News

Avatar

doyoumind August 4, 2021

‘แอดมินเพจ’ อาชีพที่ไม่ใช่ใครก็เป็นได้ !! รวม 8 สกิลที่แอดมินเพจควรมี

“อาชีพง่าย ๆ ที่ใครก็เป็นได้” เป็นอีกหนึ่งประโยคที่ได้ยินบ่อย ๆ เมื่อพูดถึงอาชีพ ‘แอดมินเพจ’ เพราะหลายคนคิดว่าแค่การตอบแชตกับดูแลเพจมันจะไปยากอะไร แต่หารู้ไม่อาชีพนี้กลับเป็นอาชีพที่ต้องแบกรับความรับผิดชอบสูงไม่แพ้อาชีพอื่น และไม่ใช่อาชีพที่ใครก็เป็นได้

หน้าที่ของแอดมินเพจ หรือที่รู้จักกันในฐานะของผู้ดูแลเพจเฟซบุ๊กนั้น ไม่ได้มีแค่การตอบแชตแต่เพียงอย่างเดียว แต่แอดมินยังต้องรับมือกับทุกสถานการณ์ที่ผู้คนบนโลกออนไลน์ทักเข้ามา ไม่ว่าจะทั้งทางอินบ็อกซ์ หรือคอมเมนต์บนหน้าเพจ

แอดมินจึงเปรียบเสมือนคนคัดกรองเนื้อหา ที่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาต่าง ๆ เป็นด่านแรก รวมถึงต้องรับมือกับทุกอารมณ์และทุกสถานการณ์ให้ได้ นอกจากนี้ แอดมินเพจยังมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างภาพลักษณ์ให้กับเพจหรือองค์กร ผ่านการสื่อสารในช่องทางต่าง ๆ อีกด้วย

ยกตัวอย่างบางกรณี ที่คำพูดเพียงประโยคเดียวของแอดมินเพจ สามารถส่งผลกระทบถึงภาพลักษณ์ของแบรนด์หรือองค์กรได้อย่างมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นการใช้คำพูดตอบกลับอย่างไม่เหมาะสม เต็มไปด้วยอารมณ์ประชดประชัน หรือการขาดไหวพริบ การคิดไตร่ตรองก่อนสื่อสาร เป็นต้น

ซึ่งความผิดพลาดเหล่านั้นก็นำมาซึ่งความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าแอดมินเพจคนเดียวจะรับไหว จนกลายเป็นบทเรียนสำคัญและตอกย้ำทุกคนว่าอาชีพแอดมินเพจไม่ใช่อาชีพที่ใครก็เป็นได้จริง ๆ

จึงเรียกได้ว่าแอดมินเพจ เป็นอาชีพที่รวมทั้งประชาสัมพันธ์ที่คอยส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับเพจ เป็นเหมือนศูนย์บริการลูกค้าที่คอยตอบปัญหาหรือข้อสงสัยต่าง ๆ รวมถึงอาจดูแลในส่วนของการขายในกรณีที่เป็นแบรนด์หรือธุรกิจ เพราะฉะนั้นคนที่จะมาเป็นแอดมินเพจ จึงจำเป็นต้องมีหลากหลายทักษะเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดนั่นเอง

8 สกิลที่แอดมินเพจควรมี

1. ตอบแชตให้เร็ว

เพราะความไวเป็นเรื่องของปีศาจ! อย่าให้คนที่ถามต้องรอนาน เพราะการปล่อยให้คนถามรอนานอาจเกิดความไม่ประทับใจ และไม่พอใจในการบริการได้ ยิ่งถ้าเป็นแบรนด์หรือธุรกิจที่ขายสินค้าและบริการ การต้องรอคำตอบเกี่ยวกับข้อมูลสินค้าหรือการสั่งซื้อเป็นเวลานาน อาจส่งผลเสียไปจนถึงกรณีที่ลูกค้าหนีไปหาคู่แข่งได้

นอกจากนี้การตอบแชตเร็วยังเป็นหนึ่งในมารยาทพื้นฐานในการสื่อสาร และยังแสดงให้เห็ถึงความใส่ใจของเพจต่อผู้ติดตามอีกด้วย

2. สร้างคาแรกเตอร์เฉพาะตัวที่เป็นไปตามแนวทางของเพจ

สร้างคาแร็กเตอร์การสื่อสารของแอดมินให้โดดเด่น และแตกต่าง เพื่อที่จะได้เป็นที่จดจำได้มากกว่า แต่ต้องคำนึงถึงแนวทางของเพจ เช่น ถ้าแนวทางของเพจคือการพูดคุยแบบเป็นกันเอง แอดมินเองก็ควรมีคาแร็กเตอร์ที่สนุกสนานและเป็นกันเอง หากแนวทางเพจเป็นแนวให้ความรู้และข้อมูลที่จริงจังขึ้นมาหน่อย แอดมินก็อาจต้องมีคาแร็กเตอร์ที่ดูสุขุมและน่าเชื่อถือได้ เป็นต้น

ทั้งนี้อาจมีรายละเอียดเล็กน้อยอื่น ๆ เช่น วลีฮิตประจำเพจ หรือสไตล์การตอบ การตบมุก ที่เป็นรูปแบบของเพจที่สามารถนำมาใช้ในการจัดการฐานะแอดมินเพจ เพื่อช่วยวส่งเสริมให้เอกลักษณ์ของเพจเด่นชัดขึ้นไปอีก

3. ใช้ภาษาและโทนในการสื่อสารถูกต้องเหมาะสม

เนื่องจากแอดมินเพจ เป็นตัวแทนในการสื่อสารกับผู้ติดตามทั้งหมด และภาษาก็เป็นสื่อกลางสำคัญ ดังนั้นการใช้ภาษาให้ถูกต้องและเหมาะสมจึงมีความจำเป็นต่ออาชีพนี้มาก ๆ ไม่ใช่แค่ความถูกต้องของหลักภาษาหรือระดับภาษาเท่านั้น

แต่ในที่นี้รวมถึงบริบทการใช้ภาษา การสื่อสาร ที่ควรจะถูกต้องครบถ้วน กระชับ และสื่อสารได้อย่างตรงจุด เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน และให้ผู้ติดตามได้ประโยชน์สูงสุดในการสื่อสารครั้งนั่นเอง

นอกจากนี้ภาษาหรือโทนที่ใช้ในการสื่อสาร สามารถอิงได้ตามแนวทางของเพจให้เหมาะสม เนื่องจากแอดมินเพจก็เปรีรยบเสมือนตัวแทนของเพจ และเพื่อคงความเป็นเอกลักษณ์ของเพจนั่นเอง

4. เข้าใจความหลากหลายของคนบนโลกออนไลน์

ด้วยความที่แอดมินเพจเป็นอาชีพที่ต้องเจอผู้คนและสถานการณ์หลากหลายรูปแบบที่พรั่งพรูเข้ามา การใช้ความเข้าอกเข้าใจผู้คนจะช่วยให้สามารถทำงานโดยอยู่บนพื้นฐานของเหตุผลได้ดีมากกว่าอารมณ์ และเลี่ยงไม่ให้เกิดการใช้อารมณ์ หรือคำพูดและการกระทำที่ไม่เหมาะสมต่อผู้ติดตามได้

เช่น เข้าใจความแตกต่างของผู้ติดตามในแต่ละช่วงอายุ บางครั้งผู้ใหญ่ที่มีอายุอาจไม่เข้าใจในบางอย่าง จึงต้องอธิบายละเอียดกว่า หรือบางกรณีผู้ติดตามอาจยังขาดวุฒิภาวะจึงอาจใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสมในการสื่อสาร เป็นต้น

หากไม่มีทักษะในการเข้าใจผู้อื่นมากพอ อาจทำให้ทำงานโดยใช้อารมณ์และความรู้สึกอยู่เหนือเหตุผลก็ได้ ซึ่งก็มีตัวอย่างให้เห็นอยู่บาง ในกรณีที่แอดมินเพจใช้อารมณ์ หรือคำพูดที่ไม่เหมาะสม เพียงแค่ประโยคเดียว ก็สามารถส่งผลกระทบถึงภาพลักษณ์ของเพจ ยิ่งถ้าเป็นธุรกิจ แบรนด์ หรือองค์กร ยิ่งอาจส่งผลเสียได้มากเลยทีเดียว

5. มีใจรักบริการ

การดูแลเพจ และคอยสื่อสารกับผู้คนอยู่ตลอดเวลา ทำให้อาชีพนี้ต้องการทักษะพื้นฐานอย่างการมีใจรักนักการบริการ เพื่อที่จะได้ทำงานได้อย่างราบรื่นมากยิ่งขึ้นนั่นเอง เนื่องจากเป็นงานที่ต้องรับมือและจัดการกับสิ่งต่าง ๆ มากมาย และเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารกับผู้คนโดยตรง หากไม่มีใจรักในการบริการอาจจะเกิดอุปสรรคในการทำงานได้ในภายหลัง เลวร้ายที่สุดอาจจะทำให้แสดงออกถึงความฝืนใจในการทำผ่านการสื่อสาร จนผู้อื่นสามารถรับรู้ถึงพลังนั้นได้

6. เป็นผู้รอบรู้ที่รู้จริง

เพราะต้องคอยตอบคำถาม ให้ข้อมูลและคำแนะนำต่าง ๆ อยู่เสมอ แน่นอนว่าต้องรู้จักข้อมูลที่เกี่ยวกับเพจเป็นอย่างดี รวมถึงข้อมูลรอบ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เพจทำเช่นกัน เพื่อที่จะได้รับมือได้กับทุกคำถามที่เจอ

แต่หากเจอคำถามหรือข้อสงสัยที่ไม่สามารถตอบได้ ณ ขณะนั้น ต้องรู้จักวิธีการรับมือ แก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้าไปก่อน และรีบประสานงานหาข้อมูลมาให้รวดเร็วที่สุด

7. คาดการณ์และวิเคราะห์สถานการณ์ได้ดี

ทักษะในการคาดการณ์สถานการณ์เป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับอาชีพนี้ เมื่อได้ชื่อว่าเป็นผู้ดูแลเพจต้องคอยสังเกตการณ์สิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเพจอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นฟีดแบ็กจากผู้ติดตาม สถานการณ์โดยรอบ เหตุการณ์ที่กำลังเป็นประเด็น

และที่สำคัญควรวิเคราะห์สถานการณ์หรือมองสถานการณ์ให้ออก เพื่อที่จะได้รู้ว่าต่อไปมีโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์แบบไหนขึ้นบ้าง จะได้เตรียมรับมือและจัดการได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ยังควรตามทันและรู้เทรนด์ เพื่อที่จะได้นำมาประยุกต์ใช้กับเพจให้เกิดประโยชน์สูงสุด

8. แก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้ดี ตัดสินใจได้เหมาะสมและฉับไว

เมื่อเกิดปัญหาต่าง ๆ แอดมินเพจเป็นคนแรกที่ต้องเผชิญหน้า จึงต้องรีบเข้ามาตอบรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในทันที และมีวิธีการแก้ไขหรือแผนสำรองไว้เสมอ ที่สำคัญคือต้องสามารถตัดสินใจได้อย่างเฉียบขาดในสถานการณ์คับขัน และมีไหวพริบในการตัดสินใจว่าสิ่งไหนควรหรือไม่ควรทำ

Copyright © 2025 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save