คุณรู้จัก Facebook Page Brief Here (อ่านออกเสียงไทย) รึเปล่า? ถ้าคุณอยากรู้ว่าการบรีฟที่ไม่ดีเป็นแบบไหนเราอยากให้คุณได้เข้าไปกด Like Page เอาไว้ก่อน เพราะวันนี้เราจะมาคุยกันถึงเรื่องการบรีฟงานไม่ใช่ Brief Here แต่มันคือการเตรียมบรีฟที่ดีให้กับนักออกแบบ
“บรีฟดีงานก็จะดี บรีฟไม่ดีงานก็จะพัง” มันคือกฎการทำงานที่อยากจะให้จำเอาไว้ให้ขึ้นใจ การบรีฟงานมีหลากหลายรูปแบบตั้งแต่การพูดปากเปล่าไปจนถึงการทำ Slide Present เพื่ออธิบายแบบละเอียด จะเลือกวิธีไหนก็แล้วแต่เนื้องานที่ได้รับมอบหมายมาในเวลานั้น
การบรีฟงานที่ดีต้องชัดเจนและเข้าใจได้ง่าย ข้อมูลไม่กว้างเกินและไม่แคบจนบีบการทำงานให้ยากจนเกินไปทุกอย่างต้องกลางๆเพื่อให้ทางนักออกแบบนั้นสามารถผสมผสานความคิดหรือไอเดียของตัวเองลงไปด้วย เพราะคนที่จะสามารถทำให้ชิ้นงานออกมาสวยงามได้ก็คงมีแต่นักออกแบบเท่านั้นถ้าเราบีบให้เค้าไม่ได้แสดงไอเดียอะไรก็ไม่ต่างกับเรานั่งทำเอง(แต่อาจจะช้ากว่า 2-3 วัน) เพราะอย่างนั้นเรามาดูกันดีกว่าว่าการบรีฟงานที่ดีนั้นควรจะมีอะไรบ้าง
1. กลุ่มเป้าหมาย
การกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนสำหรับชิ้นงานนั้นๆคือสิ่งแรกที่จะต้องบอกกับนักออกแบบเพื่อให้เห็นภาพรวมของงานทั้งหมด เช่น “งานชิ้นนี้เน้นเป็นงาน Print Ads เกี่ยวกับเรื่องการโฆษณาเปิดตัวสินค้าใหม่ของบริษัทยักย์ใหญ่ กลุ่มเป้าหมายของสินค้าคือคนที่มีอายุ 30 – 40 ปี” ยิ่งอธิบายได้ละเอียดเท่าไหร่การทำงานการคิดงานในฝั่งของนักออกแบบก็จะง่ายขึ้น
2. Mood & Tone / Reference
การกำหนดขอบเขตของ Mood & Tone (สีสัน, อารมณ์, ความรู้สึก) หรือ Reference (ตัวอย่างงาน, คู่เทียบเคียง) ให้กับนักออกแบบจะทำให้การทำงานนั้นแคบลงและง่ายยิ่งขึ้น เพราะจะสามารถมองภาพได้ออกว่าสุดท้ายแล้วงานที่ออกมาจะมีหน้าตาแบบไหน
หรือบางครั้งการทำ Moodboard เพื่อเสนองานลูกค้าและนำมาเล่าต่อให้กับนักออกแบบก็เป็นอีกวิธีที่ได้ผลลัพธ์ดีมาก เพราะยิ่งทั้งเราและนักออกแบบเห็นภาพมากเท่าไหร่โอกาสที่งานจะออกมาไม่ดีนั้นมีน้อยมาก
3. วัตถุดิบ
บางงานเป็นงานที่ต้องนำ Key Visual มาต่อยอดออกแบบต่อไปในสื่ออื่นๆ หากมีไฟล์หรือข้อมูลที่เป็นประโยชน์ที่สามารถทำให้นักออกแบบประหยัดเวลาในการออกแบบใหม่ได้ ต้องรวบรวมเก็บเอาไว้ส่งให้นักออกแบบก่อนเริ่มงานทั้ง ฟ้อนต์, รูปภาพ หรือ ไฟล์ Key Visual ต้นฉบับถ้ามีก็อยากให้เตรียมไว้ได้เลย
4. ระยะเวลา
ใน 3 ข้อแรกที่ผ่านมาถ้าบอกข้อมูลและเตรียมวัตถุดิบที่ครบถ้วนเอาไว้ให้นักออกแบบก็จะสามารถทำให้ประเมินระยะเวลาในการทำงานได้เลย แต่นั่นคือเวลาที่นักออกแบบคิดจากสิ่งที่มี แต่ในความเป็นจริงเวลาเป็นของลูกค้าที่จ่ายเงินและกำหนดเส้นตายเอาไว้ อย่าเก็บระยะเวลาเอาไว้อยู่คนเดียวควรแจ้งให้นักออกแบบรับทราบเพื่อประเมินระยะเวลาและแผนการดำเนินงานต่อไป
5. งบประมาณ
เรื่องสุดท้ายเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดและเป็นเรื่องที่ไม่เข้าใครออกใครนั่นก็คือเรื่อ งบประมาณหรือเงินนั่นเอง การที่เอาในส่วนของงบประมาณมาไว้เป็นข้อสุดท้ายก็เพราะว่าใน 4 ข้อแรกจะเป็นตัวกำหนดของค่าใช้จ่ายทั้งหมดได้หรือทำให้นักออกแบบสามารถประเมินราคาการทำงานได้ง่าย งานที่ดีงบประมาณก็ควรที่จะต้องสูงตามไปด้วย ในส่วนนี้อาจจะบอกนักออกแบบไปก่อนหรือให้นักออกแบบประเมินมาก็ได้
5 ข้อที่ได้อ่านมานั้นเป็นเพียงแค่วิธีการบรีฟงานแบบไม่กว้างและแคบจนเกินไป สามารถนำ 5 ข้อนี้ไปลองปรับกับการทำงานจริงได้ ลองนำไปบรีฟกับนักออกแบบจริงๆแล้วจะรู้ได้เลยว่ารูปแบบการทำงานจะง่ายกว่าเดิม