News

Avatar

cozepond July 30, 2021

5 เช็คลิสต์เตือนใจในการรู้เท่าทันสื่อ

เพราะข่าวสารทุกวันนี้ แม้จะเป็นความจริง ก็ยังมีคนสามารถบิดเบือนว่าเป็นการจัดฉากขึ้น หรือแม้กระทั่งเปลี่ยนเรื่องที่ไม่เป็นจริง ให้เป็นความจริงได้ด้วยความเชื่อมั่นในแบบผิดๆ ได้เช่นเดียวกัน เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเองในการเสพย์สื่อที่ถูกต้อง วันนี้เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ Media Literacy หรือการรู้เท่าทันสื่อกัน 

สมัยก่อน การจะรับรู้ข่าวสาร มักเกิดจากการรับชมโทรทัศน์ หรืออ่านหนังสือพิมพ์เท่านั้น แต่เมื่อมีเทคโนโลยีเข้ามา ทำให้การเดินทางของข่าวสารมีความรวดเร็วขึ้น เราสามารถรับรู้เนื้อหาได้แบบเรียลไทม์ และกระจายไปไกลทั่วโลกในเวลาอันรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการอ่านข่าวสาร ดูความเป็นไปของเพื่อน หาสูตรอาหาร หรือเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ 

แต่ความน่ากลัวคือ สิ่งที่เราอ่าน อาจเป็นข่าวลวงก็เป็นได้ ซึ่งข่าวลวงในที่นี้ ไม่ใช่แค่การสร้างข่าวปลอมหรือ Fake news ขึ้นมาเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการบิดเบือนเนื้อหาเล็กๆ น้อยๆ เช่นลงรูปภาพที่ไม่เกี่ยวกับเนื้อหาเพื่อเพิ่มความทรงพลังให้ตัวข่าว หรืออ้างอิงคำพูดที่ตัวบุคคลนั้นไม่ได้พูด 

เพื่อเป็นการป้องกันการถูกหลอก เราจึงต้องมีความรู้เท่าทันสื่อ หรือมีสิ่งที่เรียกว่า Media Literacy อยู่ในตัวด้วย 5 เช็คลิสต์นี้ก่อนอ่านข่าวทุกครั้ง

ทุกข้อความเกิดจากปลายปากกาจรด

ไม่ว่าจะเป็นการรายงานข่าว หรือบทความเชิงวิชาการต่างๆ ต้องพึงระลึกไว้เสมอว่าเนื้อหาทั้งหมดผ่านการเรียบเรียงแล้วเพื่อความสวยงาม หรือทำให้เข้าใจง่าย จึงอาจมีบางคำแต่งเติมเข้ามาโดยที่ไม่ได้ถูกต้องทั้งหมด 100% ดังนั้นเมื่ออ่านแล้วต้องไม่ลืมที่จะวิเคราะห์ด้วยหลักความเป็นเหตุเป็นผลอีกครั้ง  พร้อมทั้งหาข้อมูลจากแหล่งข่าวอื่นๆ อีกหลายที่ด้วยเพื่อเป็นการรับประกัน

 

 ทุกเนื้อหาถูกปรับให้เข้ากับแต่ละแพลตฟอร์ม 

แต่ละแพลตฟอร์มมีการทำงานที่แตกต่างกันไป Facebook มีไว้เล่าเรื่องราวแบบพรรณนาเล็กน้อย หากเป็น Twitter จะต้องรวดเร็ว กระชับ หากเป็นวิดีโอพิถีพิถันก็ต้องผ่านทาง YouTube แม้จะเป็นเรื่องใจความเดียวกัน แต่ก็ถูกถ่ายทอดออกมาต่างกันได้ 

1 ข้อความ แปลออกมาได้หลายความรู้สึก 

ให้ 10 คน มาอ่านบทความเดียวกัน ก็อาจได้ความรู้สึกที่ไม่เหมือนกัน บางคนอ่านแล้วนึกภาพไม่ออก ไม่รู้สึกอะไร ในขณะที่บางคนอ่านแล้วเกิดความรู้สึกคับแค้นใจ นั่นก็เพราะแต่ละคนต่างก็อ่านผ่านเลนส์ประสบการณ์ อายุ เพศ และเรื่องราวที่เจอมาไม่เหมือนกัน  จึงต้องพิจารณาให้ดีๆ หากเป็นการรายงานเนื้อหาของผู้ที่ใส่ความรู้สึกตัวเองลงไปโดยไม่ใช่ข้อเท็จจริงล้วน เพราะอาจเป็นการชักจูงความรู้สึกเราโดยไม่รู้ตัวได้ 

เหรียญมี 2 ด้าน สื่อก็เลือกมุมมองในการเล่าเช่นเดียวกัน 

แม้เรื่องราวส่วนใหญจะประกอบด้วยโครงสร้าง ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร แต่ในทุกๆ เหตุการณ์ จะถูกเล่าด้วยการดึงใจความสำคัญหรือเรื่องเด่นออกมาเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการเน้นว่าผู้ที่ทำหรือถูกกระทำคือใคร จบสถาบันไหน มีความเห็นว่าอย่างไร หรือแม้กระทั่งฐานะอยู่ในระดับไหน ขึ้นอยู่กับความสำคัญของเรื่องราวนั้นๆ ที่สื่อเห็น

 นี่จึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ต้องอ่านข้อมูลจากหลายช่องทาง เพราะเรื่อง 1 เรื่อง ก็เล่าได้ไม่เหมือนกันแล้ว 

ทุกข้อความผ่านการจัดวางเพื่อผลกำไร หรืออำนาจ 

ทุกบทความและเนื้อหาที่เป็นข่าว ต่างก็เป็นการลงอย่างมีวัตถุประสงค์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการแสดงจุดยืนภาพลักษณ์ของตนเองของสำนักสื่อ สร้างภาพจำในใจผู้อ่าน  หรือเพื่อบอกข้อมูลข่าวสารต่างๆ แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่าเงินยังเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต

ดังนั้นไม่ว่าอย่างไรก็ต้องมีพื้นที่ในการลงโฆษณา หากเป็นการบอกอย่างเปิดเผยว่าขายสินค้าก็ถือเป็นการจริงใจกับผู้บริโภคไป แต่ก็มีไม่น้อยที่โฆษณาแบบรีวิว หรือใช้จุดแข็งที่สื่อมีให้เป็นประโยชน์จนเป็นการเขียนข้อความเกินจริง กลายเป็นการหลอกลวงผู้บริโภคไม่รู้ตัวได้

ทุกครั้งที่อ่านข่าวหรือบทความใดก็ตาม อย่าลืมคิดถึงเช็คลิสต์ทั้ง 5 ข้อนี้ วิเคราะห์เหตุผลตามความน่าจะเป็น และอ่านข่าวหลายแหล่งเพื่อความเป็นกลาง เพียงเท่านี้ก็จะไม่เป็นเหยื่อให้ Fake news หรือคนที่มีเจตนาไม่ดีอีกต่อไป

ที่มา Young African Leaders Initiative

Copyright © 2025 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save