‘ฟอนต์’ นับเป็นอีกสิ่งสำคัญในการสื่อสาร โดยเฉพาะเมื่ออยู่บนงานกราฟิก เนื่องจากฟอนต์สามารถส่งผลต่อการรับรู้ และภาพลักษณ์ของแบรนด์ได้โดยตรง เพราะฉะนั้นจะเอาฟอนต์อะไรก็ได้ไม่ได้!
วันนี้ RAiNMaker เลยพามาส่อง 6 แบรนด์ดังว่าเขาใช้ฟอนต์อะไรกัน และทำไมถึงต้องเลือกใช้ฟอนต์แบบนี้ มาดูไปพร้อมกันเลยดีกว่าค่ะ
Grab
- Grab Inline
สำหรับ Grab เลือกใช้ฟอนต์ของตัวเอง ที่มีเอกลักษณ์ชัดเจน เพื่อสร้างการจดจำ พร้อมเพิ่มความสนุกสนานให้กับชิ้นงานไม่ให้ดูน่าเบื่อด้วยฟอนต์ที่มีหลายเส้น แถมยังล้อไปกับโลโก้ที่คนคุ้นเคย เพื่อใช้เน้นข้อความในส่วนที่สำคัญ
- Prompt
ส่วนอีกฟอนต์ คือ ฟอนต์ที่คล้ายกับ Prompt เป็นฟอนต์ที่ไม่มีหัว และขอบมน ทำให้ดูเรียบง่าย ทันสมัย แต่ก็ยังคงความเป็นทางการไว้ด้วย เพื่อใช้ในการสื่อสารให้ผู้คนรู้สึกสบายตาเมื่ออ่าน
Bar B Q Plaza
- BBQ Plaza Rounded
ด้วยบุคลิกขี้เล่น และเป็นกันเอง จึงเลือกใช้ฟอนต์ขอบมน และเชิญชวนให้อ่าน ที่สำคัญฟอนต์ประเภทนี้ยังเหมาะสำหรับแบรนด์ และสินค้าที่เป็นอาหาร เกี่ยวกับเด็ก หรือครอบครัวอีกด้วย
- Noto Sans Thai
ส่วนของข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ การใช้ฟอนต์ที่ไม่มีหัว ทำให้เกิดความรู้สึกถึงความเรียบง่าย และเป็นสากล แต่ก็แฝงไปด้วยความทันสมัย
CPALL
- DB Heavent
เพิ่มความเป็นทางการขึ้นมาหน่อยกับฟอนต์ตระกูล DB Heavent ที่ให้ความรู้สึกเรียบง่าย และเป็นมิตรกับผู้อ่าน
- Mali
ผสมผสานกับฟอนต์มีหัวที่แอบมีความเหมือนตัวหนังสือในการ์ตูน เพื่อเพิ่มความขี้เล่น อ่านง่าย และเน้นความสนุกสนาน เป็นกันเองมากขึ้น
KFC
- Kittithada
ใช้ตัวหนาเพื่อดึงความสนใจให้คนหยุดอ่านในส่วนที่ต้องการเน้นย้ำ และฟอนต์ขอบมนให้ความรู้สึกเป็นมิตร ใช้การเล่นตรงขนาดและสีของฟอนต์เพื่อสร้างความแตกต่างของข้อความ
KBank
- Noto Sans Thai
ฟอนต์ที่ไม่มีหัวให้ความรู้สึกถึงความเรียบง่าย และเป็นสากล มีความเป็นทางการ แต่ก็แฝงไปด้วยความทันสมัย เหมาะสำหรับองค์กรที่ต้องใช้ความน่าเชื่อถือ เหมาะกับข้อมูล
Tops Thailand
- Sukhumvit
ฟอนต์สไตล์ทันสมัย อ่านง่าย และขอบมน ทำให้ดูเรียบง่าย แต่ก็ยังคงความเป็นทางการไว้ด้วย ใช้ความหนาบางของฟอนต์ในการสร้างความแตกต่าง
จะเห็นว่าแต่ละแบรนด์ที่ยกตัวอย่างมามักเลือกใช้ฟอนต์ไม่เกิน 2 ฟอนต์เท่านั้น แต่จะไปเล่นความแตกต่างตรงขนาด ความหนาบาง และสี เพื่อให้เกิดมิติแทน เนื่องจากหากใช้ฟอนต์หลายชนิดมากเกินไป จะทำให้คนอ่านเกิดความสับสน ไม่รู้ว่าต้องโฟกัสตรงไหนดี แถมยังทำให้งานกราฟิกออกมาคนละทิศคนละทางได้อีกด้วย
ดังนั้นในการสื่อสารควรจะใช้ฟอนต์เต็มที่แค่ 2-3 ชนิดเท่านั้น และใช้ตัวใหญ่ ตัวหนา เพื่อเน้นเฉพาะจุดสำคัญเท่าที่จำเป็นพอ ส่วนฟอนต์ที่เลือกใช้ก็ควรเป็นฟอนต์ที่เข้ากับภาพลักษณ์ของแบรนด์ และที่สำคัญคือต้องเป็นมิตรกับผู้อ่าน ทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าอ่านง่าย สบายตา เป็นต้น