“Nostalgia Marketing” หรือการตลาดที่ดึงดูดความสนใจของผู้คนด้วยจิตวิทยา โดยการใช้สิ่งที่สื่อถึงอารมณ์ (Emotional) และความรู้สึก (Feeling) เสมือนกับการย้อนวันวานใส่ลงในคอนเทนต์ เพื่อเชื่อมโยงแบรนด์ และกลุ่มเป้าหมายเข้าด้วยกัน และทำให้นึกถึงอะไรเก่า ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของคนเหล่านั้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทริคการตลาดที่ RAiNMaker อยากนำมาประยุกต์ใช้ให้เหล่าครีเอเตอร์ได้รู้กัน!
แบรนด์โน้มน้าวใจกลุ่มเป้าหมายได้ ถือว่าเป็นแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จในการตลาด เพราะทำให้คนยอมจ่ายเงินซื้อ และยอมเสียเวลาเพื่อรับชมหรืออ่านกับคอนเทนต์ของเราจนจบ แต่สมัยนี้แค่โน้มน้าวใจเพราะอยากขายอย่างเดียวไม่ได้ เพราะ ‘คุณค่า’ ของคอนเทนต์เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้น เนื่องจากทุกคนสามารถเลือกเสพคอนเทนต์ที่ชอบเองได้
โดยเฉพาะในปี 2020 จนมาถึงปัจจุบัน ผู้คนก็เริ่มโหยหากลิ่นอายการย้อนยุคหรือความวินเทจมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแนว 70s, 80s หรือ 90s เริ่มกลายมาเป็นเทรนด์ในคอนเทนต์ต่าง ๆ ลามมาในชีวิตประจำวันที่ความคลาสสิคก็มีเสน่ห์ขึ้นมา
ไม่เว้นแม้แต่ Gen Z หรือ Gen Alpha ที่ดูจะชอบการตลาดแบบ “Nostalgia Marketing” เพราะมันทำให้พวกเขาสัมผัสถึงความเก๋า และเท่ในยุคนั้นได้ รวมถึงตั้งแต่ Gen Y ขึ้นไป ก็มีอะไรมากมายให้คิดถึงด้วย เราเลยจะมาแกะ 4 เทคนิคเพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับแบรนด์กันว่า ‘เก่าแต่น่าจดจำ’ มันเป็นยังไง
Back to Original
รู้ว่ากลุ่มเป้าหมายคิดถึงวันวานแบบไหน
การย้อนเวลานั้นต้องเข้าใจว่าแบรนด์ของเราเหมาะกับยุคไหน เพราะการที่ผู้คนหันมาสนใจอะไรที่ ‘Original and Classic’ มากขึ้น ไม่ได้แปลว่าเราจะยัดเยียดการตลาดใส่แบรนด์ได้เลย แต่ต้องทำความเข้าใจว่ากลุ่มเป้าหมายของเราเขากำลังคิดถึงเหตุการณ์ หรือวันวานแบบไหนอยู่ด้วย และค่อย ๆ ปรับให้เข้ากับกลยุทธ์ หรือภาพลักษณ์ของแบรนด์เพื่อดึงดูดผู้บริโภคให้ถูกจุด
ในขณะเดียวกันการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นทุกวันก็ชัดขึ้น เราอาจจะใช้การผสมผสานของยุคสมัยใหม่ และยุคสมัยเก่ามารวมเข้าด้วยกันก็ยังได้ เพียงแค่ลองคิดถึงใจของกลุ่มเป้าหมายดูว่าหากพวกเขาได้ค้นพบ “Nostalgia Marketing” ของคุณแล้วจะรู้สึกอะไรบ้าง
Build Uniqueness
ทำให้แบรนด์มีเอกลักษณ์น่าจดจำ
เพราะการย้อนวันวานกลายเป็นเทรนด์ที่ยังคงปังอยู่จนถึงทุกวันนี้ ทำให้การแข่งขันระหว่างแบรนด์หรือเอเจนซี่ด้วยกันเองสูงมาก เราจึงต้องหาช่องว่างในตลาด และเข้าใจจุดแข็งของแบรนด์เพื่อจะได้ดึง ‘จุดเด่น’ มาใช้ให้มากที่สุด เพื่อนำไปทำให้แตกต่างกับตลาดอื่น ๆ
รวมถึงการใส่ ‘ความคิดถึง’ ลงไปในคอนเทนต์หรือทุกกระบวนการทางการตลาดให้มากที่สุด เพราะหากเรามีกระบวนการคิดที่ถี่ถ้วน และใส่ใจรายละเอียดความรู้สึกอันมีค่าของกลุ่มเป้าหมายได้ การโน้มน้าวใจเพื่อนำไปสู่การซื้อ หรือจดจำในตัวแบรนด์จะมีเปอร์เซ็นต์ที่สูงมาก
Beyond Functional
ให้คุณค่ากับความรู้สึกมากกว่าฟังก์ชัน
แบรนด์ที่เน้นการนำเสนอด้วยฟังก์ชันใหม่ ๆ ที่คิดค้นหรือพัฒนามาก็น่าสนใจ แต่มันอาจจะเป็นเพียงแค่วิธีใช้ หรือเซอร์ไพรส์แค่ชั่วครู่ในตอนแรกที่ได้รู้ ซึ่งการให้คุณค่ากับความรู้สึกของผู้บริโภคนั้นสามารถอยู่ได้ยาวนานกว่า เพราะหากเหล่าครีเอเตอร์สร้างคอนเทนต์ที่ทำให้พวกเขามีความรู้สึกร่วมด้วยได้ มันจะกลายเป็นความประทับใจไม่รู้จบแน่นอน
โดยเฉพาะกับความรู้สึก ‘เอ๊ะ’ แรกเมื่อได้เสพคอนเทนต์ที่สะกิดต่อมความจำ หรือความรู้สึกของกลุ่มเป้าหมายได้แล้ว หลังจากนี้พวกเขาจะเต็มใจจ่ายให้แบรนด์เองโดยไม่ต้องทำการขายตรงจนเกินไปเลย ขอแค่แบรนด์ทำให้อินไปด้วยกันได้ก็เพียงพอแล้ว
Blend to New Gen
นำเสนอให้เข้าถึงคนยุคใหม่ได้
หลังจากสิ่งของหรือสไตล์วินเทจได้บูมขึ้นในช่วงนี้ คงไม่มีใครมองว่ามันเป็นเทรนด์แก่เกินไปที่จะตามแน่นอน เพราะนับเป็นเรื่องปกติที่โลกมันเปลี่ยนผ่านไปเร็ว ผู้คนก็เลยถอยกลับมาคิดถึงสิ่งเก่า ๆ รอบตัวมากขึ้น
เช่นเดียวกันกับเยาวรุ่น Gen Z หรือ Gen Alpha ที่อาจจะไม่ได้โหยหาวันวานเท่ากับคน Gen Y ขึ้นไป แต่พวกเขาคือ ‘ผู้นำเทรนด์’ และชอบความแตกต่าง เลยทำให้มีการแสดงความเป็นตัวเองออกมาสูง และไม่ได้มองว่าอะไรเก่า ๆ มันแก่เลยสักนิด
สิ่งที่แบรนด์ต้องทำก็คือการแสดงความเป็นตัวเองออกมาอย่างจริงใจเช่นกัน หากอยากประยุกต์ด้วยคอนเซปต์ย้อนยุค หรือมีแรงบันดาลใจมาจากยุคเก่า ๆ จงอย่ากลัวที่จะลอง และไปให้สุดก็พอ เพราะผู้บริโภคสมัยนี้ต่างก็จับตามองแบรนด์ต่าง ๆ ผ่านหน้าจอสี่เหลี่ยมอยู่ทุกวัน และจะรับรู้พร้อมเปรียบเทียบได้เองว่าคุณกำลังเข้าหาเพื่อเอาชนะใจพวกเขา
แม้การเลียนแบบยุคสมัยหนึ่งนั้นจะไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก เพราะมันเป็นเรื่องที่ผ่าน และเป็นอดีตไปแล้ว แต่หากแบรนด์พร้อมเปิดใจที่จะเข้าใจกลุ่มเป้าหมายของตัวเองมากขึ้น พร้อม ๆ กับอยากสร้างความทรงจำใหม่ ๆ ให้พวกเขาไปด้วย สักวันหนึ่งที่ทำการตลาดนี้สำเร็จ ชื่อแบรนด์ของคุณก็จะถูกจดจำ และทำให้ใครหลายคนนึกถึงเช่นกัน
ที่มา: Squareup.com