4 แพลตฟอร์ม MarTech ที่มาช่วยชีวิตทั้งอินฟลูเอนเซอร์และแบรนด์

หลังการระบาดของ COVID-19 ทำให้หลายธุรกิจต้องปรับตัวสู่โลกออนไลน์มากขึ้น ซึ่งพอกลายมาเป็นการทำธุรกิจบนออนไลน์แล้ว สิ่งสำคัญที่แบรนด์จะขาดไม่ได้เลยคือเรื่องของ Data และการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างตรงจุด ดังนั้นแบรนด์จึงต้องการตัวช่วยในการวิเคราะห์กลุ่มลูกค้าเพื่อการวางกลยุทธ์อย่างมีประสิทธิภาพ และสิ่งนี้ทำให้ MarTech เข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้น 

“MarTech” ถือว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เกิดจากการนำคำสองคำอย่าง “Marketing” และ “Technology” มารวมกัน และมันหมายถึง

การทำ Digital Marketing รูปแบบใหม่ที่มีเทคโนโลยีใด ๆ ก็ตาม เช่น แพลตฟอร์ม ซอฟต์แวร์ โปรแกรม เครื่องมือต่าง ๆ เข้ามาเป็นตัวช่วย หรือเป็นส่วนหนึ่งในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ทางการตลาด ไม่ว่าจะเป็นการช่วยในการจัดเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล การติดตามข้อมูลของลูกค้าหรือข้อมูลของคู่แข่ง ไปจนถึงการปิดการขายได้ และ ข้อมูลจาก เว็บไซต์ Chiefmartech.com ได้ระบุว่าจากเดิมที่ MarTech มีเครื่องมืออยู่ราว ๆ 150 รายการ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จนมาถึงตอนนี้ในปี 2023 ที่มีเครื่องมือกว่า 11,038 รายการ ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 11% จากปี 2022 ที่มี 9,932 รายการ ทั่วโลก

(อ้างอิงจาก https://www.insightera.co.th/martech-landscape-2023/)

ซึ่งการนำข้อมูลมาผสานกับเทคโนโลยีและใช้งานให้เกิดกลยุทธ์สูงสุดต่อการทำงานของแบรนด์ นี้ก็เป็นเรื่องที่นักการตลาดต้องวางแผนให้ชัดและปรับใช้งานให้เหมาะสม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อธุรกิจนั่นเอง ซึ่ง MarTech นั้นจะมาช่วยเรื่องการรักษาลูกค้า และสร้างประสบการณ์ในการจับจ่ายหรือรับบริการ 

โดยหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจใช้สินค้าหรือบริการของแบรนด์ก็คือ การเห็นการใช้งานสินค้าหรือบริการนั้นผ่าน อินฟลูเอนเซอร์ หรือสื่อต่าง ๆ เพราะก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การรีวิวการใช้สินค้าผ่านสื่อทางช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ของ อินฟลูเอนเซอร์ นั้นมีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคเป็นอย่างมาก 

วันนี้ RAiNMaker จึงรวบรวม 4 แพลตฟอร์ม MarTech ที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจหรือแบรนด์ กับ เหล่าอินฟลูเอนเซอร์ ให้ทั้งสองฝ่ายเจอสิ่งที่ใช่ได้แบบสะดวก รวดเร็ว และได้ผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม พร้อมเข้ามาช่วยจัดการข้อมูลต่าง ๆ เพื่อเพิ่มยอดขายในธุรกิจ

โดยจะมีแพลตฟอร์มอะไรบ้างนั้น  ไปดูกันเลย…💨💨💨

 

Pickle

แพลตฟอร์มหน้าตาคล้าย Dating app ที่มาช่วยให้ อินฟลูเอนเซอร์ และ แบรนด์จับมือเข้าสู่ประตูวิวาห์ไปพร้อมกัน 💍

อีกแพลตฟอร์มหนึ่งที่มาช่วยอำนวยความสะดวกในการพบเจอกันตรงกลางของแบรนด์และอินฟลูเอนเซอร์โดยแพลตฟอร์มนี้จะเน้นให้แบรนด์แมทช์กับอินฟลูเอนเซอร์ที่คุ้นเคยกันอยู่แล้วให้ลึกซึ้งขึ้น แทนที่จะต้องหาคนใหม่ ๆ ตลอดเวลา

และมีการแบ่งการใช้งานเป็น 2 ส่วนคือ  สำหรับอินฟลูเอนเซอร์และสำหรับแบรนด์โดยอินฟลูเอนเซอร์สามารถเลือกแบรนด์ที่สนใจได้อย่างอิสระ ส่วนแบรนด์ก็สามารถเลือก อินฟลูเอนเซอร์ ที่มีผู้ติดตามตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ทำให้เหล่าอินฟลูเอนเซอร์สามารถสร้างคอนเทนต์ออกมาตอบโจทย์เป็นธรรมชาติและเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง  

นอกจากนี้ Pickle ยังเป็นเอ็กซ์คลูซีฟแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อกับ Instagram ซึ่งครอบคลุมทั้ง Instagram Stories และ Instagram Feed ที่เรียกได้ว่าเหมาะสำหรับการทำ อินฟลูเอนเซอร์ Marketing แบบครบวงจรสุด ๆ 

โดย Pickle ได้มีการแบ่งฟังก์ชันในการทำงานด้วยเครื่องมือสนับสนุนที่ครบครัน ดังนี้

  • “อินฟลูเอนเซอร์ Analysis”:  วิเคราะห์ข้อมูลอินฟลูเอนเซอร์ให้แบรนด์ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ทั้ง Engagement เฉลี่ย, Active Followers และ Demography โดยแบรนด์มีหน้าที่แค่เลือกเท่านั้น
  • “Campaign Brief”: อย่างที่ทราบกันดีว่าบรีฟที่ดีนั้นนำมาสู่ผลงานที่ดี ดังนั้น Pickle จึงสรุปหัวใจในการบรีฟมาเป็นขั้นตอนแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลแคมเปญ ประเภทของอินฟลูเอนเซอร์ ค่าตอบแทน กลุ่มเป้าหมาย ขอบเขตงาน และระยะเวลาของแคมเปญ
  • “Campaign Analysis”: แสดงผลลัพธ์หลายอย่าง เช่น Total reach (Story view, Post view), Return on Investment (ROI) หรือ การวัดผลตอบแทนจากการลงทุน และ สรุปงบที่ใช้จ่ายไปทั้งหมด แถมยังรายงาน Performance แบบเรียลไทม์ ทำให้นักการตลาดสามารถติดตามและปรับกลยุทธ์ได้อย่างยืดหยุ่น

ซึ่งตอนนี้ทาง Pickle ยังไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ แต่ในอนาคตข้างหน้าคาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายเล็กน้อย ภายหลังจากที่มีการแมชชิ่งกันแล้ว

เข้าชมเว็บไซต์ของ Pickle  ได้ที่ : https://www.pickle.co.th 

 

Tellscore 

อีกแพลตฟอร์ม MarTech Top 3 หมวดโซเชียลและความสัมพันธ์ที่คนนิยมใช้ อีกหนึ่งสื่อกลางที่ช่วยให้นักการตลาดหรือผู้ประกอบการได้มาเจอกับอินฟลูเอนเซอร์โดยตรง

โดยแพลตฟอร์มนี้มีจุดเด่นเรื่องการเน้นการสนับสนุน Micro-Influencer กับ Nano-Influencer

ที่อยู่ในโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Twitter หรือ Instagram ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้จะเป็นคนทั่วไปที่มีสไตล์ของตัวเองหรือความถนัดในบางสิ่งบางอย่างและยังเป็นกระบอกเสียงชั้นดีและมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคในปัจจุบัน

ซึ่งในหน้าแรกของเว็บไซต์จะมีการแบ่งอย่างชัดเจนว่าผู้ใช้งานเป็น Marketer หรือ อินฟลูเอนเซอร์ 

ซึ่งลูกค้าที่ต้องการใช้บริการก็สามารถดำเนินการผ่านแพลตฟอร์มได้ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการค้นหา นฟลูเอนเซอร์ที่ลูกค้าต้องการจากความถนัดหรือจำนวนผู้ติดตาม 

ซึ่ง Tellscore จะมีการเก็บข้อมูลของแต่ละคนเอาไว้ และมีการประเมินผลสถิติต่าง ๆ รวมถึงคาดคะเนจำนวนคนเห็นโพสต์ เพื่อทำให้กลุ่มลูกค้าที่ต้องการทำตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์ได้รับข้อมูลที่แม่นยำและสามารถนำไปวางแผนในการทำตลาดได้ นอกจากนี้ Tellscore จะมีระบบที่สามารถวัดผลได้หลังจบแคมเปญ จึงทำให้การทำการตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์นั้นมีประสิทธิภาพ

และที่มากไปกว่านั้น ทาง Tellscore ยังมีแคมเปญ “Help you Help me” ภายใต้แนวคิด “คุณช่วยสังคม ให้เราช่วยคุณ” โครงการมอบสื่ออินฟลูเอนเซอร์ให้กับหน่วยงานภาคสังคมโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ซึ่งจะนำไปสู่การช่วยแก้ปัญหาในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม คนพิการ เด็ก และเยาวชน การขาดแคลนอาหาร ภัยคุกคามในโลกไซเบอร์ และอื่น ๆ อีกมากมาย เพื่อให้เหล่าอินฟลูเอนเซอร์นั้นเป็นกระบอกเสียงสู่ผู้ติดตามของตนและประชาชนในวงกว้างให้ได้มากที่สุดนั่นเอง 

เข้าชมเว็บไซต์ของ Tellscore ได้ที่ : https://th.tellscore.com/th 

 

Zocial Eye 

อีกหนึ่งเครื่องมือ MarTech จาก WISESIGHT ที่ครบสูตรสำหรับแบรนด์ด้วยฟีเจอร์ที่ครอบคลุมทุกจุดประสงค์การใช้งาน

โดย Zocial Eye มี AI ตัวเก่งอย่าง “KIRIN ENGINE” ที่ช่วยเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างแม่นยำ รวดเร็ว และลึกขึ้น นอกจากนี้ยังมีโมดูลที่เรียกว่า “INFLUENCER DIRECTORY”  ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับคนที่ต้องการหาอินฟลูเอนเซอร์รีวิวสินค้า หรือโปรโมตแบรนด์ที่มีโปรไฟล์ไปจนถึงตรงกับสิ่งที่แบรนด์ต้องการโดยเฉพาะ 

การใช้งานนั้นก็ไม่ยาก โดยแบรนด์สามารถเริ่มการค้นหาได้จากประเภทแพลตฟอร์ที่ต้องการจะทำการตลาด ซึ่ง Zocial Eye ก็มีให้ครอบคลุมใน 4 แพลตฟอร์มหลักด้วยกัน ได้แก่ Facebook, Instagram, TikTok และ YouTube  

จากนั้นแบรนด์ก็สามารถคัดกรองกลุ่มของอินฟลูเอนเซอร์ได้ว่าอยากได้อินฟลูเอนเซอร์สายไหน เช่น สายอาหาร สาย Tech หรือสายรักสัตว์ เป็นต้น และก็ยังสามารถเลือกจำนวนยอดผู้ติดตามได้อีกด้วย ยังไม่พอ ที่ได้บอกไปก่อนหน้านี้ว่าทาง INFLUENCER DIRECTORY สามารถวิเคราะห์ข้อมูลของอินฟลูเอนเซอร์เหล่านั้นได้ โดยมันก็สามารถตรวจจับได้ว่าอินฟลูเอนเซอร์คนใดสามารถคอนเทนต์แบบใดได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอหรือวิดีโอสั้น 

และยังสามารถเปรียบเทียบได้ว่าโพสต์ของอินฟลูเอนเซอร์คนใดมีคอมเมนต์ที่ถูกพูดถึงในแง่บวก (Positive) และแง่ลบ (Negative) หรือกลางๆ (Neutral) อย่างไรบ้าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อแบรนด์มากเพราะแบรนด์จะสามารถเฟ้นหาคนที่เหมาะสมที่สุดที่จะรีวิวสินค้าของตนได้ 

ใกล้สุดท้าย แต่ไม่ท้ายสุด! ทาง Zocial Eye ยังมีการอัปเดตฟีเจอร์ใหม่ล่าสุดอย่าง Intelligence Analytics” ที่จะช่วยให้นักการตลาดวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังเก็บข้อมูลผ่าน Instagram Reel และ TikTok ที่ทาง WISESIGHT ตั้งเป้าหมายเก็บ Data จากวิดีโอสั้นบนแพลตฟอร์ม Social Media ต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุด และนอกจากนี้ยังมีฟีเจอร์ 

  • “Deep Social Listening & Monitoring”:  ที่มาช่วยเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกและบทสนทนาในกระแสสังคมในเชิงลึกได้รวดเร็วด้วยเทคโนโลยี AI แล้วนำมาแสดงผลในรูปแบบกราฟหน้า Campaign View ที่ชัดเจน
  • “Account Label”: ตัวช่วยจำแนก Audience Account ว่าเป็นคนธรรมดา อินฟลูเอนเซอร์ หรือ แบรนด์ รวมถึงจำแนกประเภทธุรกิจ
  • “Brand Involvement”: ฟีเจอร์ที่ทำงานร่วมกับ Account Label โดยนำข้อมูลจากงาน Thailand Zocial Award ตลอดระยะเวลา 10 ปีมาจำแนกลงลึกถึงผลลัพธ์ความนิยมของแต่ละ Account ซึ่งจะช่วยในการคัดเลือกอินฟลูเอนเซอร์ หรือ Partners ที่จะร่วมงานด้วยอย่างละเอียด
  • “Logo Detection”: ฟีเจอร์ที่มีแค่ใน Zocial Eye เท่านั้น! กับการจับอินไซต์ผ่านภาพที่มีโลโก้ของแบรนด์ ช่วยแก้ปัญหาจับอินไซต์ ผ่านข้อความที่ไม่พูดถึงแบรนด์แต่มีการใช้โลโก้ของแบรนด์ ตัวนี้เรียกได้ว่าล้ำสุด ๆ เพราะไม่เคยเห็นในแพลตฟอร์มไหนมีมาก่อน!
  • “Image Label”: ตัวช่วยระบุอินไซต์ของภาพว่ามีใครและอะไรอยู่ในภาพบ้าง ซึ่งเรียกได้ว่ามันเหมาะกับแพลตฟอร์ม Instagram และยังสะดวกในการทำ Data Labeling ต่ออีกด้วย

ขอบอกว่า Zocial Eye นี้เหมาะกับธุรกิจระดับ Enterprise หรือกลุ่ม Advertising & Entertainment ที่ต้องติดตามกระแสสังคมและจำเป็นต้องมีข้อมูลมหาศาลเพื่อใช้ในการวิเคราะห์วางแผนกลยุทธ์การตลาดกับโฆษณาของแบรนด์เป็นอย่างมาก ส่วนในด้านของอินฟลูเอนเซอร์นี้ก็สามารถสร้างหน้าโปรไฟล์ของตัวเองไว้สวย ๆ และเตรียมคอนเทนต์สุดเจ๋งรอไว้ได้เลย เพราะหากคอนเทนต์และ Branding ของคุณน่าสนใจตัวแพลตฟอร์มนี้จะไปตามหาตัวคุณมาส่งให้แบรนด์เอง!

เข้าชมเว็บไซต์ของ Zocial Eye ได้ที่ : https://wisesight.com/zocialeye/ 

 

Insight Era 

“รวดเร็ว แม่นยำ บริการอย่างเข้าใจ นั่นคือวิถีของ InsightEra”

เห็นสโลแกนแบบนี้แล้วก็คงทายกันถูกว่าแพลตฟอร์มนี้ก็เป็นอีกแพลตฟอร์มหนึ่งที่จะมาช่วยอำนวยความสะดวกแบรนด์ในการทำการตลาด ซึ่ง Insight Era จะมาอุดรูโหว่ของระบบเดิม ๆ ที่แต่ละทีมมีข้อมูลคนละชุด ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลของลูกค้าชุดเดียวกันได้ ผนวกกับการบริการที่เข้าใจธุรกิจของลูกค้าอย่างลึกซึ้งในฐานะ Partners มากกว่าผู้ให้บริการซึ่งนำไปสู่การวางแผนธุรกิจที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

เมื่อเข้าไปดูข้อมูลดี ๆ แล้วจะเห็นว่าแพลตฟอร์มนี้เกิดมากเพื่อตอบโจทย์แบรนด์มากกว่าฝั่งอินฟลูเอนเซอร์ แต่ทางอินฟลูเอนเซอร์เองก็ยังได้ประโยชน์จากเครื่องมือ MarTech ตัวนี้ เพราะทางแบรนด์จะสามารถใช้แพลตฟอร์มนี้ในการค้นหาอินฟลูเอนเซอร์ที่เข้ากับแบรนด์ผ่านระบบการค้นหาแบบอินไซต์ภายในแพลตฟอร์ม 

โดยจะมีตัว “Influencer Analysis” ที่จะมาช่วยแบรนด์คัดกรองอินฟลูเอนเซอร์ เพราะบางครั้งอินฟลูเอนเซอร์ที่มีผู้ติดตามมากที่สุดก็ไม่ได้หมายความว่าจะสร้างการรับรู้ให้แบรนด์มากที่สุด ดังนั้นการใช้ประโยชน์จากเครื่องมือ MarTech จะช่วยให้สามารถค้นหารายชื่ออินฟลูเอนเซอร์ที่เหมาะสมที่สุดในแต่ละช่องทางพร้อมทำให้ภาพลักษณ์ของธุรกิจดียิ่งขึ้น 

และการจะสร้างกลยุทธ์บนออนไลน์นั้น หากเลือกใช้อินฟลูเอนเซอร์ก็ต้องวางแผนให้ชัดทั้งสองส่วนก่อน คือ ส่วนของแคมเปญว่าควรเลือกใช้กลยุทธ์การโฆษณาโดยอินฟลูเอนเซอร์หรือไม่ กับสองการเลือกอินฟลูเอนเซอร์ที่เหมาะสมกับการทำแคมเปญนั้น ๆ ซึ่งบริษัทควรจะมองคนที่มี Engagement จริง ๆ มากกว่าแค่ยอดผู้ติดตามสูง ๆ เพราะ อินฟลูเอนเซอร์ แต่ละคนนั้นมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน

นอกจากนี้ Insight Era ยังมีความสามารถในการทำ Brand Performance Tracking ที่ทำให้แบรนด์รู้ทันทุกความเคลื่อนไหวของคอนเทนต์ที่ปล่อยออกไป พร้อมยังสามารถติดตามผลตอบรับ บน Social Network ได้แบบ Real-Time และรู้ Social Movement ในทุกตลาดที่เกี่ยวข้องพร้อมสามารถเปรียบเทียบกับคู่แข่งได้อีกด้วย

เข้าชมเว็บไซต์ของ Insight Era ได้ที่ : https://www.insightera.co.th/dom/ 

 

และนอกจาก 4 แพลตฟอร์มที่ได้ยกตัวอย่างไปแล้วก็ยังมีแพลตฟอร์ม Revu, TikTok Influencer Marketplace, Buddy Review, Kollective และอื่น ๆ อีกมากมาย

จะเห็นได้ว่าทุกวันนี้ได้มีเครื่องมือใหม่ ๆ มากมายที่เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในการทำการตลาดของแบรนด์ต่าง ๆ และ MarTech ก็ถือเป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่มีประโยชน์แถมจะเข้ามามีอิทธิพลมากในปัจจุบันและอนาคต 

ในฐานะแบรนด์เองก็ควรที่จะหาข้อมูลและอัปเดตเทคโนโลยีต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลาเพื่อให้แบรนด์สามารถอยู่รอดในตลาดท่ามกลางคู่แข่งที่มากมาย ส่วนตัวอินฟลูเอนเซอร์เอง นอกจากจะสร้างคอนเทนต์คุณภาพในช่องทางของตนเองแล้วก็ต้องคอยมองหาช่องทางอื่น ๆ ในการพาตัวเองมาเจอกับแบรนด์ที่เหมาะสม เพื่อเป็นการเปิดโอกาสในการหารายได้และเปิดโอกาสให้ตัวเองได้เติบโตในสายอาชีพนี้เช่นกัน 

RAiNMaker หวังว่าคอนเทนต์นี้จะมีประโยชน์ไม่มากก็น้อยต่อทั้งแบรนด์และอินฟลูเอนเซอร์และก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทั้งสองจะเจอ Perfect Matching ของตนผ่านเครื่องมือ MarTech เจ๋ง ๆ เหล่านี้

 

ขอบคุณข้อมูลจาก :

https://thedigitaltips.com/blog/news/martech/ 

https://www.thumbsup.in.th/interview-insight-era 

https://www.insightera.co.th/social-listening-speed-accuracy/ 

https://www.rainmaker.in.th/pickle-influencer-maketing-platform/ 

https://www.marketingoops.com/marketing-tech/wisesight-business-strategy-and-technology-development-update/ 

Copyright © 2025 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save