หลายคนรู้วิธีการเตรียมการในการวางกลยุทธ์ Social Media Marketing อย่างไรเพื่อให้ผลออกมาดีที่สุด แต่บางครั้งก็อาจหลงลืมการวัดผลที่ครบถ้วน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการประเมินว่างานที่ทำนั้นปังหรือบ้ง
เพราะฉะนั้นเราจึงควรมีการกำหนด KPI ไว้แทร็กผลเพื่อทำความเข้าใจว่าอันไหนเหมาะไม่เหมาะกับแคมเปญ จะได้นำไปปรับใช้กับกลยุทธ์ต่อไปในอนาคตนั่นเอง วันนี้ RAiNMaker เลยพามาดู KPI 7 ข้อที่ควรแทร็ก เอาไว้เช็กผลงานบนโซเชียลมีเดียมาฝากกันค่ะ
Reach และ Impression
ยอด Reach ถือเป็นตัวชี้วัดที่พื้นฐานสำหรับการทำ Social Marketing เลยก็ว่าได้ เพราะเป็นหนึ่งในตัววัดจำนวนคนที่เห็นโพสต์ของคุณบนโซเชียลมีเดีย โดยไม่นับการเห็นซ้ำ
ส่วนยอด Impression คล้ายกับยอด Reach ตรงนับจำนวนของคนที่เห็นโพสต์ของคุณ แต่จะนับรวมแม้กระทั่งว่าหนึ่งคนจะเห็นโพสต์นั้นหลายครั้งก็ตาม ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นตัวบ่งบอกว่าคอนเทนต์ประเภทไหนตอบโจทย์กับกลุ่มเป้าหมายได้ดี
ซึ่งคอนเทนต์ประเภทกิจกรรมร่วมสนุก อย่างการแจกของ (Giveaway) หรือ UGC (User-generated Content) มีแนวโน้มที่จะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดีกว่า
Engagement
สิ่งที่สำคัญมากกว่ายอด Reach และ Impression ก็คือยอด Engagement หรือยอดการมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นตัววัด KPI หลักของโพสต์บนโซเชียลมีเดียเลยก็ว่าได้ โดยยอด Engagement เป็นตัววัดปริมาณคนที่มีส่วนร่วมกับโพสต์ของคุณ ไม่ว่าจะการคลิก กดไลก์ กดแชร์ คอมเมนต์ หรือแม้แต่การกดบันทึกโพสต์ เป็นต้น
การที่โพสต์มียอด Engagement เป็นตัวชี้ให้เห็นว่าคอนเทนต์ของคุณเข้าถึงถูกกลุ่มเป้าหมาย เพราะถ้าหากยอด Reach และ Impression สูง แต่ในทางกลับกันยอด Engagement กลับน้อยจนต่างกันอย่างเห็นได้ชัด
นั่นอาจแปลว่าคุณอาจเข้าไม่ถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการอย่างแท้จริง หรือคอนเทนต์ก็อาจไม่ได้เชื่อมโยงกับพวกเขามากพอจนทำให้เกิดการมีส่วนร่วมนั่นเอง
อีกอย่างที่ควรจำไว้คือ ยอด Engagement มีความสำคัญกับระบบอัลกอริทึมค่อนข้างมาก เนื่องจากเมื่อโพสต์มียอด Engagement ที่สูง อัลกอริทึมก็จะคิดว่าโพสต์นั้นมีประโยชน์ และมีความเชื่อมโยงกับผู้คนเลยดันโพสต์นั้นให้คนเห็นในวงกว้างมากขึ้น
Website Traffic
ถึงแม้ว่ายอดการเข้าถึงและยอด Engagement โพสต์จะดี แต่ไม่ได้แปลว่าการเข้าชมยอดเว็บไซต์จะดีเสมอไป หากยอดการเข้าถึงเวบไซต์ต่ำในขณะที่ยอดการเข้าถึงโพสต์สูง อาจหมายความว่าคุณไม่ได้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างแท้จริง
แถมยังอาจไม่ได้บรรลุเป้าหมายในส่วนของการเข้าชมเว็บไซต์ หรือการขายได้ในที่สุด นี่จึงเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมถึงควรแทร็กยอดการเข้าชมเว็บไซต์ด้วยนั่นเอง
Lead
คือการที่กลุ่มเป้าหมายสนใจในเว็บไซต์ หรือสินค้าและบริการของคุณจนยอมให้ข้อมูลส่วนตัว เพื่อเป็นช่องทางในการติดต่อระหว่างตัวเองและแบรนด์ โดยการเก็บ Lead นั้นก็จะมีหลายหลายระดับตั้งแต่การกรอกแบบฟอร์มข้อมูลส่วนตัวสั้น ๆ ไปจนถึงการกรอกข้อมูลเพื่อซื้อสินค้าและบริการ
นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ใครหลายคนบอกว่าข้อมูล Lead นั้นมีมูลค่าสูง เพราะหากคุณมีข้อมูลตรงนี้ ก็จะทำให้เข้าใจกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น และยังสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปวิเคราะห์เพื่อต่อยอดกลยุทธ์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ในอนาคตอีกด้วย
Brand Mention และ Social Listening
การที่มีคนพูดถึง หรือแท็กแบรนด์มา นั่นแปลว่าโพสต์ของคุณเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และกระตุ้นให้พวกเขากระทำบางอย่างเพื่อเป็นการแสดงการมีส่วนร่วมกลับมาได้ ซึ่งคุณสามารถใช้โอกาสตรงนี้ในการสร้างบทสนทนาเพื่อต่อยอดไปสู่เป้าหมายอย่างการเข้าชมเว็บไซต์ ดาวน์โหลดแอป หรือการขายได้เลย
ในส่วนของ Social Listening หรือการฟังเสียงจากผู้คนในโซเชียล ก็เป็นอีกตัวนึงที่ช่วยวัดได้ว่าคนอื่น ๆ มองคุณอย่างไร หรือคุณเป็น Top-of-mind สำหรับกลุ่มเป้าหมายหรือไม่
Conversion
ยอด Conversion หรือยอดการที่กลุ่มเป้าหมายตัดสินใจกระทำบางอย่างตามเป้าที่แบรนด์กำหนดไว้ ไม่ว่าจะเป็นการคลิกเข้าเว็บไซต์ การกดซื้อสินค้า หรือดาวน์โหลดแอป เป็นต้น ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดว่าผู้คนเกิดการกระทำบางอย่างผ่าน CTA ที่เราทิ้งไว้อย่างไรบ้าง
ที่เห็นได้ชัดในปัจจุบันก็คือ การทำ Affiliate Marketing ที่มีการใส่ Affiliate Link ซึ่งจะสามารถวัดยอดขายจากการที่คนกดเข้าไปซื้อของได้ เป็นต้น
สิ่งนี้จึงเป็นตัวชี้วัดที่ควรติดตามผลทุกครั้ง เนื่องจากเปรียบเสมือนการวัดผลว่าสามารถปิดจ๊อบขายของในครั้งนี้ได้มากน้อยแค่ไหนนั่นเอง
Return on Ad spend (ROAS)
ในส่วนผลตอบแทนจากค่าโฆษณา กรณีที่มีการออกค่าใช้จ่ายในการโปรโมตไปก็ควรคิดค่า Return on Ad spend (ROAS) เพื่อให้รู้ว่าการโปรโมตโฆษณาที่ทำออกไปนั้นมีประสิทธืภาพหรือไม่ โดยวิธีการคำนวณดังนี้
รายได้รวมจากแคมเปญโฆษณา / ต้นทุน X 100
ซึ่งการวัดค่า ROAS จะสามารถบอกถึงจำนวนเงินที่ได้กลับมา รวมถึงเป็นตัวไกด์ภาพรวมในการวางแผนโปรโมตในอนาคตได้อีกด้วย
ที่มา: giraffe social media