ในปัจจุบันต้องบอกเลยว่าออนไลน์ชอปปิงได้เติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะหลังจากช่วงกักตัวที่ไม่สามารถออกไปซื้อของด้วยตัวเองได้ ผู้คนก็ติดนิสัยซื้อของออนไลน์กันไปเสียแล้ว
และแน่นอนว่าพอยิ่งตลาดออนไลน์เติบโตขึ้น คู่แข่งในตลาดก็เยอะขึ้นเช่นเดียวกัน และจุดสำคัญที่เป็นส่วนช่วยให้คนสนใจผลิตภัณฑ์ก็หนีไม่พ้นรูปนี่แหละ เมื่อไม่สามารถไปดู และสัมผัสสินค้าได้โดยตรง กระบวนการในการดีไซน์รูปผลิตภัณฑ์จึงเป็นสิ่งสำคัญ และเป็นหนึ่งในปัจจัยที่คนจะตัดสินใจเข้ามาดูผลิตภัณฑ์เลยล่ะ
และ 7 ดีไซน์ที่ RAiNMaker จะนำมาแชร์กันวันนี้ ไม่ได้ใช้ได้แค่เฉพาะแบรนด์ หรือร้านค้าเท่านั้น แต่เหล่าครีเอเตอร์ หรืออินฟลูเอนเซอร์ที่ต้องรีวิวสินค้า รวมถึงการทำคอนเทนต์ต่างๆ ที่ต้องมีการถ่ายภาพผลิตภัณฑ์ก็สามารถใช้ตัวอย่างดีไซน์เหล่านี้ไปปรับใช้ได้ เพราะฉะนั้นเซฟเก็บไว้ใช้ได้เลยค่ะ!
Modern Still Life
เริ่มกันด้วยแบบแรก เป็นการถ่ายภาพนิ่งให้ออกมาดูทันสมัย ถึงแม้ว่าภาพรวมจะดู เรียบ และแสนจะมินิมอล แต่อาศัยการจัดการจัดองค์ประกอบภาพให้ออกมาดูมีอะไร โดยหลักๆ จะไม่ต้องใช้พื้นหลังสีพื้น ค่อนข้างเรียบ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์โดดเด่นเป็นจุดโฟกัส
การถ่ายภาพแนวนี้จะไม่เน้นการจัดองค์ประกอบที่ซับซ้อนมากนัก และพร็อปประกอบฉากก็ควรเป็นสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ หรือเป็นของที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน ก็จะทำให้เกิดภาพคุ้นชิน และสามารถเกิดความประทับใจได้ตั้งแต่แรกเริ่ม
อีกหนึ่งจุดที่สำคัญก็คือการใช้สี อาจจะใช้สีโทนเดียวกัน หรือคู่สีที่ตรงข้ามกันก็ได้ ขึ้นอยู่กับธีมที่กำหนด ไม่ให้แตกธีมไปมากก็พอ และควรจัดขนาด และ Texture ให้สมดุลกัน
จัดผลิตภัณฑ์เป็นแพตเทิร์น
ในส่วนของคนที่ไม่อยากไปสายมินิมอล คลีนๆ การจัดเป็นแพตเทิร์น ให้รู้สึกเหมือนเป็นการจัดวางอย่างเป็นระเบียบไปเรื่อยๆ แบบไม่รู้จบ ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยให้ภาพออกมาดูน่าสะดุดตามากขึ้น ทั้งยังดูสะอาดและทันสมัยอีกด้วย
ใช้สีพาสเทลช่วย
การใช้สีพาสเทลเข้ามาช่วยจะลดความฉูดฉาดลงได้ และไม่ได้ทำให้ภาพดูเป็นระเบียบ เรียบง่ายเกินไปขนาดนั้น แต่จะให้ความรู้สึกที่สดใส แต่ไม่ดูน่าเบื่อ และในปัจจุบันก็มีการใช้ในผลิตภัณฑ์ของผู้ชายมากขึ้นเช่นเดียวกัน
แบ่งช่องรูปภาพ
การแบ่งภาพด้วยขอบ จะช่วยให้ภาพเป็นระเบียบมากขึ้น โดยเฉพาะภาพที่แสดงบนหน้าเว็บไซต์ เพราะจะสามารถช่วยแบ่งสัดส่วนไม่ให้ภาพรกจนเกินไป และจะเหมาะกับผลิตภัณฑ์จำพวก Streetwear Brand, Sports gear และ Skincare เป็นต้น
Product Anatomy
เมื่อต้องการจะบรรยายข้อมูล หรือสรรพคุณของผลิตภัณฑ์ โดยการใช้พื้นหลังเรียบๆ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์โดดเด่น คนจะได้โฟกัสที่ตัวผลิตภัณฑ์ และสรรพคุณได้มากขึ้น
ถ่ายให้เห็นเท็กเจอร์จริง
เนื่องจากเป็นภาพที่ใช้ประกอบการชอปปิงออนไลน์ ลูกค้าไม่มีโอกาสในการเห็น หรือสัมผัสสินค้าได้จริง จึงต้องถ่ายภาพที่สามารถให้ประสบการณ์ที่ดีกับลูกค้าในการเลือกผลิตภัณฑ์ได้ ทำให้สามารถจินตนาการถึงเท็กเจอร์ของผลิตภัณฑ์ได้ โดยการถ่ายแบบซูมระยะใกล้ ด้วยคุณภาพความละเอียดสูง เพื่อให้เห็นเท็กเจอร์อย่างชัดเจน
ภาพถ่ายผลิตภัณฑ์แบบประติมากรรม
หรือมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Sculpturesque product photography เป็นการใช้ศิลปะ หรือสถาปัตยกรรมเข้ามาช่วยจัดองค์ประกอบภาพ และเป็นการจัดวางสไตล์มินิมอล ที่มีการใช้ลูกเล่นเรื่องรูปทรง การจัดวางมุม สีสันสดใส และการใช้สอยพื้นที่ให้ออกมาเป็นศิลป์มากที่สุด
ที่มา : whats the host