ใกล้จะสิ้นปีกันแล้ว Hootsuite เขาก็ได้รวบรวม Social Trends 2022 จากการเก็บแบบสำรวจจาก 18,100 คน และการสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้เชี่ยวชาญที่เป็นตัวแทนแต่ละแพลตฟอร์มออนไลน์มากกว่า 15 คน ทั้งจากทวิตเตอร์ ยูทูบ และกูเกิล รวมถึงเก็บข้อมูล Global Data อีกกว่า 200 ประเทศทั่วโลก เพื่อเป็นไกด์ให้กับนักการตลาดและแบรนด์ในการเตรียมตัววางแผนกลยุทธ์สำหรับปีต่อไป
วันนี้ RAiNMaker เลยขอหยิบ 5 เทรนด์มาฝากทุกคนกันค่ะ! แต่สำหรับใครที่อยากอ่านรายงานฉบับเต็มของ Hootsuite สาสมารถไปดาวน์โหลดได้ที่ https://www.hootsuite.com/research/social-trends ผ่านการลงทะเบียนอีเมลได้เลย
ครีเอเตอร์จะช่วยแบรนด์สร้างคอมมูนิตี้
จากเทรนด์การใช้อินฟลูเอนเซอร์กลุ่มใหญ่สู่การใช้กลุ่มเล็กแทน รวมถึงการเน้นคอมมูนิตี้ที่มีความ Authentic มากขึ้น หากแบรนด์เลือกร่วมงานกับครีเอเตอร์ได้อย่างถูกคนก็จะทำให้เชื่อมต่อกับกลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ พร้อมความเชื่อใจอีกด้วย
อย่างที่เห็นคอมมูนิตี้ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นใน Facebook Group ที่รวมคนที่สนใจในสิ่งเดียวกันไว้ที่เดียวกัน เพื่อแชร์เรื่องราวต่าง ๆ ทวิตเตอร์เองก็กำลังทดสอบฟีเจอร์คอมมูนิตี้ เช่นกัน ซึ่งคอมมูนิตี้จะแข็งแกร่งขึ้นผ่านจากการใช้เวลาในการสร้างมันขึ้นมา ให้ผู้คนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
ยิ่งคอมมูนิตี้บนโลกออนไลน์ ยิ่งเป็นโอกาสที่ดีสำหรับแบรนด์ขนาดเล็กในการสร้างคอมมูนิตี้ขึ้นมา ปัจจุบันกว่า 50 ล้านคนทั่วโลกเรียกตัวเองว่าเป็นครีเอเตอร์ หลายแพลตฟอร์มเองก็มีการเพิ่มฟีเจอร์เพื่อช่วยเหลือการสร้างรายได้จากการเป็นครีเอเตอร์มากขึ้น
เพราะฉะนั้นครีเอเตอร์จึงจะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับคอมมูนิตี้ไว้ เนื่องจากครีเอเตอร์จะมีอิทธิพลต่อกลุ่มเป้าหมาย และแบรนด์เองก็จะเป็นผู้สนับสนุนให้ครีเอเตอร์เช่นกัน
ปรับโฆษณาให้เป็นคอนเทนต์มากกว่า Ad
นักการตลาดวางแผนจะทุ่มกับโฆษณาบนโซเชียลมีเดียมากขึ้นในปี 2022 จากผลสำรวจแพลตฟอร์มที่มีประสิทธิภาพในการช่วยให้ไปถึงเป้าหมาย แม้เปอร์เซ็นต์จะตกลงไปบ้าง แต่อันดับต้น ๆ ก็ยังคงเป็น Facebook, Instagram, Linkedin, Twitter และ YouTube อยู่ดี
ส่วน TikTok, Pinterest และ Snapchat นับเป็นช่องทางที่น่าสนใจและกำลังมาแรงมากในช่วงหลังมานี้ เนื่องจากเป็นช่องทางที่มีการใช้จ่ายเพื่อการโฆษณาเพิ่มมากขึ้นที่สุดเมื่อเทียบกับปีก่อน อย่าง TikTok เองที่ปีก่อนอยู่ที่ 3% แต่ปีนี้กระโดดขึ้นมาเป็น 24% , Pinterest เองก็ขึ้นจาก 6% เป็น 16% และ Snapchat ที่เพิ่มจาก 1% เป็น 13%
แต่ในบรรดาแพลตฟอร์มที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดนั้น ก็มีหลายแพลตฟอร์มจุดยืนที่ชัดเจนในเรื่องโฆษณาอย่าง TikTok ที่มีสโลแกนว่า “Don’t make ads. Make TikToks” เพื่อไม่ให้โฆษณาจากแบรนด์เป็นตัวขัดจังหวะการใช้งานของผู้ใช้ และทำให้ประสบการณ์ใช้งานแพลตฟอร์มแย่ลงนั่นเอง
ซึ่งนับเป็นความท้าทายของแบรนด์และนักการตลาดที่ต้องทำงานกันหนักขึ้น เพื่อสร้างสรรค์โฆษณาให้เป็นคอนเทนต์ที่กลมกลืนไปกับแพลตฟอร์มนั้น ๆ ได้ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้นนั่นเอง
83 % ของนักการตลาดมั่นใจ ROI ของโซเชียลมากขึ้น
เนื่องจากโซเชียลมีเดียแต่ละแพลตฟอร์มมีการปรับปรุงและพัฒนาเครื่องมือมากมายที่ส่งเสริมการทำการตลาด ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางที่ทำให้ได้ผลดีนอกจากการขายตรงและคอนเวอร์ชัน
และ 3 สิ่งที่ทำให้นักการตลาดมั่นใจเกี่ยวกับการใช้โซเชียลมีเดีย คือ
- โซเชียลมีเดียมีผลต่อการตลาดที่เหลือทั้งหมด
- โซเชียลมีเดียช่วยให้ได้ข้อมูลเชิงลึกของผู้บริโภค
- โซเชียลมีเดียได้ผลสูงสุดเมื่อใช้ทั้ง Paid และ Organic
โซเชียลมีเดียเป็นหัวใจหลักของการช็อปปิงหลังยุคโควิด
หลังจากช่วงโควิด อีคอมเมิร์ซก็ยิ่งเติบโตอย่างก้าวกระโดด หลายแบรนด์ทั้งใหญ่เล็กต่างหันมาใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางหลักในการเชื่อมต่อกับผู้บริโภค และสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับผู้บริโภคผ่านช่องทางออนไลน์
ยิ่งในปี 2022 นี้ การกระโดดเข้ามาเล่นกับโซเชียลอีคอมเมิร์ซ นับเป็นโอกาสที่แบรนด์ไม่ควรพลาดเลยก็ว่าได้ เพราะอีคอมเมิร์ซไปไกลมากกว่าการแค่กดสั่งซื้อบนออนไลน์แล้วจบ แต่โซเชียลมีเดียเข้ามาเป็นตัวช่วยของทุกขั้นตอนการซื้อ ตั้งแต่การค้นหาไปจนถึงบริการหลังการขาย
แถมวิธีการโปรโมตร้านก็หลากหลายมากกว่าเดิมที่แค่โพสต์ขายสินค้า อาจทำเป็นไลฟ์ หรือคลิปวิดีโอทิปส์ต่าง ๆ ให้ความรู้เกี่ยวกับสินค้าก็ได้
ผลสำรวจพบว่า เด็กรุ่นใหม่ โดยเฉพาะคนช่วงอายุระหว่าง 16-24 ปี ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กในการค้นหาแบรนด์ 53.2% ในขณะที่ใช้ Search Engines อยู่ที่ 51.3% รวมถึงแบรนด์ขนาดเล็กมีแนวโน้มที่จะพยายามสร้างและขายประสบการณ์ผ่านโซเชียลและหน้าร้านจริงอีกด้วย
ความต้องการ Customer Service บนโซเชียลเพิ่มขึ้น
จากการหยุดชะงักทั่วโลกเนื่องด้วยสถานการณ์โควิด ทำให้ Customer Service ถูกปรับมาในรูปแบบของออนไลน์ ผ่านโซเชียลแทบจะทั้งหมด พฤติกรรมนี้จึงทำให้ Customer Service บนโซเชียลเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคมากขึ้นในปี 2022 แม้ว่าจะสามารถให้บริการผ่านหน้าร้านเหมือนเดิมแล้วก็ตาม เนื่องจากความสะดวกและรวดเร็วนั่นเอง
จากแบบสำรวจของ Nielsen ซึ่งจัดทำโดยเฟซบุ๊ก พบว่า 64% ของผู้บริโภคต้องการส่งข้อความมากกว่าโทรหา แบรนด์จึงต้องปรับตัวให้เข้ากับดิจิทัล และให้ความสำคัญกับการบนิการลูกค้าบนโซเชียลมากขึ้น
อีกสาเหตุที่ควรให้ความสำคัญในการบริการลูกค้า เนื่องจาก 59% ของนักการตลาดเห็นด้วยว่า Social Customer Care เพิ่มมูลค่าให้กับองค์กรในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
ที่มา : Hootsuite