อง ต้องไปรับโทรศัพท์เข้า หรืออินเทอร์เน็ตไม่ดี เป็นต้น จะได้มีคนคอยแสตนด์บายในการรับช่วงต่อได้ทันที เพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉินดังกล่าวขึ้นมาจะทำให้ห้องถูกปิดไปแบบอัตโนมัติและไม่สามารถกลับมาเปิดห้องเดิมต่อได้อีกนั่นเอง
แต่การมี Moderator หลายคน ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันในเรื่องของแนวทาง และกฎประจำห้อง เพื่อจะได้จัดการทุกอย่างไปในทางเดียวกัน และแบ่งบทบาทหรือช่วงพูดให้ชัดเจนจะได้ไม่พูดชนกัน
รวมถึง Moderator ควรมีหน้าที่พูดถึงกฎหรือแนวทางของห้องให้ชัดเจน ตั้งแต่การแนะนำตัวว่าตัวเองคือใคร มาจากไหน ห้องนี้มีจุดประสงค์เพื่ออะไร มีกฎหรือข้อห้ามอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ เช่น ยกมือได้ตอนไหน หรือพูดได้กี่นาที เป็นต้น
4. เชิญ Co-host หรือแขกรับเชิญ
นอกจากนี้ยังสามารถเชิญ Co-host หรือแขกรับเชิญเพื่อที่จะมาร่วมจัดรายการหรือพูดคุยกัน หากเลือกคนขึ้นมาเป็นสปีกเกอร์ให้เหมาะสม เลือกโยนคำถามให้ถูกคนก็จะทำให้ผู้ฟังได้ประโยชน์จากการฟังมากขึ้น ถ้าแขกรับเชิญที่น่าสนใจเข้ามาในห้องก็มีโอกาสที่ผู้ติดตามของคนๆ นั้นก็จะตามมาฟังห้องเราเช่นเดียวกัน
5. มี Interact กับผู้ฟัง
จุดเด่นของคลับเฮาส์คือเปิดโอกาสให้ผู้คนได้พูดคุยกัน เป็นไปได้ควรพยายามหาโอกาสให้ผู้ฟังสามารถมีส่วนร่วมให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการเปิดให้ผู้ฟังขึ้นมาแชร์ประสบการณ์ หรือตอบคำถาม Q&A
6. คอยตรวจสอบความเรียบร้อยภายในห้อง
ในแง่ของเทคนิค เช่น บางคนอาจลืมปิดไมค์ ทำให้เกิดเสียงดังรบกวนสปีกเกอร์คนอื่นขณะพูด ซึ่งตรงนี้ Moderator สามารถกดปิดเองได้ และคอยดูคนที่ยกมือ เพื่อเลือกให้ผู้ฟังเข้ามามีส่วนร่วมให้เหมาะสมตามเวลา นอกจากนี้ต้องคอยเคลียร์คนในส่วนสปีกเกอร์ไม่ให้เยอะมากเกินไป หากใครที่ไม่ได้พูดอะไรเลยเป็นเวลานาน และควบคุมเวลาในการพูดของแต่ละคนเพื่อเปิดโอกาสให้คนอื่นๆ ได้พูดด้วย หรือใครที่พูดจบแล้วก็สามารถเอาลงไปเป็นผู้ฟังได้
7. อย่าออกนอกประเด็น
ถ้ามีวัตถุประสงค์ของห้องอย่างชัดเจนแล้ว ก็ไม่ควรที่จะออกนอกประเด็นไปไกล อาจจะมีประเด็นเสริมได้แต่ต้องรีบกลับเข้าประเด็นเพื่อไม่เป็นการเสียเวลา เพราะบางคนเข้าห้องมาเพื่อต้องการรับประโยชน์ตามชื่อห้องที่ตั้ง หรือหากหมดเวลาแล้วอยากเปิดห้องเพื่อพูดคุยเพิ่มเติม ก็ควรแจ้งทุกคนในห้องก่อนว่าเนื้อหาหลักของห้องจบแล้ว ต่อจากนี้คือการพูดคุยที่แล้วแต่ความสะดวกของแต่ละคน เพื่อเป็นตัวเลือกการตัดสินใจในการออกจากห้องของผู้ฟัง
8. ตรงต่อเวลา
เนื่องจากบนคลับเฮาส์คนจะสามารถเข้าๆ ออกๆ ได้ง่าย เพราะฉะนั้นถ้าสามารถจบตามเวลาที่กำหนดไว้ได้จะดีมาก เนื่องจากบนคลับเฮาส์มีหลายห้องที่เปิดในเวลาใกล้เคียงหรือซ้อนทับกันค่อนข้างเยอะ การที่เราพูดไปเรื่อยๆ แบบไม่มีจุดจบอาจทำให้คนออกไปห้องอื่น ถ้าเรากำหนดเวลาไปเลยจะทำให้คนสามารถจัดการเวลา และอาจทำให้คนอยู่จนจบได้มากกว่า
9. Reintroduce Reset เมื่อมีคนเข้ามาใหม่
เมื่อเริ่มมีคนเข้ามาใหม่มากขึ้น เขาอาจตามสิ่งที่อยู่ในห้องไม่ทัน ให้ลองแนะนำตัวเองกับสรุปสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในห้องสั้นๆ เพื่อให้คนที่เพิ่งเข้ามาพอจะจับประเด็นและตามทัน อาจจะไม่ต้องทำทุกครั้งที่มีคนเข้ามา แต่ทำเมื่อมีคนเริ่มเพิ่มเข้ามาในจำนวนนึงก็ได้
10. Recap ประเด็นทั้งหมด
ที่สำคัญที่สุดคือการสรุปทุกประเด็นที่เกิดขึ้นในห้องและทุกครั้งก่อนปิดห้องควรที่จะมีการสรุปเป็นประเด็นสั้นๆ เพื่อสรุปสิ่งที่เกิดขึ้นภายในห้องให้กับคนฟังอีกทีนึง ทำให้คนที่ฟังได้ทบทวนว่าได้รับอะไรจากห้องเราไปบ้าง
ที่มา : Social Media Examiner