การเขียนเป็นสิ่งทรงพลัง ไม่เพียงแต่จะทำให้ผู้อ่านสามารถคล้อยตาม หรือเปลี่ยนความเชื่อได้เท่านั้น แต่อาจส่งผลต่อพฤติกรรมและชีวิตได้ตลอดไป ไม่ว่าจะเครียดมากแค่ไหน โกรธแค้น หรือเบิกบานใจ การระบายความเครียดผ่านการเขียนช่วยชีวิตเราทุกคนไว้ได้เสมอ
แต่สำหรับผู้ที่อยู่ในสายงานการเขียน เชื่อว่าคงมีหลายครั้งที่การเขียนเป็นสิ่งที่สร้างความเครียดให้ เพราะไม่รู้ว่าเขียนคอนเทนต์อย่างไรให้ออกมาปัง แม้จะรู้แนวทางและองค์ประกอบ แต่เรื่องภาษาและลีลาในการเขียนเป็นเรื่องที่ลอกกันไม่ได้! วันนี้ทีมงาน RAiNMaker จึงมีทริกในการยกระดับฝีมือการเขียน เพื่อขยายขีดความสามารถมาฝากกัน
เรียนรู้สิ่งใหม่ในทุกๆ วัน
พรสวรรค์ในการเขียนไม่ได้มีมาตั้งแต่เกิด แต่สั่งสมผ่านการเรียนรู้ ตั้งแต่หนังสือสำหรับเด็ก นวนิยาย วรรณมแปล หรือกระทั่งประเภท Non-fiction ต่างๆ ที่เรารับและกลั่นกรองออกมาให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตัวเองในทุกวันนี้
แต่ความรู้ในสมัยนี้ ไม่จำเป็นต้องมาจากหนังสือเสมอไป ยังสามารถมาในรูปแบบแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียได้ ไม่ว่าจะเป็น YouTube พอดแคสต์ หรือแม้แต่การถกเถียงแลกเปลี่ยนประเด็นจากคลับเฮาส์ก็ตาม เพียงแค่เปิดฟังระหว่างทำงานบ้าน ดูเพื่อคลายเครียด ในช่วงเวลาเล็กๆ ของวัน ขอแค่ไม่หยุดเรียนรู้สิ่งใหม่ก็สามารถพัฒนาทักษะการเขียนได้มากมายแล้ว
ขบคิดและไตร่ตรองดั่งโยคี
ความรู้และการหาข้อมูลบางครั้งก็มาในระบบเวลาเชิงเส้น ยิ่งเรื่องที่เรียนรู้มีความซับซ้อนมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องทุ่มเทเวลาให้มาก แต่ข่าวดีก็คือ หากทำบ่อยๆ ระยะเวลาที่ใช้ในการเรียนรู้และเข้าใจจะสั้นลง คุณจะพบว่าสามารถทำความเข้าใจกับเรื่องใหม่ได้ง่ายขึ้น
จิดใจคนทำงานเป็นสองโหมด นั่นก็คือหมวดการเก็บข้อมูล และการวิเคราะห์แบบพาสซีฟ แม้ว่าคุณจะหนีไปทำอย่างอื่นแล้ว แต่การวิเคราะห์เกี่ยวกับเรื่องนั้นจะยังคงทำงานอยู่ และเมื่อถึงการใช้เวลาเพลิดเพลินไปกับการพักผ่อนอยู่พักหนึ่ง คุณก็จะพบกับช่วงเวลา “ยูเรก้า!” หรือการผุดไอเดียบรรเจิด ซึ่งก็ไม่ได้มาจากโชคช่วย แต่เป็นผลจากการไตร่ตรองของสมอง ผสานกับประสบการณ์เก่าๆ ที่เก็บไว้นั่นเอง
ดังนั้นหากจะเขียนงานที่มีความยากหรือซับซ้อน ลองเริ่มต้นเขียนแล้วทิ้งไว้ซักพัก แล้วค่อยกลับมาเขียนต่อ อาจทำให้เห็นไอเดียใหม่ๆ หรือการเพิ่มประเด็นที่น่าสนใจได้ไม่ยาก
ปิดโหมด SEO เปิดโหมดจินตนาการบ้าง
เมื่ออินเตอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทสำคัญกับงานเขียนบนโลกออนไลน์ตลอดหลายปีที่ผ่านมา คำว่า SEO จึงถือกำเนิดขึ้น และส่งอิทธิพลกับงานเขียนอยู่ไม่น้อย เราเริ่มเขียนไปในแนวให้ตรงกับเสิร์ชเอนจิน (ที่ส่วนใหญ่เกิดขึ้นใน Google) มากกว่าเขียนเพื่อความสวยงามของคำ เพราะมันมีผลทางการตลาด ซึ่งการเขียนแบบนั้น ในไม่ช้าจะทำวงการการเขียนจะเริ่มมีคำซ้ำออกมา อาจจะส่งผลดีที่งานของคุณได้อยู่อันดับต้นของการค้นหา แต่เมื่อกดเข้าไปอ่านก็พบกับคำซ้ำเต็มไปหมด และค่อนข้างขัดมู้ดอยู่บ้าง จริงไหม
แน่นอนว่าการออกมาบอกแบบนี้ต้องง่ายกว่าการทำจริงๆ อยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นไปได้ก็อาจจะลงสัดส่วนของการเขียนแบบ SEO ลง และลองเพิ่มการเขียนตามที่รู้สึกดู อาจจะทำให้ผลงานมีความสวยงาม และสร้างความประทับใจให้กับผู้อ่านจนติดอันดับได้โดยไม่ต้องใช้ SEO เช่นเดียวกัน
เมื่อเราอยู่ในโลกดิจิตัลที่ไร้ขอบเขต การหาความรู้ใหม่ๆ ดูจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการยกระดับทักษะในการเขียน เรียนรู้ให้มาก ตั้งคำถาม และยอมรับในจินตนาการของตัวเอง แม้ว่าจะมีเรื่องเป้าหมายทางการตลาดมาเกี่ยวข้อง แต่ก็ต้องไม่ยอมอ่อนน้อมมากเกินไป จนปล่อยให้ครอบงำฝีมือในการเขียนของเราได้