แน่นอนว่ายุคนี้เป็นยุคของข้อมูลข่าวสารที่แท้จริง โดยเฉพาะบนโลกออนไลน์อย่างโซเชียลมีเดียที่เป็นคลังข้อมูลข่าวสารมหาศาลจนเลือกอ่านกันไม่ไหว ไหนจะมีข่าวจริงข่าวปลอมที่ต้องนั่งกรองกันอีก ผู้อ่านก็คงใช้ความคิดวิเคราะห์กันมากขึ้นในการรับสาร เพราะสมัยนี้อ่านปุ๊บแชร์ปั๊บไม่ได้ ขืนแชร์ Fake news ไปล่ะก็เป็นเรื่อง!
วันนี้ RAiNMaker เลยอยากมาแนะนำทุกคนในฐานะคนสร้างคอนเทนต์ ว่าเราเองก็ควรจะมีวิธีในการผลิตคอนเทนต์ออกมาให้น่าเชื่อถือ และทำให้คนอ่านรู้สึกไว้วางใจได้ในการเลือกเสพข้อมูล เราเลยสรุปออกมาเป็น 7 วิธีพื้นฐานที่ควรทำ เพื่อเสริมให้คอนเทนต์น่าเชื่อถือมากขึ้นนั่นเองค่ะ จะมีอะไรบ้างลองไปดูกันเลยดีกว่า
อ้างอิงข้อมูลที่เชื่อถือได้
อย่างแรกเมื่อพูดถึงความน่าเชื่อถือของข้อมูล ‘แหล่งอ้างอิง’ คงเป็นสิ่งแรกๆ ที่ทุกคนนึกถึงเลยใช่มั้ยคะ? เพราะเรามักจะถูกสอนมาว่าให้ใส่แหล่งอ้างอิงทุกครั้งเมื่อหาข้อมูล ตั้งแต่สมัยเรียนที่ทำรายงานส่งอาจารย์แล้ว
สำหรับการทำคอนเทนต์ก็เช่นเดียวกันค่ะ แน่นอนว่ากว่าจะทำคอนเทนต์ออกมา เทียนเขียนได้บทความนึง เราจะต้องมีการค้นคว้าข้อมูลเพื่อนำความรู้บางส่วนมาประกอบบทความ เพราะฉะนั้นเราควรจะใช้แหล่งแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ตรวจสอบได้ และได้รับการยอมรับ อย่างคำว่าเขาว่ากันว่า… หรือเขาบอกว่า… นี่เลี่ยงได้เลี่ยงเลยนะคะ! เพราะนอกจากจะหาแหล่งอ้างอิงไม่ได้แล้ว ยังไม่รู้อีกว่าข้อมูลนั้นจริงหรือเปล่า
นอกจากความน่าเชื่อถือแล้ว ข้อมูลที่อ้างอิงก็ควรเป็นข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน เพื่อให้เกิดความผิดพลาดของข้อมูลน้อยที่สุดนั่นเองค่ะ เพราะในระหว่างนั้นอาจมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น หากไม่ใช้ข้อมูลล่าสุดอาจทำให้เราเป็นเหมือนแอปพลิเคชันที่ไม่ได้อัปเดตก็ได้นะคะ
และอีกอย่างที่หลายคนพลาด! บางทีค้นหาข้อมูลแล้วเจอเขาอ้างอิงต่อกันมาอีกที ก็ใช้ทฤษฎีเจอกันไหนใช้อันนั้นเลย โดยที่ไม่ได้กดเข้าไปดูที่แหล่งอ้างอิงต้นฉบับที่แท้จริงว่ามาจากไหน การเข้าไปหาต้นฉบับของแหล่งอ้างอิงจริงๆ จะช่วยให้เราได้รู้ที่มาที่ไปของข้อมูลอย่างลึกซึ้งมากขึ้น รวมถึงยังเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับเรา และยังเป็นการให้เคตดิตโดยตรงกับแหล่งข้อมูลอีกด้วย
หาเหตุผลมาสนับสนุนสิ่งที่นำเสนอ
การพูดลอยๆ โดยไม่มีเหตุผล ข้อมูล หรือสถิติมาสนับสนุน อาจทำให้คำพูดของเราดูไม่มีน้ำหนักได้ เพราะฉะนั้นอาจลองยกตัวอย่าง Case Study, โควตต่างๆ จากบุคคลที่เชื่อถือได้ หรือเป็นบทความสัมภาษณ์ความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ เป็นต้น เพื่อเป็นการสนับสนุนให้คอนเทนต์มีน้ำหนักและความน่าเชื่อถือมากขึ้นนั่นเอง
ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้ทั้งคนทำคอนเทนต์ และฝั่งผู้เชี่ยวชาญเองก็ได้ประโยชน์แบบวินวินทั้งสองฝ่าย เราได้ความรู้ ความคิดในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญมาถ่ายทอดให้ผู้อ่านต่อ และผู้ชาญเองก็จะได้มีพื้นที่อยู่บนสื่อของเรา ทำให้เข้าถึงผู้คน และเป็นที่รู้จักได้มากขึ้นนั่นเอง
นำเสนอในมุมที่แตกต่าง และสะท้อนความเป็นตัวเอง
การที่เราแตกต่างออกมา จะทำให้สามารถถ่ายทอดมุมมองใหม่ๆ ให้กับผู้อ่านได้ ซึ่งบางทีอาจทำให้เรากลายเป็นผู้รู้หรือผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ ไปเลยก็ได้ เหตุผลอีกอย่างหนึ่งก็เพื่อกันไม่ให้เกิดการผลิตคอนเทนต์ซ้ำนั่นเอง ลองนึกสภาพว่าผู้อ่านเข้ามาอ่านคอนเทนต์เราแล้วเกิดความรู้สึกว่า “เหมือนกับเว็บเมื่อกี้เลย” ผู้อ่านจะยังมีความเชื่อมั่นในเราอยู่หรือเปล่า?
ใช้ภาษาให้ถูกต้องและเหมาะสม
อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญมากๆ ในการสื่อสารก็คือ ‘ภาษา’ นั่นเอง การใช้ภาษาให้เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นระดับภาษา โทน การเขียนให้ถูกต้อง ล้วนแต่ส่งผลต่อความเชี่ยวชาญและความน่าเชื่อถือในการทำคอนเทนต์ทั้งนั้น ลองนึกสภาพว่าเราอ่านข้อมูลเชิงวิชาการอยู่แต่เจอคำผิดเยอะมาก คุณจะยังรู้สึกว่าคอนเทนต์นั้นน่าเชื่อถือ 100% อยู่มั้ย?
เคารพผู้อ่าน
สำหรับยุคนี้ที่เป็นยุคของผู้อ่าน เนื่องจากมีสิทธิ์เลือกสื่อและเลือกรับข้อมูลได้มากขึ้น เราในฐานะคนผลิตคอนเทนต์จึงควรผลิตคอนเทนต์ที่นำเสนอแต่ความจริงและความถูกต้อง เพื่อเป็นการเคารพความเชื่อใจของผู้อ่านนั่นเอง
ในด้านผู้อ่านเองก็มีความเข้าใจสื่อมากขึ้น และพอจะแยกแยะได้ว่าคอนเทนต์อันไหนน่าเชื่อถือหรือไม่น่าเชื่อถือ เพราะฉะนั้นก่อนเผยแพร่คอนเทนต์ จึงควรตรวจสอบข้อมูลให้ละเอียดถี่ถ้วนให้มั่นใจว่าถูกต้อง ตรวจสอบได้ และเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านจริงๆ เพื่อไม่ให้เป็นการทำลายความเชื่อใจของผู้อ่าน
ลงคอนเทนต์อย่างสม่ำเสมอ
การลงคอนเทนต์ให้สม่ำเสมออาจเป็นสิ่งที่หลายคนอาจไม่ทันนึกถึง แต่การ active อย่างสม่ำเสมอนี้ จะเป็นตัวชี้ให้เห็นว่าเรายังคงทำหน้าที่ เพื่อผลิตคอนเทนต์ที่เป็นประโยชน์ออกมาให้ผู้อ่านอยู่เสมอ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นและเชื่อถือว่าคุณจะสามารถตามทันข่าวสาร คนอ่านสามารถรอติดตามข่าวสารจากเพจนี้ได้ เป็นต้น ซึ่งอาจนำมาซึ่งความไว้ใจ และการเป็นแฟนคลับตัวจริงในที่สุด
เกี่ยวข้องกับการขายน้อยที่สุด
คอนเทนต์ที่มีการพูดถึงการขายสินค้าน้อยกว่าจะสามารถช่วยโน้มน้าวคนได้ดีกว่า คือคนจะเชื่อมากกว่าเมื่อไม่ใช่คอนเทนต์ที่แฝงการโฆษณาหรือการขาย แต่ใช่ว่าห้ามทำคอนเทนต์ขายของ เพียงแต่อยากแนะนำว่าทางที่ดีให้เลี่ยงข้อความชวนเชื่อที่เกินจริง นำเสนอสิ่งที่เป็นความจริง ตรงไปตรงมา และอยู่บนพื้นฐานของความจริงใจ จะช่วยให้ผู้อ่านเข้าถึงเราได้ดีมากกว่า
ที่มา: Brandpoint