9arm หรือ นายอาร์ม ครีเอเตอร์สายสตรีมทาง YouTube และ Twitch TV ทุกวันเสาร์ 4 ทุ่มครึ่ง ที่เปี่ยมไปด้วยคอนเทนต์สายไอที และอัปเดตเทคโนโลยีจากเรื่องยากให้กลายเป็นเรื่องง่าย ด้วยบรรยากาศการพูดคุยผ่านกล้องที่เป็นกันเอง เปรียบเสมือนเพื่อนหรือรุ่นพี่มาเล่าสู่กันฟัง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่เขาจะพ่วงมากับฉายา ‘รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัล’
ก่อนจะมาเป็นเจ้าชายไอทีและรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัล
‘ว่าที่รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัล’ เป็นแผนที่ทำให้คนเรียกตามด้วยการสถาปนาตัวเอง
จุดเริ่มต้นของช่อง 9arm เริ่มมาจากการรีวิวเกมเมื่อปี 2011 – 2012 เพราะความชอบของอาร์มเอง แต่พอได้ย้ายมาเรียนต่างประเทศชีวิตนักแคสต์เกมก็เปลี่ยนไป เพราะมีเวลาเตรียมตัวน้อยเนื่องจากเรียนหนักขึ้น
ดังนั้นนี่จึงกลายเป็นช่วงเวลาที่ความเนิร์ดไอทีของตัวเองได้เผยสู่โลกโซเชียล เพราะเน้นการพูดคุยถึงเรื่องเทคโนโลยีที่กำลังเป็นที่สนใจในสังคม และพยายามจะทำให้เรื่องยากกลายเป็นเรื่องง่าย ด้วยการสรุปเรื่องไอที และเทคโนโลยีตามความเข้าใจของตัวเองให้ผู้ติดตามได้รับรู้ เนื่องจากหลายคนอ่านข่าวแล้วก็ยังไม่เข้าใจ แต่ช่อง 9arm จะมาไลฟ์พูดคุยแบบง่าย ๆ ให้ฟังเอง
และเพราะบทสนทนากับกลุ่มแฟน หรือผู้ติดตาม เลยทำให้อาร์มได้ฉายาว่าเจ้าชายไอที พร้อมกับสถาปนาตัวเองเป็นว่าที่รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลให้คนเกิดภาพจำมากขึ้นเมื่อนึกถึงช่องด้วย
คอมมูนิตี้ ของ 9arm
9arm เติบโตได้ทุกวันนี้ ก็เพราะกลุ่มหลังบ้านนายอาร์ม
หลังบ้านนายอาร์มเป็นคอมมูนิตี้ที่ค่อยๆ เติบโตไปด้วยกัน และเป็นแหล่งหาไอเดียชั้นดีมีคุณภาพในการทำคอนเทนต์ให้กับช่อง 9arm ด้วย เพราะเสียงสะท้อนจากคนในคอมมูนิตี้นี้ทำให้เกิดการสร้างสรรค์คอนเทนต์ลงคลิป หรือเกิดการตั้งคำถามจนต้องเอาไปรีเสิร์ชเพื่อมานั่งไลฟ์สตรีมเพื่อจะได้แชร์มุมมองกันมากขึ้น
โดย 9arm จะเน้นไปที่การสตรีมมิง และสามารถดูย้อนหลังได้ที่ช่อง YouTube ซึ่งการรักษาคอมมูนิตี้ให้อยู่กับครีเอเตอร์ไปนาน ๆ นั้น ขึ้นอยู่กับการรู้จักกลุ่มเป้าหมาย และแพลตฟอร์มที่เหมาะสมกับคอนเทนต์ของตัวเอง เพื่อที่ฐานแฟนหรือผู้ติดตามจะได้มีคอมมูนิตี้ที่แข็งแรง
ซึ่งไม่ใช่แค่ความสัมพันธ์ระหว่างครีเอเตอร์ และผู้ติดตามช่องเท่านั้น แต่สำหรับสังคมของผู้ติดตามด้วยกันเอง ก็เป็นที่รวมตัวคนที่มีความสนใจคล้ายกันด้วย จึงทำให้บทสนทนาในช่องนี้ที่ริเริ่มจากความชอบเดียวกัน ขยายกว้างออกไปเป็นคอมมูนิตี้หนึ่งอย่างหลังบ้านนายอาร์มได้มากขึ้น รวมถึงสามารถตกกลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ ได้ด้วย
9arm และการทำงานร่วมกับแบรนด์
ขายยังไงก็ได้ แต่ต้องจริงใจกับคนดู
ในปัจจุบัน Digital Marketing หรือตลาดดิจิทัล คือ ตลาดที่แบรนด์เข้ามาแทรกในคอมมูนิตี้ได้มากขึ้น และครีเอเตอร์ก็มีสปอนเซอร์ คอยสนับสนุนให้ทำคอนเทนต์ด้วย ซึ่งปัญหาที่พบเจอบ่อยในการร่วมทำงานกับแบรนด์คือการควบคุมให้นำเสนอแต่ข้อดีจนไม่มีความจริงใจกับคนดู เพราะในยุคที่คนดูมีการเลือกเองได้ง่ายมากขึ้นบนโลกโซเชียล วิธีการขายจึงเปลี่ยนไปตามแนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภคด้วย
แต่ในปัจจุบันการตลาดดิจิทัลกลายเป็นพื้นที่ในการลงทุนของแบรนด์และเอเจนซีมากมาย เพราะมีความจริงใจมากกว่าโดยไม่ต้องปรุงแต่งใด ๆ ให้มีภาพลักษณ์ที่ดีจนเกินไปอย่างแพลตฟอร์มโทรทัศน์ แต่ใช้เอกลักษณ์ของครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์ในการนำเสนอความเป็นตัวเองให้แบรนด์น่าสนใจมากขึ้น
ซึ่งตรงนี้ต้องใช้ครีเอเตอร์ หรืออินฟลูเอนเซอร์ที่มีความเหมาะสมกับแบรนด์ด้วย เพราะหากฝืนขายไปแบรดน์จะขายไม่ได้ ส่วนครีเอเตอร์ก็จะเสียคอมมูนิตี้ของตัวเองไป ดังนั้นการทำงานร่วมกับแบรนด์จึงต้องมีความจริงใจ ผสมกับการเบลนให้เข้ากันระหว่างทั้งสองฝ่าย เนื่องจากครีเอเตอร์จะเป็นคนที่มีความเข้าใจคอมมูนิตี้ของตัวเองมากที่สุด
เพราะฉะนั้นหากมีแบรนด์ไหนอยากร่วมงานกับ 9arm ก็ควรทำให้วิน-วินกันทุกฝ่าย เพราะการเบลนแบรนด์เข้ากับคอนเทนต์จะขายของได้ดีกว่าการนั่งพูดรีวิวตามบรีฟ เพราะสิ่งที่ครีเอเตอร์เลือกที่จะนำเสนอก็มีผลต่อความน่าเชื่อถือของช่อง และแบรนด์ ความจริงใจต่อกลุ่มเป้าหมายในการขายจึงสำคัญมาก เพราะการไม่ฝืนความเป็นตัวของตัวเอง จะทำให้คนดูอยากติดตามมากขึ้นว่าจะเอาคอนเทนต์มาผูกกับแบรนด์อย่างไรต่อไป
ก้าวต่อไปของ 9arm
แค่อยากเติบโตไปพร้อมกับหลังบ้านนายอาร์ม
ช่อง 9arm ในตอนนี้เดินทางมาไกลกว่าที่คิดไว้มาก ดังนั้นสิ่งที่จะโฟกัสเป็นหลักในก้าวต่อไปคือคอนเทนต์ในช่อง และเก็บเกี่ยวโอกาสที่เข้ามา โดยที่ไม่มีเป้าหมายชัดเจนว่าจะเติบโตต่อไปอีกอย่างไร เพราะเรื่องการย้ายแพลตฟอร์มไม่ใช่ปัจจัยหลักที่นึกถึงในตอนนี้
แต่สิ่งที่อยากทำคือการหาคนมาร่วมทีมเพิ่มในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น Creative หรือ Content Editor ก็ตาม มีภาพที่จะทำเป็นบริษัทของ 9arm แบบเป็นรูปเป็นร่าง และพร้อมที่จะจัดจ้างคนได้ นอกจากการสตรีมในช่องอย่างที่ทำอยู่ในปัจจุบัน
สิ่งที่ 9arm อยากฝากถึงเหล่าครีเอเตอร์
ความ Niche มันโตขึ้นและอยู่รอดได้เพราะคอมมูนิตี้ที่เหนียวแน่น
9arm มองว่าตลาด Niche จะมีการเติบโตมากขึ้น เพราะมันอยู่รอดได้ด้วยตัวของมันเอง คนเริ่มมีความหลากหลาย และตามหาคอมมูนิตี้ใหม่ ๆ ที่เหมาะกับตัวเองอยู่ตลอดเวลา เลยทำให้มีกลุ่มย่อยของผู้บริโภคเกิดขึ้นเต็มไปหมด และแบรนด์เองก็เริ่มเปิดรับตลาดที่ Niche มากขึ้นเพื่อขายของให้ตอบโจทย์กับผู้บริโภค ในฐานะครีเอเตอร์ที่อยากเข้าวงการก็ต้องศึกษาตัวเอง และตลาดที่จะลงสนามให้ดี เนื่องจากยุคนี้มีครีเอเตอร์หน้าใหม่เกิดขึ้นทุกวัน เพราะแค่จับโทรศัพท์ตั้งกล้องก็เป็นครีเอเตอร์ได้แล้ว และนอกจากตามหาความสนใจที่ Niche ของเราเจอแล้ว ก็ต้องค่อย ๆ ตามหากลุ่มเป้าหมายของเราอยู่ที่ไหนด้วย
ส่วนครีเอเตอร์ที่ทำช่องมานานแล้ว การขยายแพลตฟอร์มให้คอนเทนต์มีความหลากหลายก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ แต่ควรเล็งดี ๆ ว่าจุดยืนของเราควรอยู่ที่แพลตฟอร์มแบบไหนไปด้วย เพราะอัลกอริทึมของแต่ละแพลตฟอร์มไม่เหมือนกัน กลุ่มเป้าหมายในแพลตฟอร์มก็ไม่เหมือนกัน จึงทำให้การสร้างยอดเอ็นเกจเมนต์ต้องใช้วิธีที่แตกต่างกัน บางครั้งจึงเป็นเหตุผลให้การมีแพลตฟอร์มเดียวหลัก ๆ อย่างมั่นคงก็ไม่ใช่ตัวเลือกที่แย่เท่าไรนัก แค่เราต้องมองภาพรวมให้ออก และเชื่อมั่นในสัญชาติญาณการเป็นครีเอเตอร์ของตัวเองให้มากที่สุด และไม่ว่าผลลัพธ์ที่ได้ลองจะออกมาเป็นอย่างไร ก็นำไปปรับประยุกต์จนกว่าจะเจอสิ่งที่ใช่