News

Avatar

Nutn0n February 8, 2018

รวมบทเรียนของวงการสื่อดิจิทัลและสิ่งที่คนทำคอนเทนต์ต้องปรับตัวใน 2018

เมื่อโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัลอะไรก็เกิดขึ้นได้ การเข้ามาของยุคดิจิทัลทำให้ Trend ต่าง ๆ เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ในอดีตเราอาจจะสามารถใช้วิธีการเดิม ๆ ในการทำสื่อและคอนเทนต์ต่าง ๆ ได้อย่างเป็นระยะเวลานาน แต่ในปัจจุบันความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ แทบจะเกิดขึ้นใหม่ในทุกปี ในฐานะของคนที่ทำสื่อก็ต้องปรับตัวตามความเปลี่ยนแปลงกันเพื่อความอยู่รอด

การปิดตัวลงของนิตยสาร การเข้ามามีบทบาทของ Social Media ปรากฏการณ์บนโลกออนไลน์ และการแข่งขันกันครองพื้นที่บนหน้าจอตั้งแต่สำนักข่าวขนาดใหญ่จนไปถึงบรรดาบล็อกเกอร์ ตอกย้ำให้ทุกสื่อต้องปรับตัวแต่การปรับตัวเมื่อเหตุการณ์มาถึงอาจจะสายไป ในปัจจุบันเป็นยุคของข้อมูล (Age of Data) เรามีข้อมูลต่าง ๆ มากมายที่จะสามารถนำมาวิเคราะถึงแนวโน้มความเป็นไปของโลกดิจิทัลได้ ทำให้คนที่ทำสื่อทุกคนจะรู้เฉพาะเรื่องของวันนี้อย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ แต่ต้องสามารถวิเคราะห์ Trend ในอนาคตได้ด้วย

อ้างอิงจากโครงการ Digital News Report อันเป็นความร่วมมือระหว่างเจ้าพ่อวงการสื่ออย่าง Reuters และมหาวิทยาลัยออกฟอร์ด ทีมงาน RAiNMaker ได้รวบรวมสรุปบทเรียนสำคัญจากปี 2017 และแนวโน้มความเป็นไปของโลกดิจิทัลในปีนี้ เพื่อให้บรรดาคนทำคอนเทนต์ทุกคนได้ปรับตัวและรู้เท่าทันในยุคที่การแข่งขันแทบจะเป็นไปแบบวินาทีต่อวินาที

Facebook คือเทพเจ้าและ Facebook ลด Reach ก็กลายเป็นปัญหาอันดับหนึ่ง

  • Facebook ลด Reach อัตราไลค์แชร์ของบางเพจต่ำลง 400%
  • สื่อบางเจ้าส่ายหัวไม่เอาด้วยแล้ว หวังสร้างฐานผู้อ่านเองโดยไม่เล่นตามเกมของ Mark Zuckerberg 

เราจะเห็นว่า Facebook แทบจะเป็นนิยามของอินเทอร์เน็ตเลยทีเดียว และสำหรับคนบางคน Facebook อาจจะเป็นเว็บไซต์เดียวที่พวกเขารู้จัก นั่นหมายความว่า Landing Page อย่าง Yahoo หรือ Sanook ได้หายไปแล้ว กลายมาเป็นหน้า Feed ของ Facebook แทน Facebook มีโอกาสที่จะควบคุมสิ่งที่แสดงอยู่บนหน้า Feed ได้แทบจะ 100% และด้วยความเป็นเว็บ 3.0 ทำให้สิ่งที่แต่ละคนเห็นก็จะไม่เหมือนกันและแตกต่างกันออกไป สิ่งที่ Facebook เลือกที่จะทำในปีนี้และส่งผลกระทบต่อวงการสื่ออย่างมากนั่นคือ Facebook ลด Reach ของโพสจากแบรนด์หรือเพจ พูดง่าย ๆ ก็คือ อัลกอริทึมของ Facebook จะไม่ค่อยนำโพสจากเพจมาแสดงนั่นเอง ทั้งหมดนี้เกิดในชั่วข้ามคืน ในตอนที่ Facebook เริ่มใช้อัลกอริทึทใหม่นี้ในรายงานได้ระบุไว้ว่าสื่อบางรายได้เปิดเผยถึงอัตราการกดไลค์และแชร์ที่ลดลงไปกว่า 400%

Facebook ยังคงเป็นโซเชียลอับดับหนึ่ง ที่มา – Digital News Report

สิ่งที่ไม่ได้ส่งผลต่อแค่การทำให้บรรดาคนทำเพจต้องปวดหัว แต่นำไปสู่เรื่องราวในประเทศอย่างในประเทศเมียนมาร์ที่ Facebook นั้นแทบจะเท่ากับอินเทอร์เน็ต และเป็นสื่อเดียวที่รัฐบาลไม่สามารถควบคุมได้ การที่ผู้คนในเมียนมาร์เห็นโพสจากเว็บที่เป็นเว็บข่าว Independent ที่ไม่อวยรัฐบาลน้อยลงก็อาจจะส่งผลอะไรบางอย่างต่อแนวคิดและความตระหนักรู้ของประชาชนในประเทศได้

อาจจะทำนายได้ว่า Facebook พยายามแสดงข่าวน้อยลงและแสดงเนื้อหาที่เกี่ยวกับชีวิตและความบันเทิงมากขึ้น ส่วนข่าว ก็ให้ไปอ่านกันเองในแอพอย่าง Apple News หรือในแอพสำหรับอ่านข่าว Sarah Marshall บรรณาธิการ Condé Nast International ได้ออกมาทำนายว่าในปี 2018 นี้ Facebook จะพยายามลดการปรากฏของเว็บข่าวบนหน้า Feed อีก

จริง ๆ แล้วไม่ใช่แค่กับ Facebook แต่กับคนทำคอนเทนต์หลายเจ้าเริ่มมองว่าการทำสื่อลงบน Facebook, Snapchat หรือแม้กระทั่ง Apple News นั้นเหมือนกับการเล่นเกมที่ผลตอบแทนไม่ดีพอ พวกเขาเหล่านี้พยายามกลับมาสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อ่านด้วยตัวเอง แม้นั่นจะทำให้การรวมแหล่งเสพคอนเทนต์เข้าไว้ด้วยกันยากขึ้น แต่ก็เป็นท่าที่สำคัญในปี 2018 ท่ีคนทำคอนเทนต์ควรรู้ไว้ ว่าการมีเว็บไซต์ แอพ หรือช่องทางของตัวเองในการเข้าถึงผู้เสพเป็นเรื่องที่แทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้

วิดีโอยังเป็นที่หนึ่งแต่มีโอกาสที่จะถดถอย 

  • เมื่อคนทำวิดีโอเริ่มรู้สึกว่าการทำวิดีโอเป็นเรื่องยาก และพยายามลดการทำวิดีโอลง เอาเวลาไปเขียนดีกว่า
  • Facebook อยากเป็น Netflix 

ในปี 2016 – 2017 ที่ผ่านมาคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเราเห็นวิดีโอสั้น ๆ บนโลกโซเชียลกันเยอะมาก หลังจากที่ Facebook ทำการเล่นวิดีโออัตโนมัติ ทำให้การทำวิดีโอสรุปเรื่องราวต่าง ๆ พร้อมคำบรรยายในคลิปกลายมาเป็นที่นิยมของสำนักข่าวต่าง ๆ และบรรดาคนทำคอนเทนต์ รวมไปถึงในช่วงหลังที่วิดีโอแนวตั้งเริ่มมาแรงเมื่อ ซึ่งปกติเราจะเห็นกันใน Snapchat แต่ล่าสุด Facebook ก็เปิดให้เพจสามารถลง Story ได้แล้ว บรรดาเพจต่าง ๆ เริ่มทำ Story กันมากขึ้น ตามแนวโน้มที่เรารู้กันอยู่แล้วว่าคนเสพคอนเทนต์กันบนโทรศัพท์มือถือเป็นอันดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตามแม้วิดีโอโซเชียลจะประสบความสำเร็จแต่ Facebook มองเห็นว่าความสำเร็จที่แท้จริงคือการทำให้ Facebook มีวิดีโอเหมือนกับ YouTube หรือ Netflix กล่าวคือ Facebook จะพยายามมาเป็นสื่อซะเอง และกำลังจะเปิดตัวสื่อของตัวเองที่ชื่อว่า Facebook Watch ในปี 2018 นี้ โดยมีสื่อใหญ่อย่าง BuzzFeed, Mashable, Attn และ Vox Media เป็นผู้สร้างคอนเทนต์

ในรายงานระบุว่าสื่อหลายเจ้าเริ่มรู้สึกว่าการทำวิดีโอแบบนี้มีต้นทุนที่สูง ช้า และขยับขยายต่อยาก แม้จะดีต่อการเพิ่ม Reach แต่ก็ไม่ได้ทำกำไรให้กับสื่อมากขนาดนั้น หลายสื่อจึงอาจต้องตัดสินใจว่าพวกเขาจะยังอยากทำวิดีโอสั้น ๆ แบบนี้อยู่หรือไม่ ก็ต้องรอดูกันว่าในปี 2018 เทรนการทำวิดีโอโซเชียลจะลดลงจริงหรือไม่

ข่าวปลอมยังเป็นเรื่องใหญ่

  • คำว่า Fake News กลายเป็นคำแห่งปีของ Collins dictionary
  • ทั้ง Google และ Facebook ต่างออกท่ามาสู้ข่าวปลอม และข่าวปลอมมีอิทธิพลสูงกว่าที่เราคิด

ข่าวปลอมหรือที่เรียกว่า Fake News นั้นยังคงเป็นปัญหาเสมอสำหรับบนโลกออนไลน์และแน่นอนว่าจะยังคงสร้างปัญหาไปอีกในปีนี้ คำว่า Fake News ถูกจัดให้เป็นคำแห่งปีใน Collins dictionary สำหรับปี 2017 ไปแล้ว สำหรับนิยามของข่าวปลอมที่ทาง Digital News Report ได้ระบุไว้ได้ทำการจำแนกข่าวปลอมเป็น 5 ประเภทด้วยกัน (ลองนึกภาพตามว่าเราเคยกันบ้างไหม) ได้แก่  ข่าวคุณภาพต่ำ ผิดพลาด รายงานไม่ตรงกับความเป็นจริง, ข่าวชวนเชื่อ, โฆษณาที่ไม่เป็นประโยชน์ และ อีกสองอันที่ไม่เชิงเป็นข่าวได้แก่ ข่าวตลกล้อเลียน และ บทความที่แอบแฝงประโยชน์ต่าง ๆ

ข่าวปลอมในนิยามของ Digital News Report

สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นจาก Fake News นี้ก็มีตั้งแต่สร้างความรำคาญ จนไปถึงกับสามารถมีผลต่อแนวคิดทางการเมืองของผู้คนได้เลย อ้างอิงจากรายงานที่บอกว่าชาวอเมริกันกว่า 120 ล้านคน มีโอกาสที่จะได้เห็นข่าวและข้อความที่โพสมาจากทางฝั่งรัสเซียในกรณีการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ผ่านมา นั่นหมายความว่าการแทรกแทรงระหว่างประเทศจำนวนมากเกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ ซึ่งอาจจะสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อมุมมองทางการเมืองภายในประเทศ หรือแย่ไปกว่านั้นอาจถูกใช้ในการทำโฆษณาชวนเชื่อหรือชักนำไปสู่การตัดสินใจอะไรบางอย่างได้

ความตึงเครียดทางการเมืองได้กลายเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ Social Media ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ในฝั่งยุโรป หรือประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างเมียนมาร์ ที่ปรากฏเนื้อหาโฆษณาชวนเชื่อบนโลกออนไลน์ แน่นอนว่า Mark Zuckerberg ไม่ต้องการให้ Facebook กลายเป็นเครื่องมือสำหรับการชี้นำทางการเมือง หรือบริษัทต่าง ๆ ก็ย่อมคิดแบบนั้นเช่นกัน เราจะเห็น Facebook เริ่มทำการพัฒนาอัลกอริทึมเพื่อตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข่าว ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2017 ทาง Google เองก็เช่นกัน Google พัฒนา Fact Check ที่จะตรวจสอบผลการค้นหาจากเว็บไซต์ต่าง ๆ แล้วบอกเราว่าข้อมูลเหล่านี้เชื่อถือได้หรือเปล่า

เรื่องดีต่อใจใครก็ชอบ ส่วนเมื่อต้องการความช่วยเหลือโซเชียลก็ทำหน้าที่ของมันได้อย่างดี 

  • เรื่องราวอันดับหนึ่งบน Twitter ในปี 2017 เป็นเรื่องดี อย่าง #MeToo เป็นการรวมพลังต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศ
  • ส่วนอันดับที่สอง เป็นการช่วยเหลือกันในยามวิกฤตในเหตุไฟไหม้อาคารที่กรุงลอนดอน 

Social Network อย่าง Twitter ด้วยความ Real-time ของมันทำให้เราเห็นการสร้างปราฏการณ์ต่าง ๆ บนทวิตเตอร์ แม้ว่าคนบางส่วนจะใช้เครื่องมือนี้ไปในทางที่ผิดก็ตาม เรื่องราวอันดับหนึ่งบนทวิตเตอร์ยังคงเป็นเรื่องดี ๆ กับ #MeToo ซึ่งเป็นเหตุการณ์ไวรัลบนโลกอินเทอร์เน็ต เกิดจากที่ Harvey Weinstein เศรษฐีนักสร้างหนัง คุกคามทางเพศต่อดาราเป็นเวลานานกว่า 30 ปี แต่ก็รอดความผิดไปได้ ทำให้นักแสดงสาว Alyssa Milano ออกมาสร้างปรากฏการณ์ด้วยการทวีตใส่ Hashtag #MeToo เล่าเรื่องราวที่เธอถูกกระทำ และชวนให้ทุกคนบอกเล่าเรื่องราวที่ครั้งหนึ่งตัวเองเคยเป็นผู้ถูกกระทำ ทำให้กระแสนี้โด่งดังไปทั่วโลกทั้งทาง Twitter และ Facebook ตามมาด้วย #WithYou และ #HowIWillChange ที่ทุกคนมาร่วมสร้างความตระหนักว่าการคุกคามและการล่วงละเมิดทางเพศ เป็นเรื่องสำคัญและไม่ควรมองข้าม

ส่วนปรากฏการณ์อันดับสองได้แก่เมื่อครั้งเกิดเหตุไฟไหมที่อาคาร Grenfell ในกรุงลอนดอน บนทวิตเตอร์ก็ได้มีการสร้าง Hashtag #GrenfellTower โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือต่อบรรดาเหยื่อของเหตุการณ์ในครั้งนั้น ด้วยความช่วยเหลือด้านที่พัก อาหาร และเสื้อผ้า รวมถึงการให้กำลังใจเหยื่อและแสดงความเสียใจต่อผู้เสียชีวิตทั้ง 71 นับเป็นอีกเรื่องราวดี ๆ ขอการใช้โซเชียลมาช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์

ไม่ใช่แค่ข่าว แต่ต้องเป็นข่าวที่สนุก

  • เรื่องขำ ติดตลกมีโอกาสถูกพูดถึงมากขึ้น
  • Meme ได้รับความนิยมสูงมาก

แม้ว่าจะมีข่าวดราม่าเข้ามาไม่เว้นแต่ละวัน แต่ผลปรากฏว่าสิ่งที่คนไลค์และแชร์บนโลกออนไลน์กลายเป็นเรื่องราวสนุก ๆ หรือเรื่องตลก หลายคนอาจจะจำคลิปที่ผู้เชี่ยวชาญด้านเกาหลีเหนือกำลังให้สัมภาษณ์กับ CNN โดยที่ลูกของเขาทั้ง 2 คนได้เปิดประตูเข้ามาในห้อง ทำให้ภรรยาของเขาต้องรีบขึ้นมาลากตัวลูก ๆ ออกไป หรือการที่มีรถเมล์มาบังการระเบิดทำลาย Gorgia Dome ที่สร้างเสียงหัวเราะให้กับทุกคน

เรื่องของ Meme ก็เช่นกัน ในปี 2017 เราเห็น Meme ต่าง ๆ บนโลกออนไลน์เยอะมาก เริ่มต้นตั้งแต่ท่าโรยเกลือ การนำเหตุการณ์ Overbooking ของ United Airline มาล้อเป็นเรื่องตลก ไส้กรอก Snapchat แม้กระทั่งบริษัทใหญ่ ๆ ยังต้องมีการทำ Meme เพื่อใช้โปรโมตทางการตลาด ตั้งแต่ภาพยนตร์ ร้านอาหาร จนถึงการบริการต่าง ๆ

คนจะยอมจ่ายเงินเพื่ออ่านมากขึ้น 

  • โมเดลธุรกิจแบบการสมัครรับข้อมูล (Subscription) และ Pay Wall จะกลายเป็นรายได้หลักของสื่อ
  •  Independent news อย่าง The Guardian ได้รับรายได้จากผู้อ่านโดยตรงมากกว่าโฆษณา 

ในช่วงปีที่ผ่านมาและในปีนี้เป็นที่ชัดเจนว่าการใช้ระบบจ่ายเงินเพื่อสมัครรับข้อมูล หรือ Subscription กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งและกลายเป็นรายได้หลักของ Publisher นำหน้าการลงโฆษณาแบบเดิม ๆ ไปแล้ว ในรายงานมีการบอกว่าบรรดา Publisher กว่า 62% ในการสำรวจ มีแผนที่จะลดการแปะโฆษณาบนหน้าเว็บ และเปลี่ยนจาก reach + ads มาเป็น engagement + subscriptions แทน

การมาใช้ Business Model แบบ subscriptions จะช่วยให้ Publisher ใส่ใจกับการสร้างเนื้อหามากขึ้นไม่เพียงแค่นั้น ยังต้องใส่ใจว่ากลุ่มเป้าหมายคือใคร อยากอ่านอะไร และคอนเทนต์ของพวกเขาสามารถสนองความต้องการของผู้อ่านได้หรือไม่

คนทำคอนเทนต์มองว่ารายได้จากผู้อ่านโดยตรงมีความสำคัญอันดับหนึ่ง ที่มา – Digital News Report

แม้จะมี Business Model เกี่ยวกับสื่อมากมาย แต่ในรางานได้มีการแบ่งแหล่งรายได้มาจาก 2 ส่วน ได้แก่ จากแบรนด์และจากผู้อ่านเอง สำหรับรายได้จากตัวผู้อ่านก็ได้แก่ Subscription คือการสมัครรับข้อมูล, Membership การเสียค่าสมาชิก, Donation การบริจาค และ Micropayment ที่จะอธิบายในย่อหน้าถัดไป

The Guardian เว็บข่าวอิสระจากประเทศอังกฤษเปิดเผยว่าในปีนี้พวกเขามีรายได้เข้ามาจากผู้อ่านโดยตรงมากกว่าจากบรรดาแบรนด์ที่ทำการโฆษณาเสียอีก รวมถึงสื่อใหญ่อย่าง New York Times และ Washington Post ก็มีแนวโน้มที่จะมีคนจ่ายเงินเพื่ออ่านมากขึ้น

หน้าเว็บ The Guardian ที่ขอสนับสนุนจากผู้อ่าน

นอกจากการทำ Subscription แล้ว ยังมีอีกหนึ่ง Model ที่น่าสนใจและจะมาแรงก็คือ Pay Wall คือผู้อ่านสามารถอ่านเนื้อหาได้ส่วนหนึ่งเท่านั้นหากต้องการอ่านลึกไปกว่านี้จำเป็นต้องสมัครสมาชิกหรือจ่ายเงิน ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้ได้ดีมาก ๆ ส่วนอีก Model ก็คือ Micro-payment ซึ่งก็คือการจ่ายเงินจริงตามระยะเวลาหรือตามสัดส่วนที่เราใช้งานไป ลองนึกภาพเราจ่ายค่าจอดรถเป็นรายวินาที กับจ่ายค่าจอดรถเป็นรายชั่วโมง (เศษของชั่วโมงนับเป็น 1 ชั่วโมง ประมาณนี้) เราจะพบว่าการจ่ายค่าจอดรถเป็นวินาทีทำให้เราเสียเงินน้อยกว่า อาจจะฟังดูไม่มากแต่ถ้ารวมกันหลาย ๆ ครั้งจะพบว่าอาจจะทำให้เราประหยัดเงินไปได้ครึ่งต่อครึ่งเลยทีเดียว การคิดค่าบริการแบบนี้เป็นที่นิยมในธุรกิจเช่าจักรยานในจีน และมีการเริ่มนำมาใช้กับธุรกิจสื่อ ซึ่งจะทำให้คนรู้สึกว่า “ไม่แพงเลย” ทางฝั่ง Publisher สามารถดึงดูดผู้ชมได้มากขึ้นในขณะเดียวกันก็มีรายได้จากการเก็บเล็กผสมน้อยนี้ด้วย

อิทธิพลจากเทคโนโลยี

  • เว็บพยายามเก็บ Data ให้มากที่สุด AI เข้ามามีบทบาทในการวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือ
  • ลำโพงอัจฉริยะเปลี่ยนพฤติกรรมผู้อ่าน และ AR, VR มาแรงกว่าที่คิด

อีกหนึ่งเหตุผลที่สื่อต่าง ๆ พยายามให้เกิดการสมัครสามาชิกคือพวกเขาจะได้ข้อมูลมาใช้ในการทำการวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ใช้งานตลอดจนความต้องการของผู้อ่านในอนาคต เป็นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีปัจจุบันมาใช้ในการตัดสินใจต่าง ๆ ทางธุรกิจ ที่อ้างอิงจากข้อมูลและความเป็นไปจริง ๆ ของตลาด (เรียกว่า Data Driven Decision)

ในส่วนของเทคโนโลยี AI ที่มาแรงมากในปีนี้ที่ไม่ได้หยุดอยู่แค่ในวงการไอทีอีกต่อไป แต่ล่าสุด NASA เพิ่งประกาศว่าสามารถค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะด้วยการใช้ AI สำเร็จ ในแวดวงของสื่อการนำ AI มาใช้ก็กลายเป็น Trend ใหม่เช่นกัน การนำ AI มาใช้นี้ไม่ใช่ว่าเอา AI มาเขียนข่าว แต่เป็นการใช้ในการเลือกนำเสนอข่าวและทำการวิเคราะห์ต่าง ๆ AI จะเลือกข่าวที่คนคนนั้นชอบอ่านและเลือกการสำเสนอให้ถูกที่ ถูกเวลา ไม่ใช่เพียงเท่านั้นแต่จะเรียนรู้พฤติกรรมการเสพข่าวของคนแต่ละคนและปรับปรุงตัวเองเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึง Content ของผู้อ่านให้มากขึ้น ซึ่งจะซับซ้อนกว่าอัลกอริทึมของเว็บไซต์ปกติ ซึ่งก็มาจากการเก็บข้อมูลและตัดสินใจแบบ Data Driven Decision ที่เล่าไปในข้างต้น

ลำโพงอัจฉริยะ HomePod ที่มา – Apple

ในต่างประเทศโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา Smart Speaker หรือลำโพงอัจฉริยะเริ่มกลายเป็นเครื่องใช้สามัญในบ้าน บรรดาผู้ผลิตต่าง ๆ ตั้งแต่ Amazon, Google จนไปถึง Apple ก็กำลังทำ “สงครามห้องนั่งเล่น” ช่วงชิงเวลาทุกวินาทีในการพักผ่อนของเราให้กลายเป็นเงินของบริษัทเหล่านี้ ในรายงานมีการระบุว่าการใช้งานหลักของผู้ใช้งาน Smart Speaker ยังคงเป็นการฟังเพลง ที่มีมากถึง 68% รองลงมาก็จะเป็นถามสภาพอากาศ และถามคำถามทั่วไป กับ Alexa, Google หรือ Siri แต่สิ่งที่ทำให้บรรดา Publisher ต้องปรับตัวก็คือ คนกว่า 45% ใช้ Smart Speaker เป็นช่องทางในการเสพข่าวสารต่าง ๆ ผ่านทาง “เสียงเท่านั้น”  ซึ่งก็จะไปตรงกับแบบสอบถามที่เผยให้เราเห็นว่า คนฟังข่าวและ Podcast ผ่านทาง Smart Speaker เป็นอันดับที่ 4 รองจาก วิดีโอสั้นบนโซเชียล, คลิปวิดีโอ, และการ Live

คนทำคอนเทนต์พยายามมาโฟกัสที่การทำสื่อประเภทเสียงมากขึ้น ที่มา – Digital News Report

อีกหนึ่งเรื่องที่น่าสนใจก็คือเทคโนโลยี VR หรือ Visual Reality ก็ติดโผเข้ามาในคอนเทนต์ยอดนิยมเหล่านี้ด้วย ด้วยเปอร์เซ็นการบริโภคถึง 25% สืบเนื่องมาจากการที่ Apple ปล่อย API ที่ชื่อว่า ARKit และ Google ปล่อย API ที่ชื่อว่า ARCore ทำให้นักพัฒนาสามารถนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ในแอพของตัวเองได้ เด่นชัดที่สุดก็น่าจะเป็น IKEA ที่มีแอพช่วยให้เราเลือกเฟอร์นิเจอร์มาตกแต่งบ้านได้แบบสมจริงราวกับกำลังเล่นเกม The Sims ที่มีฉากเป็นบ้านของตัวเองจริง ๆ

แอพ Quartz แสดงยานอวกาศแคสสินีที่ไปสำรวจดาวเสาร์แบบ AR ที่มา – Quartz

AR และ VR ยังถูกนำไปใช้ในการสร้างประสบการณ์การเสพคอนเทนต์ในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่นการดูดาวด้วยแอพดูดาวที่ใช้เทคโนโลยี AR มาพล็อตตำแหน่งดาวบนท้องฟ้าจริง ๆ หรือการเปรียบเทียบขนาดของวัตถุต่าง ๆ ด้วยการนำมันมาตั้งในโลกเสมือน AR ของแอพ Quartz ที่เราสามารถนำยานอวกาศแคสสสินี หรือรถยนต์ Tesla มาเปรียบเทียบขนาดกันผ่านจอมือถือได้

สุดท้ายแล้วเราเองที่ต้องปรับตัว 

การจะอยู่รอดในโลกที่มีทั้งบรรดาผู้เล่นรายใหญ่อย่างบริษัทที่แทบจะคุม Trend ความเป็นไปของโลกนั้นแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายนัก และไม่ว่าเราจะเป็นคนทำคอนเทนต์รูปแบบไหนตั้งแต่ Blogger ไปจนถึงบริษัทสื่อขนาดใหญ่ การที่จะอยู่รอดได้นอกจากทักษะในการปรับตัวเข้ากับปัจจุบันแล้ว ยังต้องสามารถวิเคราะห์และปรับตัวตามแนวโน้มในอนาคต ที่แทบจะต้องอัพเดทกันปีต่อปี หรือเดือนต่อเดือนหรือแม้กระทั่งวันต่อวัน คนทำคอนเทนต์ทุกคนอาจจะต้องลืมว่าเราจะทำอะไรแล้วมาโฟกัสที่เราจะเข้าถึงผู้อ่านอย่างไรมากขึ้น เพราะสุดท้ายแล้วไม่ว่าจะดำเนินในโมเดลธุรกิจแบบใดก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างคนทำคอนเทนต์และผู้เสพคอนเทนต์ถ้าแน่นหนามากพอแม้ว่า Trend จะเปลี่ยนไปมากน้อยเท่าได้ แต่ภาพของความสัมพันธ์ระหว่างผู้สร้างและผู้เสพที่ชัดเจนจะช่วยให้เราก้าวผ่านในแต่ละยุคไปได้

ที่มา 

Digital News Report

เรียบเรียงโดย ทีมงาน RAiNMaker

Copyright © 2025 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save