หากพูดถึงช้อปปิ้งออนไลน์หลายคนคงจะนึกถึงแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเป็นอย่างแรก แต่ก็มีอีกหนึ่งโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มที่ร้านค้าสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และไม่มีค่าธรรมเนียมในการซื้อขายนั่นก็คือ อินสตาแกรม (Instagram)
อินสตาแกรมเป็นแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้กว่า 500 ล้านคนใช้งานเป็นประจำทุกวัน และมากกว่าครึ่งนึงติดตามร้านค้าในแพลตฟอร์มมากกว่าหนึ่งร้าน นั่นหมายความว่าการมีหน้าร้านออนไลน์นั้นเป็นโอกาสเข้าถึงคนได้จำนวนมหาศาล
วันนี้ RAiNMaker ได้รวบความ 8 เทคนิคที่จะช่วยให้ร้านค้าสามารถขายออนไลน์ได้แบบปังๆ สามารถยืนระยะได้ยาวแม้ว่าโซเชียลมีเดียจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
1.เริ่มต้นที่ Bio
Bio เป็นสิ่งแรกที่ทุกคนจะเห็นในหน้าโปรไฟล์ของร้านค้า ดังนั้นเขียนสิ่งที่บ่งบอกเอกลักษณ์ของแบรนด์ ร้านค้า และสินค้า เพื่อสร้างความโดดเด่นจากคู่แข่ง
2.มี character identity (CI) เป็นของตัวเอง
สำหรับคนที่คุ้นเคยกับอินสตาแกรมน่าจะเคยเห็นโปรไฟล์ที่ ‘คุมโทน’ มาบ้าง เพื่อสร้างเอกลักษณ์ของตัวเอง ร้านค้าก็เช่นกัน ทั้งการโพสต์คอนเทนต์ หรือการถูกแชร์คอนเทนต์ เมื่อผู้คนจดจำ CI (character identity) เราได้ก็จะนึกถึงแบรนด์ของเราตามไปด้วย
3.เพิ่ม Reach และ Engagement ด้วย Stories
ไม่ว่าฟีเจอร์ Stories จะถูกนำไปใช้ใน Facebook, Twitter, หรือ LinkedIn แต่ก็ไม่มีแพลตฟอร์มไหนที่มีจำนวนคนโพสต์และคนดูสตอรี่มากไปกว่าอินสตาแกรมแล้ว นั่นหมายความว่านี้เป็นอีกเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเพิ่มการเข้าถึง (Reach) และการมีส่วนรวม (Engagement) ของผู้ติดตาม
4.เรียกลูกค้าใหม่ด้วย Reels
อินสตาแกรมได้เปิดตัวฟีเจอร์ Reels หรือวิดีโอสั้นได้ไม่นาน ดังนั้นแพลตฟอร์มจะยังคงสนับสนุนให้ผู้ใช้เล่น Reels ให้มากขึ้น และสามารถเข้าถึงผู้ใช้ได้จำนวนมากเช่นกัน นอกจากนี้วิดีโอสั้นยังเป็นรูปแบบที่ทุกคนพร้อมที่จะหยุดดูความสร้างสรรค์และไอเดียที่แปลกใหม่
5.เขียนแคปชั่นเรียก Engagement
แคปชั่นบรรยายสินค้าหรือโปรโมชั่นอย่างเดียวไม่พอ ต้องตามเทรนด์ ตามกระแส และยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ Engagement จะช่วยให้โพสต์เข้าถึงผู้ติดตามได้ในอัตราที่มากขึ้นอีกด้วย
6.มีความสม่ำเสมอ
ความสม่ำเสมอเป็นสิ่งที่เรียบง่ายสำหรับทุกโซเชียลมีเดีย แต่ก็ได้ผลลัพธ์ที่ดีทุกครั้ง ไม่จำเป็นต้องโพสต์ทุกเช้า กลางวัน เย็น แต่ต้องสม่ำเสมอ เพื่อให้ผู้ติดตามไม่เบื่อ และไม่ลืมแบรนด์ของเราจนเกินไป
7.ใช้แฮชแท็กให้ถูก
แฮชแท็กเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ผู้ใช้งานสามารถค้นพบโปรไฟล์ใหม่ สินค้าใหม่ โพสต์ใหม่ ร้านค้าเองก็ควรมีแฮชแท็กหลัก พร้อมกับแฮชแท็กรองที่ปรับเปลี่ยนไปตามสินค้าและโปรโมชั่น ที่สำคัญอย่าลืมที่จะใช้แฮชแท็กเกี่ยวข้องที่น่าสนใจเพื่อดึงดูดคนที่มีความสนใจเดียวกัน
8.ร่วมมือกับ Influencers
การมีหน้าร้านในโลกออนไลน์ แน่นอนว่าอินฟลูเอนเซอร์เป็นตัวแปรสำคัญที่จะช่วยให้ร้านค้าเป็นที่รู้จัก ผ่านการแนะนำแบบเป็นกันเอง ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์ การแท็ก การรีวิว โดยเฉพาะไมโครอินฟลูเอนเซอร์ (คนที่มีผู้ติดตามจำนวน 1,000 – 10,000 คน) ที่สามารถรีวิวได้จริงและจับต้องได้