ช่วงสิ้นปีแบบนี้ก็มักจะมีบทความประเภทที่บอกว่า “สิ่งที่ควรทำในปีต่อไปคืออะไร” แต่หลังจากที่ RAiNMaker ได้รับเกียรติเป็นส่วนหนึ่งที่ได้เข้าร่วมงานสื่อมวลชนของ MediaDonuts by Entravision ประเทศไทย ที่ได้เปิดเผยถึงประเด็นที่น่าสนใจในมุมกลับอย่าง “สิ่งที่นักการตลาดควรเลิกทำในปี 2022”
ซึ่งทาง MediaDonuts ก็ได้รวบรวมคำแนะนำและจับตาดูเทรนด์การตลาดต่าง ๆ มาตลอดทั้งปี วันนี้เราเลยขอหยิบคำแนะนำเหล่านั้นมาแชร์กับนักการตลาด แบรนด์ และครีเอเตอร์ได้รู้ไว้ก่อน เพื่อจะได้เลิกทำสิ่งที่ผิด และเตรียมตัวกำหนดแนวทางการทำการตลาดแบบใหม่ในปีต่อไป โดยมีประเด็นสำคัญ 6 ข้อ ดังนี้
ทำ Purpose-driven marketing แค่ผิวเผิน
นักการตลาดและหลายแบรนด์ยังคงสื่อสาร Purpose เป็นแค่แคมเปญการตลาดแต่ละแคมเปญไป แต่ทางที่ดีคือควรสื่อสารและใช้ Purpose ออกมาจากความเชื่อที่แท้จริง ผ่านกลยุทธ์ และการลงมือทำให้เห็นอย่างต่อเนื่อง
เช่น การนำประเด็นต่าง ๆ ในสังคมมาสื่อสารการตลาด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ สิ่งแวดล้อม ความยั่งยืน ความเท่าเทียม หรือสิทธิมนุษยชน เป็นต้น เนื่องจากปัจจุบันความคาดหวังของผู้บริโภคได้เปลี่ยนไปแล้ว จากที่เคยคาดหวังให้แบรนด์ต้องทำแบบนั้นแบบนี้ ผู้บริโภคจะจับตาและคอยดูผลลัพธ์ของแบรนด์มากกว่า
ด้วยโลกออนไลน์ที่เปิดกว้างขึ้น ทำให้ผู้บริโภคเองสามารถเข้าถึงข้อมูลได้หลากหลายมากขึ้น จึงทำให้ผู้บริโภครู้ทันแบรนเด์ในเรื่องของการทำการตลาดแบบ Purpose ว่าสิ่งไหนที่ทำด้วยความจริงใจ หรือแบบไหนที่ทำแค่ผิวเผินเพื่อลงไปเล่นกับกระแสเฉย ๆ
หากแบรนด์สามารถจับประเด็นต่าง ๆ มาทำ Purpose ที่รวมเข้ากับกลยุทธ์ของตัวเองได้อย่างลงตัว และต่อเนื่อง ก็จะสร้างความน่าเชื่อถือในสายตาผู้บริโภคได้มากขึ้น รวมถึงส่งผลต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์ในระยะยาวมากขึ้นอีกด้วย
โฟกัส KOL จนลืม KOC
ส่วนมากนักการตลาดและแบรนด์จะให้ความสนใจ และทุ่มไปยัง KOL (Key Opinion Leader) ซะมากกว่า แต่หารู้ไม่ว่า KOC (Key Opinion Customer) เป็นโอกาสใหม่ที่ดีของแบรนด์เลยก็ว่าได้
เพราะผู้บริโภคเริ่มมองหาความไม่สมบูรณ์แบบ ความธรรมดา ที่ทำให้รู้สึกเหมือนเห็นตัวเอง หรือเห็นความปกติ ความหลากหลาย ที่สามารถสัมผัสได้ผ่านคอนเทนต์ที่แบรนด์สื่อสารออกมา จึงเกิดเป็นค่านิยมใหม่ที่คนมองหาคนปกติที่มาสะท้อนพวกเขา จาก Influencer กลายเป็น Customer แทน
ซึ่งการใช้ลูกค้ามาเล่าเรื่องราวของแบรนด์แทน จะทำให้ผู้บริโภคมีความรู้สึกที่ดีต่อแบรนด์มากขึ้น เนื่องจากไม่ได้รู้สึกว่าถูกป้อนข้อมูลให้ต้องเชื่อ แต่กลับรู้สึกว่าคนที่กำลังพูดก็เป็นคนทั่วไปที่เป็นตัวแทนของตัวเองนั่นเอง
เพราะฉะนั้นแบรนด์ควรเลิกมองหาแต่อินฟลุเอนเซอร์กลุ่มใหญ่ แล้วลองหันกลับมามองลูกค้าที่เป็นคนปกติ เพื่อมาทำงานร่วมกับอินฟลูเอนเซอร์ในแคมเปญมากขึ้นดีกว่า
ใช้ Call-to-action เน้นคลิกอย่างเดียว
Call-to-action เป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคคลิกเข้าไปซื้อสินค้าก็จริง โดยเฉพาะกับช่วงโควิดที่แทบทุกอย่างต้องเปลี่ยนมาทำแบบออนไลน์ทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตามในปี 2022 นที่จะถึงนี้ ทิศทางคอนเทนต์จะเน้นไปที่การกระตุ้นยอดขาย ที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นกว่าเดิม และเน้นการเล่าเรื่องมากขึ้น
แทนที่จะทำแต่ภาพนิ่งพร้อมใส่ปุ่ม Call-to-action อาจต้องใช้การเล่าเรื่องแบบ Shoppable Storytelling เข้ามาช่วยมากขึ้น ที่เห็นได้ชัดบน TikTok ที่ผู้คนรับชมคอนเทนต์วิดีโอสั้นกันมากขึ้นนั่นเอง
ทำ First-Party Data อย่างไม่ครอบคลุม
จากกระแส Cookie-less ที่กำลังเริ่มตื่นตัว ทำให้การเก็บ Data ด้วย Third-Party Data อาจเป็นเรื่องที่ยากขึ้น จึงทำให้นักการตลาดและแบรนด์หลายคนหุนหันพลันแล่นลงไปเก็บและทำ First-Party Data โดยไม่ทันได้วางแผนให้ดีก่อน
ซึ่งประเด็นสำคัญอยู่ที่การวางแผนต่างหาก เพราะก่อนลงมือเก็บ Data ทุกครั้ง ควรจะมีจุดประสงค์ที่ชัดเจนกว่าจะเก็บข้อมูลเท่าไหร่ นำไปทำอะไร และนำไปเชื่อมต่อกับอะไร ถ้าสามารถวางแผนได้ครอบคลุมแล้ว การเก็บ First-Party Data จะไม่สูญเปล่าแน่นอน
บางคนยังมีความเข้าใจว่าจะต้องใช้ First-Party Data แต่เพียงอย่างเดียวจึงจะดีที่สุด แต่ความเป็นจริงแบ้วการบูรณาการข้อมูล โดยนำไปใช้ร่วมกับ Second-Party Data และ Third-Party Data มีโอกาสช่วยให้สามารถใช้ข้อมูลได้อย่างเป็นประโยชน์มากกว่า ดังนั้นจึงควรวางแผนให้ดีก่อนลงมือเก็บข้อมูล
ทำงานแบบเน้นแต่ Input-Output
นอกจากเรื่องของกลยุทธ์แล้ว เรื่องแนวคิดของการทำงานก็สำคัญไม่แพ้กัน ถ้ายังมัวแต่ทำงานแบบ Input-Output Based ที่แบรนด์คิดแนวทางคอนเทนต์ และส่งบรีฟให้เหล่าอินฟลูเอนเซอร์และครีเอเตอร์เท่านั้น โดยไม่ได้มีการทำงานร่วมกันแบบแลกเปลี่ยนความคิด หรือฟังความคิดเห็นของฝั่งอินฟลูเอนเซอร์และครีเอเตอร์เลย ก็อาจทำให้ชิ้นงานขาดความ Authentic ได้
อีกทั้งปี 2021 ที่ผ่านมานี้เราได้เห็นความร่วมมือมากขึ้น ทั้งกับแบรนด์และแบรนด์ อินฟลูเอนเซอร์และอินฟลูเอนเซอร์ รวมถึงแบรนด์และอินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งการทำงานในลักษณะนี้จะทำให้การตลาดมีผลลัพธ์ที่ดีขึ้นแน่นอน
เพราะทุกคนจะได้มีส่วนร่วมในการทำการตลาด ทุกคนคอยเอาของที่มีมาอุดรอยรั่วก่อนที่จะปล่อยคอนเทนต์หรือแคมเปญออกไป ทำให้สามารถต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่เดิมจากทีมการตลาดของแบรนด์ได้นั่นเอง
มองหาแต่คนที่เก่งเรื่อง Analysis จนลืม Synthesis
คนที่จะมาช่วยเติมเต็มทีมในปี 2022 อาจไม่ใช่แค่คนที่มีความสามารถในด้าน Analysis อย่างเดียวอีกต่อไป แต่คือคนที่ Synthesis หรือสามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีในมือได้อย่างสร้างสรรค์และมีคุณค่าต่างหาก
แต่หากเน้นไปที่การวิเคราะห์ข้อมูลเพียงอย่างเดียวอาจทำให้เราไม่สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านั้นได้อย่างคุ้มค่าเท่าที่ควร เพราะฉะนั้นการสังเคราะห์ข้อมูลจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะเปลี่ยนข้อมูลให้เป็นคุณค่า
ที่มา : ข่าวประชาสัมพันธ์ MediaDonuts