Case StudySocialTips

Avatar

Nutn0n October 9, 2019

10 เทคนิคเป็นบล็อกเกอร์ เตรียมตัวออกสื่อ ให้สัมภาษณ์ยังไงให้ได้ประโยชน์สูงสุด

เชื่อว่าถ้าเราทำสื่อ ทำเว็บไซต์ เขียนบทความ เป็น Youtuber มาซักพักแล้ว ก็ไม่แปลกที่จะมีคน สื่อ ช่องทางต่าง ๆ มาขอสัมภาษณ์ ไม่ว่าจะเกี่ยวกับตัวเรา เกี่ยวกับสิ่งทีเราทำ หรือขอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น พอเจอแบบนี้แล้ว หลายคนอาจจะไม่มั่นใจว่าจะต้องทำอย่างไรดี ต้องเตรียมตัวยังไง ต้องพูดอะไรบ้าง แล้วทำไปจะได้อะไร วันนี้ทีมงาน RAiNMAKER มีวิธีการเตรียมตัว  ให้สัมภาษณ์ยังไงให้ได้ประโยชน์สูงสุด มาแชร์ให้ทุกคนก่อนจะไปให้สัมภาษณ์กัน

1. มีวัตถุประสงค์กับทุกการสัมภาษณ์

เวลามีสื่อ รายการทีวี หรือแม้กระทั่งเว็บไซต์อื่น ๆ มาขอสัมภาษณ์เรา อย่าลืมว่าเขาก็มีวัตถุประสงค์ของเขา ไม่ใช่อยู่ดี ๆ เขาอยากจะมาสัมภาษณ์ ดังนั้นเราก็ต้องมีวัตถุประสงค์ของเราเหมือนกันว่า สัมภาษณ์ไปแล้วจะได้อะไร จะช่วยให้คนมาติดตามเรามากขึ้นหรือเปล่า หรือจะไปเข้าถึงกลุ่มที่เราอยากจะได้เป็นลูกค้า หรือเป็นการสัมภาษณ์แล้วทำให้เราดูเป็นผู้รู้ในด้านที่เราทำคอนเทนต์ด้านนั้นอยู่

การมีวัตถุประสงค์จะช่วยให้เราสามารถวาง Flow ของการเล่าเรื่อง รวมถึงเลือกคำพูด เลือกเนื้อเรื่องที่จะนำไปเล่าได้ง่ายขึ้น รวมถึงตอนท้ายของการสัมภาษณ์เรายังสามารถทิ้งข้อความสำคัญที่ทำให้เราได้มาซึ่งสิ่งที่เราต้องการได้ด้วย

2. รู้ Audience ของสื่อที่เราจะถูกสัมภาษณ์

อย่าลืมว่า สื่อที่มาสัมภาษณ์เรา เขาก็มี Audience ของเรา และแม้ว่าจะเป็นเรื่องในหัวข้อใกล้ ๆ กัน ก็ไม่ได้แปลว่า Audience นั้นจะเป็น Audience กลุ่มเดียวกับของเรา ดังนั้นอย่าลืมว่าเวลาเราให้สัมภาษณ์สื่ออื่น เราไม่ได้คุยกับ Audience ของเรา ดังนั้น การเล่นมุกที่เข้าใจกันเฉพาะกลุ่มอาจจะต้องระวัง หรือการใช้คำศัพท์ที่เทคนิค ทางการ ดูยากเกินไป ก็อาจจะต้องหลีกเลี่ยงเช่นกัน

การรู้ Audience ไม่ได้แค่ใช้กำหนด Story ของเราเท่านั้น แต่จะช่วยให้เราตั้งวัตถุประสงค์ในการสัมภาษณ์ตามข้อบนได้ด้วย เช่น สมมติว่าเราทำคอนเทนต์เรื่องไอที แต่ให้สัมภาษณ์กับสื่อที่ผู้อ่านเป็นเอเจนซี เราอาจจะพูดแนว ๆ ว่าโมเดลการทำงานของเราเป็นอย่างไร ต่างจากคนอื่นอย่างไร ซึ่งปกติ คนที่สัมภาษณ์เราเขาก็จะเตรียมหัวข้อมาพอประมาณแล้ว แต่ถ้าเรารู้ทัน เราจะมีวิธีหยอดเพื่อให้เราได้พูด Message ที่เราอยากพูดได้อย่างแนบเนียน พอกลุ่มเป้าหมายของเขาได้เห็นผลงานของเราจะทำอย่างไรให้เราได้มาซึ่งสิ่งที่เราต้องการ ก็อาจจะหยอด Call to Action ไว้ด้วย (เช่น ถ้าสนใจร่วมงานกัน ก็ให้ …)

3. เข้าใจรูปแบบการสัมภาษณ์ สด, อัดเทป, บทความ

ปกติแล้วการสัมภาษณ์จะมีหลายกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นแบบ Live, อัดเทปไว้ หรือเป็นบทความ ซึ่งตรงนี้เราจะสามารถให้ประโยนชน์ของรูปแบบได้ เช่น ถ้าเป็นแบบอัดเทปไว้ ตรงไหนที่เราพูดผิด หรือไม่อยากให้ออก เราสามารถบอกให้เขาตัดออกได้ รูปแบบบทความ เราอาจจะ Guide ว่าเรื่องไหนที่สำคัญอยากให้เน้นเป็นพิเศษ ส่วนการสัมภาษณ์แบบสดหรือ Live นั้น ไม่ว่าจะออกทีวีหรือออก Facebook Live อาจจะทำให้ใครหลายคนอื่นเต้น ตรงนี้อาจจะแก้ด้วยการเตรียมตัวให้พร้อมว่าจะถามอะไร จะเล่าอะไร การคุยเล่นกับพิธีกรก่อนซักพักก็อาจจะช่วยลดความตื่นเต้นได้

4. มี Key Take-away เป็นประโยคประโยคเดียว

บทสัมภาษณ์ของเรายาวมาก ไม่มีใครจำได้แน่นอน แต่มีวิธีการก็คือ ให้เราหา Key Take-away ซึ่งเป็นประโยคประโยคเดียว บอกให้คนดู คนอ่าน หรือพิธีกร จำเอาไว้ โดยอาจจะใช้คำแนว ๆ ว่า “ถ้าจำอะไรเกี่ยวกับสัมภาษณ์ครั้งนี้ไม่ได้เลย สิ่งที่อยากให้รู้ไว้คือ ….” “ถ้าให้เลือกทิ้งท้ายไว้ 1 คำก็คงจะเป็นเรื่อง …” หรือถ้าสัมภาษณ์ภาษาอังกฤษ สำนวนที่ใช้ก็คือ “If I could leave you with only one message/story it shoud be …..”

แล้วประโยคหรือ Story นั้นก็จะย้อนกลับไปหาข้อ 1 คือ ให้มีวัตถุประสงค์กับทุกการสัมภาษณ์เสมอ

5. หาโอกาสครั้งถัดไป อย่าสัมภาษณ์แล้วจบ

อย่าลืมว่าถ้าการได้ออกมาสัมภาษณ์ซักหนึ่งครั้งเป็นโอกาสที่ดี เราเองก็คงอยากได้โอกาสครั้งต่อไป เพราะประโยชน์ในการได้ส่ง Message ให้เยอะขึ้น ดังนั้นเวลาสัมภาษณ์จบ อาจจะคุยกับ Producer, บก. หรือผู้สัมภาษณ์ว่า ถ้าหากมีหัวข้อแนวนี้ (บอกไป) หรือเรื่องอื่น ๆ ที่เราสามารถพูดได้ อาจจะชวนเรามาอีก แล้วเราก็ยินดีที่จะมา มี Contact ของกันและกันไว้

6. เตรียมข้อมูล ตัวเลข ให้พร้อม

พวกเนื้อเรื่อง Story หรืออะไรที่เป็นการเล่าทั่วไป เชื่อว่าเราก็สามารถเล่าได้เลยทันที แต่พวกตัวเลข, สถิติ ต่าง ๆ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เราจะสัมภาษณ์ หรือเกี่ยวข้องกับเว็บไซต์, Blog, ช่องทาง ของเรา ตรงนี้เราควรจะเตรียมมาให้พร้อม เพราะพวกตัวเลข สถิติต่าง ๆ ถ้ามันสวย เราสามารถทำให้เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นได้ การเลือกใช้คำว่า “ครึ่งล้าน” อาจจะฟังดูเท่กว่า “ห้าแสน” ด้วย (ฮา)

ถ้าตอบไม่ได้ อย่าตอบว่าไม่รู้ เพราะอาจจะโดนมองว่าไม่ใส่ใจ ถ้าตอบไม่ได้จริง ๆ ให้ตอบแนว ๆ ว่า “ตอนนี้ตัวเลขยังไม่ชัวร์ บอกไปเดี๋ยวผิด แต่ไปดูได้ที่ …” “I don’t have it in my head right now”

7. พูดคุยกับผู้สัมภาษณ์ก่อนแต่อย่าเล่าหมด เดี๋ยว Spoil

เพื่อความคุ้นชิน จะได้ไม่ตื่นเต้น เราสามารถคุยกับพิธีกรหรือคนสัมภาษณ์ก่อนได้ แต่พยายามอย่าเล่าเนื้อเรื่องอะไรทั้งหมด เพราะจะ Spoil แล้วเวลาเล่าในรายการจะไม่สนุก อาจจะเล่าแนว ๆ ที่มาไว้ก่อน เช่น เคยเจอปัญหาแบบนี้ แล้วให้พิธีกรมาถามในรายการว่าสรุปแก้อย่างไร ปกติผู้สัมภาษณ์หรือพิธีกร จะมีคำถาม หรือเรื่องของเรามาเตรียมชวนคุยพอสมควรอยู่แล้ว แต่ถ้ามีเรื่องไหนที่เราอยากพูดก็ไม่ต้องเกรงใจที่จะบอกเขา พิธีกรเขาอยากได้เรื่องที่สนุก ๆ และเราพูดได้อย่างเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว

8. พูดให้ชัด และฝึกพูดให้ชัด อย่าท้ายเสียงตก

การพูดเป็นสิ่งที่สำคัญมาก โดยเฉพาะการออกสื่อในรูปแบบที่เป็น วิดีโอ หรือ Live ตรงนี้แนะนำว่าอย่างไรก็ตาม ควรฝึกพูดให้ชัด จะช่วยให้เราดูเตรียมพร้อมและมีบุคลิกภาพที่ดี น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะ ร, ล  และ อย่าพูด คับ ๆ ๆ ๆ 

อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญก็คือ พยายามอย่าเสียงเบาลงที่ท้ายของประโยค ให้ลองนึกภาพว่าเราพูดแล้วเสียงค่อย ๆ เบาลง จนคำสุดท้ายของประโยคแทบจะพูดอยู่ในคอ ตรงนี้ฟังแล้วจะน่ารำคาญมาก เพราะต้องมาเดาว่าคำสุดท้ายพูดว่าอะไร

อ่านเพิ่มเติม – เทคนิคการพูดให้ชัดจากนักพูด สำหรับ Blogger, YouTuber และข้อผิดพลาดที่เราทำบ่อย

9. ไม่ต้องกลัวที่จะบอกว่าเรื่องไหนไม่อยากพูด พูดไม่ได้ เป็นความลับ

บางทีเราโดนถามเรื่องที่เราไม่อยากตอบ ความลับ เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ เรื่องความสัมพันธ์ที่เรารู้สึกว่าตอบไปแล้วไม่อยากมาแก้ปัญหาทีหลัง เราสามารถบอกพิธีกรได้เลย ไม่ต้องกลัวว่าเขาจะมองว่าเราไม่อยากตอบ เพราะบางเรื่องก็เป็นเรื่องส่วนตัวของเราจริง ๆ ไม่ต้องตอบทุกอย่างตามที่เขาถาม เป็นเรื่องปกติอยู่แล้วที่เราพูดไม่ได้ทุกเรื่อง อาจจะใช้คำพูดแนว ๆ “ขอโทษครับ แต่เรื่องนี้อาจจะต้องเก็บไว้ แชร์ไม่ได้จริง ๆ” “เรื่องนี้บอกไม่ได้ครับ แต่สิ่งที่บอกได้ก็คือ …” 

10. แชร์บทสัมภาษณ์ของตัวเองลงสื่อของตัวเองด้วย

เวลาไปสัมภาษณ์มาแล้ว อย่าลืมแชร์บทสัมภาษณ์ของตัวเองลงในสื่อด้วย เพราะอาจจะทำให้ผู้ติดตามของเราได้มุมมองใหม่ ๆ และได้เห็นเราในบริบทอื่นนอกจากการทำคอนเทนต์ ช่วยให้คนดูรู้จักเรามากขึ้น และมองเราในฐานะผู้นำทางความคิดมากขึ้น ดังนั้นไม่ต้องกลัวถ้าเราจะแชร์บทสัมภาษณ์ของเราลงในสื่อของตัวเอง แม้ว่ารายการ, ช่องทาง นั้นอาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับเราทางตรง

เป็นเทคนิคที่ถ้ารู้ไว้ ก็จะช่วยให้การสัมภาษณ์ สนุกมากขึ้น เพราะเหมือนการรู้เขารู้เรา มีวัตถุประสงค์ เหมือนเล่นเกมแนววางกลยุทธ์ สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจะคนสัมภาษณ์หรือผู้ถูกสัมภาษณ์ก็จะได้ประโยชน์ร่วมกันนั่นเอง ไม่ต้องกลัวการสัมภาษณ์เพราะมันนำมาซึ่งข้อดีมากกว่าข้อเสียแน่นอน

เรียบเรียงโดย ทีมงาน RAiNMAKER

Copyright © 2024 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save