เจาะลึก 3 เทรนด์ผู้บริโภคยุคดิจิทัลที่นักการตลาดควรรู้กับ Nielsen Media Talk

Nielsen Media Talk ได้จัดงานสัมมนาออนไลน์ ในหัวข้อ “Digital Consumer: Insights, Trends and Challenges” ไปเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านาม พร้อมพาเจาะลึก 3 พฤติกรรมหลักของผู้บริโภคยุคดิจิทัลในประเทศไทยที่นักการตลาดควรรู้

ยุครุ่งเรืองของ Online Shopping

จากการสำรวจพบว่าคนไทยจำนวน 1 ใน 3 หันไปชอปปิงออนไลน์มากขึ้น โดยคิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นจากปี 2019 ถึง 190% ซึ่งค่าเฉลี่ยในการใช้จ่ายแต่ละครั้งอยู่ที่ 500-1,000 บาท และมีการใช้จ่ายตกเดือนละ 2-3 ครั้ง

รวมถึงคนไทยในปัจจุบันยังหันไปชำระเงินด้วยวิธีการเก็บเงินปลายทาง หรือการใช้ช่องทางการชำระเงินแบบออนไลน์ทั้ง Mobile Banking และ Digital Wallet

คนไทยซื้ออะไรผ่านออนไลน์?

ในด้านชนิดของผลิตภัณฑ์ที่คนไทยซื้อผ่านออนไลน์ส่วนมากเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับแฟชัน ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า รองเท้า หรือเครื่องประดับ ที่เติบโตจากปี 2019 ถึง 206% ตามมาด้วยผลิตภัณฑ์ประเภทของใช้ในบ้าน เครื่องสำอาง และเครื่องใช้ไฟฟ้า

นอกจากนี้ แอปพลิเคชัน Food-delivery และผลิตภัณฑ์สุขภาพยังเติบโตมากขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด โดย Food-delivery มีการเติบโตจากช่วงโควิดระบาดถึง 2,683% และผลิตภัณฑ์สุขภาพเติบโตมากขึ้นถึง 798% เลยทีเดียว

แพลตฟอร์มชอปปิงออนไลน์ยอดฮิต

สำหรับช่องทางการชอปปิงออนไลน์ที่เป็นที่นิยมมากที่สุดยังคงเป็น Marketplace หรือแพลตฟอร์ม E-commerce อย่าง Shopee และ Lazada รองลงมาคือโซเชียลมีเดียทั้ง Facebook Marketplace, Instagram Shopping และ LINE SHOPPING และนอกเหนือจากนี้คือแอปพลิเคชันของร้านค้า เช่น Watson, Central Onine หรือ Lotus’s เป็นต้น

โฆษณาถูกจุด กระตุ้นยอดขาย

38% ของคนไทยซื้อสินค้าทันทีหลังจากเห็นโฆษณาในอินเทอร์เน็ต ในขณะเดียวกันการโฆษณาผ่านการใช้อินฟลูเอนเซอร์มีการเติบโตขึ้น โดยพบว่า 14% มีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าตามอินฟลูเอนเซอร์

โดยช่องทางการโฆษณาที่ผู้บริโภคเชื่อถือมากที่สุดยังคงเป็นเว็บไซต์ของแบรนด์โดยตรง ซึ่งผู้บริโภคให้ความเชื่อมั่นถึง 33% รองลงมาคือการโฆษณาผ่านทีวี และการเป็นสปอนเซอร์ คิดเป็น 28% และ 25% ตามลำดับ

ต่อด้วยการบอกต่อปากต่อปากที่คนไทยให้ความเชื่อถึง 23% และการแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางออนไลน์ถึง 21% ด้วยกัน

ในขณะที่ผู้บริโภคกว่า 44% ไม่เชื่อถือการโฆษณาผ่าน SMS เนื่องจากมีความกังวลว่าข้อความดังกล่าวจะเป็นสแปม หรือข้อความหลอกลวง

ธีมโฆษณาแบบไหนโดนใจผู้บริโภค?

นอกจากนี้ ธีมของการโฆษณายังมีผลต่อผู้บริโภคอีกด้วย โดยธีมที่ถูกใจคนไทยมากที่สุดคือ การอิงชีวิตจริง (Real-life situations) โดยเฉพาะชาวมิลเลนเนียลที่ถูกใจโฆษณาประเภทนี้เป็นพิเศษ

ส่วนโฆษณาธีมสร้างแรงจูงใจ (Aspirational) จะถูกใจชาว GenX ตามมาด้วยโฆษณาธีมตลกขบขันที่ชาว Boomers ชอบเป็นพิเศษ และปิดท้ายด้วยโฆษณาธีมเซ็กซี่ที่ถึงแม้จะได้รับความนิยมในกลุ่มมิลเลนเนียลมากที่สุด แต่ก็ยังถือว่าได้รับความนิยมน้อยสุดในทุกช่วงวัยอยู่ดี

ความท้าทายในโลก Cookieless

ผู้บริโภคในปัจจุบันให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์มากขึ้น โดย 19% เต็มใจให้ทุกแอปและเว็บไซต์สามารถติดตามการใช้งานได้ 57% อนุญาตให้บางแอปติดตามได้บ้าง และ 20% ที่ไม่อนุญาตให้แอปหรือเว็บไซต์ติดตามข้อมูลการใช้งานใด ๆ เลย

จากผลการรายงานจะเห็นได้ว่าผู้บริโภคส่วนหนึ่งยินดีให้ข้อมูลกับแบรนด์ นั่นหมายความว่า Personalized Marketing เป็นสิ่งสำคัญในการทำตลาดปัจจุบัน เนื่องจากผู้บริโภคยังต้องการความรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนพิเศษ

เพราะฉะนั้นนักการตลาดต้องสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคแบบ Personalize ที่เข้าใจและรู้ใจผู้บริโภคได้ภายใต้ข้อมูลที่มีอยู่ และต้องคำนึงถึงความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค รวมถึงความปลอดภัยในการเก็บและใช้ข้อมูลต่าง ๆ ควบคู่ไปด้วย

 

ขอบคุณข้อมูลจาก Nielsen

Copyright © 2025 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save