สงสัยไหมว่าทำไมเวลาที่เราเล่น Social Media ไม่ว่าจะเป็น Facebook หรือ Instagram โดยเฉพาะ Story หรือการอัดวิดีโอ เราจะมีพฤติกรรมแนว ๆ “สวัสดีครับ วันนี้เราอยู่กันที่ …” หรือถามเพื่อนที่เรากำลังถ่ายว่า “ตอนนี้เราทำอะไรกันอยู่คะ ?” หรือ “วันนี้มากินข้าวกันที่ … อร่อยมากเลย” คำถามก็คือ ณ ตอนนั้น เรากำลังพูดถึงปัจจุบันหรือพูดถึงอดีตกันแน่ ?
ในปี 2010 คุณ Daniel Kahneman ได้ขึ้นมาพูด TED ในหัวข้อ The riddle of experience vs. memory ซึ่ง Kahneman ได้เริ่มต้นด้วยการอธิบายความแตกต่างระหว่าง ประสบการณ์ (experience) และ ความทรงจำ (memory) ซึ่งทั้งหมดจะมีความสัมพันธ์กับตัวตนเรา หรือ self ที่แบ่งได้เป็น 2 อย่างคือ experience self ที่เป็นการรับรู้ว่าเรารู้สึกอะไร ผ่านอะไรมา และ memory self ที่เป็นความทรงจำ ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง แน่นอนว่า memory นั้นคงอยู่นานกว่า และสิ่งที่ถูกสร้างหรือปรุงแต่งได้ (ผู้เขียนเคยเขียนเรื่องของความทรงจำไว้ใน บล็อกส่วนตัว ) ซึ่งทุก experience ไม่สามารถกลายมาเป็น memory ได้เนื่องจากขีดจำกัดของสมองมนุษย์
ดังนั้นเราจะไม่แปลกใจว่า ทำไมเรื่องราวสมัยเรียนที่ ณ ตอนนั้นเราไม่ชอบ เช่น การถูกครูตี พอกลายมาเป็นอดีตถึงได้กลายเป็นเรื่องสนุกเรื่องที่น่าจดจำ นั่นก็เพราะว่าเราแยก experience self การถูกตีว่าเป็นเป็นความเจ็บ ออกจาก memory self ที่เรานึกย้อนไปถึงภาพรวมว่าตอนนั้นเราได้อยู่กับเพื่อน เป็นนักเรียน ไม่เหนื่อยไม่ต้องทำงาน ออกจากกันแล้ว
แล้วในทางกลับกัน ถ้าเราเจอเรื่องที่ดีมาก ๆ แต่มีบางสิ่งบางอย่างมาทำให้มันแย่ เราจะจำสิ่งทีดีหรือสิ่งที่แย่ คำตอบก็คือเราจะจำสิ่งที่แย่ และจำว่าสิ่งนั้นมันแย่ เพราะ memory แย่ แม้ว่า experience อื่น ๆ จะดีก็ตาม แต่เราจำ experience ไม่ได้
ทีนี้ย้อนกลับมาที่ Instagram หลังจากที่การเข้ามาของ iPhone ในปี 2007 ได้เปลี่ยนวิธีการเล่าเรื่อง จากเดิมที่ทุกคนเขียน Blog เล่าบนคอมพิวเตอร์ ถ้าเราจะเล่าเรื่องวันที่ไปนั่งกินข้าวกับแฟน เราต้องนึกถึงอดีตเพื่อสร้างเรื่องอดีต แต่พอเราสามารถเล่าควาทรงจำได้ทันทีเมื่อมี Smart Phone หรือ Instagram เราสามารถถ่ายรูปหรือวิดีโอแล้วบันทึกเรื่องราวเหล่านั่นไว้ได้เลย ซึ่งเป็นการทำให้ปัจจุบันกลายเป็นอดีตทันที และเป็นการตัดสินใจของเราด้วยว่าเราต้องการที่จะจดจำสิ่งนี้ในฐานะของควาทรงจำ
ดังนั้นเราสามารถเลือกที่จะหยิบเอา experience ใดก็ได้ที่เราต้องการ ให้มาเป็น memory สิ่งนี้อธิบายไว้ใน บทความ The Instagram generation perceives every moment as an anticipated memory
ทั้งหมดนี้ว่าเกิดขึ้นในจิตใต้สำนึกของเรา (subconsciously) และเรียกมันว่า Anticipated Memory ซึ่งเมื่อก่อนนั้นเป็นไปได้ยากมาก ลองนึกภาพของการบันทึกความทรงจำก่อนที่จะมี Instagram เราจะไม่ค่อยเห็นคนทำพฤติกรรมแนว ๆ พูดกับกล้อง มากเท่าไหร่ เพราะความรู้สึกว่ามันคือปัจจุบัน แต่การพูดกับกล้อง
เป็นการกระทำที่เรารู้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบันกำลังจะกลายเป็นอดีต และเป็นอดีตที่เราจะจำได้ด้วย และเหนือไปกว่านั้นคือเราสามารถออกแบบความทรงจำในอนาคตของเราได้
ทีนี้ย้อนกลับไปที่กรณีถูกครูตี การทำงานของวิธีคิดเราถ้าเป็น Anticipated Memory ก็จะประมาณว่า “การถูกตีครั้งนี้เจ็บมาก แต่ในอนาคตเมื่อเรามาย้อนดูมัน เราจะจดจำเรื่องนี้ว่าครั้งหนึ่งเราเคยเป็นนักเรียน ใส่ชุดนักเรียน และได้อยู่กับเพื่อน” ซึ่งเป็นวิธีการคิดที่ซับซ้อนมาก และนี่คือสิ่งที่เราทำกับ Instagram เราสร้างอดีตในอนาคตจากปัจจุบัน
พฤติกรรมแบบนี้เป็นความสามารถของศิลปิน เป็นความสามารถของนักเล่าเรื่อง แต่กลายเป็นว่า เราทุกคนสามารถทำมันได้ แล้วก็กำลังทำมันอยู่ ทุกครั้งที่เราถ่ายรูปแล้วอัพขึ้นบน Social Media ในทันที เรากำลังสร้าง Anticipated Memory ขึ้น แปลว่าเราเลือกที่จะจำสิ่งนั้นในแบบที่เราต้องการ มันอาจจะดูแย่ ณ ตอนนั้น แต่เราก็บรรยายไป ผ่านเสียงหรือแคปชั่นตัวอักษรว่าเรารู้สึกยังไงกับมัน และในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นหลักนาที หลักวัน หลักเดือน หรือสิบปี เราจะกลับมาย้อนมองตรงนี้อย่างไร
คำถามก็คือ มีภาพภาพหนึ่งที่เรามักจะแชร์กันแล้วบอกว่า คนสมัยนี้สนใจแต่มือถือสนใจแต่ Instagram แต่ไม่สนสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้า แล้วมันผิดหรือเปล่า ? เราผิดเหรอที่เราต้องการเก็บปัจจุบันที่เกิดขึ้นและทำมันให้กลายเป็นอดีตที่เราเข้าถึงได้ไม่หายไป แต่บอกก่อนว่าเราไม่ได้ต้องการบอกว่ามันถูกหรือผิด เราแค่อยากเข้าใจกับสิ่งที่เราทำเท่านั้นเอง
สิ่งนี้จะกลายเป็นพฤติกรรมของคนใน Generation นี้และติดตัวไปตลอด ว่าเราสามารถเลือกที่จะสร้างความทรงจำขึ้นมาได้เอง ไม่ต้องรอให้มีปัจจัยอย่างอื่น เช่น ความเจ็บปวดมากระตุ้น และแน่นอนว่าสิ่งนี้จะส่งผลกระทบต่อชีวิตเราอย่างแน่นอน