นอกจากระบบ Analytic ต่าง ๆ เช่น Google Analytic หรือ Facebook Analytic แล้ว การทำ Survey ก็เป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยให้เราสามารถรู้ข้อมูลในส่วนของ Audience หรือว่าผู้อ่านของเราได้ เนื่องจากทุกวันนี้การทำคอนเทนต์ไม่ได้ติดอยู่แค่การตอบสนอง Demographic (เพศ, อายุ, ที่อยู่) อะไรพวกนี้อีกต่อไป แต่ให้ความสำคัญกับ พฤติกรรม (Behavior) ความสนใจ (Interest) หรือ ความต้องการ (Need) ของกลุ่มเป้าหมายแทน ซึ่งก็เป็นข้อดีของการทำคอนเทนต์ในยุค Social Media เพราะทำให้เราสามารถพอเดาสิ่งพวกนี่ได้โดยง่าย แต่อย่างไรก็ตาม การใช้เครื่องมืออื่น ๆ นอกเหนือจาก Analytic ที่บางทีก็ไม่ได้บอกละเอียดถึงขั้นพฤติกรรมขนาดนั้น (อาจจะบอกคร่าว ๆ บอกพฤติกรรมและไม่ได้บอกเหตุผล
ในขณะที่ Instagram เป็นหนึ่งใน Social Media ที่เน้นการ Engagement และมีความเป็นส่วนตัวสูง และมีฟีเจอร์อย่าง Story ที่ช่วยให้ Audience สามารถรู้สึกใกล้ชิดกับ Content Creator ดังนั้น ถ้าเราสามารถ Drive ตัว Instagram มาจนถึงจุดนึงที่มี Follower ที่มี Behavior นิ่งแล้ว เราจะสามารถใช้โอกาสนี้ในการพูดคุยกับ Followers ของเรา
หลังจากที่เคยเล่าเรื่อง แชร์ประสบการณ์ ทำถามตอบใน Story ของ Instagram เครื่องมือชั้นดีในการวิเคราะห์ Audience วันนี้ทีมงานจะมาแนะนำ 5 วิธีในการใช้ Instagram Story เพื่อช่วยในการทำ Survey เพื่อทำความเข้าใจ พฤติกรรม (Behavior) ความสนใจ (Interest) หรือ ความต้องการ (Need) ของกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแนบเนียน
1. ใช้ Poll เพื่อช่วยตอบคำถาม
ใน Story ของ Instagram จะมีเครื่องมือตัวหนึ่งชื่อว่า Poll ให้เราสามารถสร้าง Poll ได้ เราอาจจะใช้เครื่องมือตัวนี้ในการถามคำถามบางอย่าง เช่น คอนเทนต์ที่อยากชม, สถานที่ที่อยากให้ไป หรือคำถามอื่น ๆ ที่ข้อมูลในเมนู Audience ให้ไม่ได้
2. เปิดให้ผู้เขียนช่วยตอบคำถาม หรือถามคำถามเรา
มีเครื่องมืออีกอันที่น่าสนใจคือการให้ตอบคำถาม หรือถามอะไรกับเรา ซึ่งเป็นสติกเกอร์ที่จะให้ผู้ที่ดู Story สามารถเข้ามาตอบแล้วเราจะเห็นคำตอบได้ เราสามารถเลือกที่จะ Reply ด้วยการเพิ่มไปยัง Story ของเราได้ (ซึ่งถ้าเราทำได้จะดีมาก เพราะถือว่าเป็นการเล่นตอบกับคนถาม ทำให้พอเห็นแบบนี้แล้ว คนที่มาเห็น Story เราก็อยากเล่นด้วยเพราะอยากคุยกับเรา) ตรงนี้จะสามารถลงลึกไปยังบทสนทนา ชวนคุย หรือถามข้อมูลเชิงลึก ซึ่งแน่นอนว่า Analytic ดีแค่ไหนก็ให้ไม่ได้แน่นอน
3. พยายามถามหรือชวนคุยในสิ่งที่เป็นเหตุผล ที่ Analytic อื่นบอกไม่ได้
จากเหตุผลสองข้อด้านบน เนื่องจากเรามีโอกาสถามในสิ่งที่ Analytic ให้ไม่ได้ ดังนั้นอย่าเสียเวลาถามอะไรที่เราสามารถวิเคราะห์หรือดูได้จาก Tools อย่างอื่น ซึ่งตรงนี้แนะนำว่าให้ใช้ลักษณะการถามที่ดูธรรมชาติ เกี่ยวข้องกับบัญชีของตัวเอง เช่น
- อยากชมคอนเทนต์แบบไหน ให้มอบคำแนะนำ
- พอใจหรือไม่พอใจอะไร เพราะอะไร
- ถามในสิ่งที่เป็นเหตุผลหรือความรู้สึกเป็นหลัก เพราะเป็นโอกาสที่เราจะได้ฟังความคิด ความรู้สึกจาก audience จริง ๆ ในพื้นที่ส่วนตัวของเขา
4. ตั้งคำถามด้วยวัตถุประสงค์ อย่าตั้งมั่ว ๆ หรือทั่ว ๆ ไป
บางครั้งถามตรง ๆ อาจจะดูไปยุ่งกับชีวิตของผู้อ่านไป อาจจะลองตั้งคำถามในเชิงพฤติกรรมเพื่อนำมาวิเคราะห์ เช่น อยากรู้ว่าผู้อ่านมีกำลังซื้อแค่ไหน อย่าไปถามเงินเดือนโดยตรง แต่ให้ถามอะไรในเชิงพฤติรรมและทำให้ดูเป็นมิตรขึ้น เช่น ชอบเดินห้างไหนบ้าง หรือแกล้งให้เติมคำ จะเจอฉันได้ที่ … ซึ่งตรงนี้จะต้องใช้วิธีการวิเคราะห์ร่วมด้วย อย่างไรก็ตามก่อนจะถามควรคิดวัตถุประสงค์ไว้เลยว่า อยากรู้อะไร เราจะนำสิ่งที่ได้รับไปทำอะไรบ้าง เช่น ปรับปรุงคอนเทนต์, เปลี่ยนรูปแบบการรีวิว, ทำคอนเทนต์แนวใหม่, เพิ่ม Platform ของเรา
5. ทำให้เรียบง่ายที่สุด เป็นบทสนทนา ไม่ใช่การ Survey
สมัยก่อน Brand ต่าง ๆ พยายามแทบตายในการทำ Survey เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้า แต่ตอนนี้ Social Media โดยเฉพาะ Instagram นั้นช่วยให้เราเข้าถึงทั้ง Feedback คำติชม ข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างเป็นธรรมชาติและมีความเป็นส่วนตัวสูงมาก การที่เขาฟอลบัญชี Instagram ของเราก็เหมือนกับว่าเขาเปิดรับให้เราไปอยู่ใน Space ของเขาแล้ว เนื่องจากธรรมชาติของ Instagram เอง ดังนั้น พยายามทำทุกอย่างให้เรียบง่ายที่สุด แต่นึกถึงข้อด้านบนคือมีวัตถุประสงค์ในทุกการกระทำอยู่เสมอ
อย่าลืมสิ่งที่เราเตือนกันมาตลอดว่าการทำคอนเทนต์คือการทำให้ผู้อ่านพอใจ และการทำให้ผู้อ่านพอใจจะต้องรู้ความคาดหวัง ซึ่งการรู้ความคาดหวังหรือ Expectation นั้นก็เกิดจากการที่เราได้ทำความเข้าใจพฤติกรรม แนวคิด ของผู้อ่านจริง ๆ การที่เรามีเครื่องมือที่ช่วยให้สามารถพูดคุยกับผู้อ่านได้อย่างง่ายและเป็นธรรมชาตินั้นย่อมเป็นสิ่งที่เราไม่ควรมองข้ามและนำมาใช้เพื่อให้สร้างสรรค์คอนเทนต์ให้ตรงใจกับกลุ่มเป้าหมายของเรา
เรียบเรียงโดย ทีมงาน RAiNMAKER