Tips

Avatar

doyoumind February 28, 2024

รวม 4 Psychological Safety สร้างความรู้สึกปลอดภัยทางใจในที่ทำงาน

เพราะบรรยากาศและวัฒนธรรมองค์กรส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงาน

ลองนึกสภาพว่าหากพนักงานในองค์กรไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น เพียงเพราะกลัวว่าจะถูกมองว่าแตกต่าง หรือกลัวว่าจะเกิดความขัดแย้ง ผลลัพธ์ของงานที่ออกมาจะดีเท่ากับองค์กรที่เปิดโอกาสให้ทุกคนแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่หรือไม่?

สิ่งสำคัญในการผลักดันให้พนักงานกล้ามีส่วนร่วม กล้าแสดงความคิดเห็น กล้าเป็นตัวของตัว และดึงศักยภาพมาพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ให้องค์กร เริ่มต้นได้จากการสร้าง ‘ความรู้สึกปลอดภัยทางใจในที่ทำงาน หรีอ Psychological Safety’ เพื่อให้สภาพแวดล้อมในที่ทำงานช่วยทำให้ทุกคนเชื่อมต่อกันได้ดีขึ้น, เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้, กล้าที่จะเสนอความคิดที่แตกต่าง, กล้าเป็นตัวของตัวเอง และพร้อมสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ภายใต้ความท้าทาย

เพราะฉะนั้นการสร้าง Psychological Safety ที่ดีในองค์กร จะทำให้พนักงานรู้สึกว่าเสียงของพวกเขาสำคัญ ไม่ใช่แค่การถูกยอมรับในเรื่องความคิดเห็น แต่รวมถึงการทำให้พวกเขามั่นใจว่าเพื่อนร่วมงาน หรือหัวหน้าจะไม่ลงโทษ หรือทำให้ขายหน้าเมื่อทำผิดพลาด

ข้อดีของการสร้าง Psychological Safety ในที่ทำงาน

อย่างที่บอกว่า เมื่อพนักงานมี Psychological Safety แล้ว พวกเขาจะรู้สึกปลอดภัย และมีความตระหนักรู้อยู่เสมอ รวมถึงรู้สึกมีพลังและแรงใจในการสร้างสรรค์ผลงานออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ข้อดีอื่น ๆ จากการสร้าง Psychological Safety คือ

  • เพิ่มโอกาสพาองค์กรทะลุเป้ากำไรเกิน 2 เท่า
  • ปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงได้ดีกว่า 8 เท่า
  • ช่วยรักษาพนักงานในองค์กรได้มากกว่า 2 เท่า

*ข้อมูลจากรายงานของ Josh Bersin

  • พนักงานมีส่วนร่วมกล้าแสดงความเห็น, Feedback และไฮไลต์ความผิดพลาด
  • สามารถประเมินความเสี่ยงขององค์กรได้ดีกว่า
  • มองเห็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้เร็วขึ้น
  • สามารถเอาตัวรอดเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง
  • เกิดการพัฒนาสิ่งใหม่ที่ดีกว่าในองค์กร

4 Stages of Psychological Safety

ซึ่งในการสร้าง Psychological Safety ในที่ทำงานมีอยู่ด้วยกัน 4 ขั้น ได้แก่ Inclusion Safety, Learner Safety, Contributor Safety และ Challenger Safety ในแต่ละขั้นตอนก็จะเป็นการสะท้อนความต้องการของพนักงานที่แตกต่างกันไป รวมถึงเราจะแนะนำวิธีในการสร้างความปลอดภัยทางใจในแต่ละขั้น เพื่อให้นำไปปรับใช้กับองค์กร หรือทีมในการทำงานได้ด้วย

Stage 1: Inclusion Safety

ขั้นแรก คือ ความต้องการเชื่อมต่อและเป็นที่ยอมรับ ซึ่งถือเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ ในช่วงนี้พนักงานต้องการความรู้สึกปลอดภัยทางใจที่ได้เป็นตัวของตัวเอง และถูกยอมรับจากทีม หรือคนในองค์กร เพราะฉะนั้นองค์กรจึงควรมอบหมายโปรเจกต์ หรือกิจกรรมให้ทำร่วมกัน เพื่อให้พนักงานรู้สึกได้เชื่อมต่อ และทำความรู้จักผ่านการทำงานมากขึ้น

รวมถึงเปิดเซสชันรับฟังความคิดเห็นต่าง ๆ โดยที่รับฟังทุกความคิดเห็น แม้จะแตกต่างจากความเห็นส่วนใหญ่ เพื่อให้พนักงานรู้สึกมีตัวตน รู้สึกว่าเสียงของเขาถูกรับฟัง และในอนาคตพวกเขาจะได้สะสมความกล้าในการแสดงออกมากขึ้นเรื่อย ๆ นั่นเอง

นอกจากนี้ ที่สำคัญเลยคือการปลูกฝังถึงความสำคัญของ Psychological Safety ให้ช่วยกันสร้างสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน และวัฒนธรรมองค์กรให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย เช่น การ Brainstorm อย่างสร้างสรรค์, กล้าแสดงความคิดเห็น, สามารถเป็นผู้ให้และรับ Feedback ได้โดยที่ไม่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกไม่ดี เป็นต้น

Stage 2: Learner Safety

ขั้นที่สอง คือ ความปลอดภัยทางใจที่ทำให้รู้สึกกล้าการเรียนรู้และเติบโต ในขั้นนี้องค์กรจะต้องผลักดันให้เกิดการแลกเปลี่ยนทักษะความรู้ อาจเปิดช่วงให้ตั้งคำถามในสิ่งที่ไม่รู้ รวมถึงกระตุ้นให้พนักงานกล้ายอมรับในสิ่งที่ไม่รู้ และเปิดรับความรู้ใหม่ ๆ เพิ่มเติม

พร้อมกับสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการเป็นผู้ให้และรับ Feedback อย่างสร้างสรรค์ ผ่านการกล้าที่จะ Feedback ถึงปัญหาแบบตรง ๆ แต่ต้องคำนึงถึง Empathy ที่ไม่ทำร้ายจิตใจกันและกัน จนสร้างปมให้อีกฝ่ายกลัวคำผิดพลาดและไม่กล้าที่จะ Feedback กลับ

ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้พนักงานเรียนรู้จากความผิดพลาดของตัวเอง เริ่มต้นจากการสร้างสภาพแวดล้อมในองค์กรให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้พนักงานกล้าที่จะยอมรับข้อผิดพลาด กล้าที่จะปรึกษาเพื่อน ๆ ไปจนถึงพร้อมรับฟัง Feedback และพัฒนาแก้ไขอย่างสร้างสรรค์

Stage 3: Contributor Safety

ขั้นที่สาม เมื่อพนักงานถูกยอมรับ และมีความกล้าที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ แล้ว ก็ถึงเวลาที่พนักงานจะกล้าสร้างความแตกต่าง โดยองค์กรสามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เป็นเวทีที่พนักงานสามารถโชว์สกิลหรือความสามารถเฉพาะตัวได้อย่างไม่มีกั๊ก ทั้งนี้ก็เพื่อให้พนักงานดึงศักยภาพสูงสุดของตัวเองมาใช้กับงาน

รวมถึง เมื่อพนักงานได้ใช้สกิลพิเศษเฉพาะตัวกับงาน ไม่ว่าจะเป็น งานเดี่ยว หรืองานส่วนร่วม จะยิ่งเป็นการเพิ่มความภูมิใจในตัวเอง ที่จะทำให้พนักงานมีแรงขับเคลื่อนในการทำงานมากขึ้นได้อีกด้วย

Stage 4: Challenger Safety

ขั้นที่สี่ ขั้นตอนสุดท้ายที่พนักงานจะเริ่มมีความรู้สึกปลอดภัยในการกล้าเสี่ยงเพื่อโอกาสและพัฒนาตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น การกล้าแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างอย่างหนักแน่น หรือกล้าที่จะมีสิทธิ์มีเสียงในการเปลี่ยนแปลงอะไรเดิม ๆ สู่สิ่งใหม่ เพื่อพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิม

โดยองค์กรสามารถเปิดโอกาสให้พนักงานแสดงความเห็นและเป็นผู้นำผ่านโปรเจกต์ต่าง ๆ ได้มากขึ้น หรือมีแรงจูงใจกระตุ้นให้พนักงานรู้สึกอยากพัฒนางานให้ดีข้ึน นอกจากนี้ ยังสามารถมอบความท้าทายใหม่ ๆ เพื่อให้พนักงานได้สัมผัสประสบการณ์ที่อาจเปลี่ยนความคิดในการทำงานของเขาได้ เช่น การมอบเครื่องมือ หรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้ลองใช้ เป็นต้น

 

นี่ก็เป็น Psychological Safety หรือความปลอดภัยทางใจในที่ทำงานที่ควรมีให้พนักงานทุกคน เพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อม และวัฒนธรรมองค์ที่ดี ซึ่งเป็นผลไปสู่การทำงานที่มีประสิทธิภาพ และพัฒนาองค์กรให้ดีขึ้น รวมถึงลดการเกิดความ Toxic ในองค์กร ที่อาจทำให้พนักงานรู้สึกหมดไฟจนตัดสินใจบอกลาองค์กนได้อีกด้วย

ไม่ว่าจะ นายจ้าง ลูกจ้าง หัวหน้า หรือลูกน้อง ก็สามารถทำความเข้าใจและช่วยกันสร้าง Psychological Safety ที่ดีในที่ทำงาน เพื่อให้เกิดความเข้าใจ และนำพาองค์กรไปในทางที่ดีขึ้นได้

อ้างอิง: Qualtrics

Copyright © 2024 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save