พอพูดว่าทำคอนเทนต์ด้วยตัวเลขและสถิติ หลายคนอาจจะนึกว่ามันจะต้องเป็นกราฟ ต้องเป็น Data Visulization ต้องเป็นอะไรที่ดูทำยาก แต่จริง ๆ แล้วการทำคอนเทนต์ที่เป็นตัวเลข แทบจะไม่ได้หาข้อมูลหรือเขียนหรือทำ Research ยากไปกว่าการทำคอนเทนต์แบบเนื้อความปกติเลย หลายคนอาจจะสงสัยว่าสรุปแล้วการทำคอนเทนต์ด้วยตัวเลขจริง ๆ แล้วคืออะไรกันแน่ คือการทำ Listing Content เป็นข้อ ๆ หรือเปล่า
ไอเดียของการทำคอนเทนต์ตัวเลขคือการเล่าเรื่องผ่านตัวเลข โดยที่ฮีโร่ของคอนเทนต์คือตัวเลขและจำนวนที่เป็น Number แบบ Number จริง ๆ ไม่ใช่ตัวอักษร เพราะในทางคณิตศาสตร์ตัวเลขมีความหมาย ใช้ในการบอกค่า เปรียบเทียบ มากกว่า น้อยกว่า เป็นเชิงปริมาณที่ชัดเจนและทุกคนจับต้องได้ มีการนับอยู่ในภาษาแทบทุกภาษา แทบจะเป็นวัฒนธรรม และสามารถใช้ได้ทั่วจักรวาล เพราะคณิตศาสตร์คือภาษาของเอกภพ
จะเห็นว่าวิธีการของการทำคอนเทนต์แนวนี้นั้นไม่ใช่การ Visualize ด้วยภาพ แต่ Visualize ด้วยความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการรับรู้และประสบการณ์ ดังนั้นต้องมี Referencing หรือการอ้างอิงในเชิงความรู้สึก เพราะถ้าอยู่ดี ๆ ยกเลขมาโดด ๆ ลอย ๆ เราจะไม่รู้ว่ามันหมายความว่าอะไร แต่ถ้าเราต้องการให้คนรู้สึกอย่างไร เราก็อ้างอิงไปในเชิงนั้น เช่น ใช้ตัวเลขที่ไปในทางเดียวกัน เยอะก็เยอะเหมือนกัน น้อยก็น้อยเหมือนกัน หรือทำให้รู้สึกขัดแย้งด้วยเยอะและน้อย ถามว่าแบบนี้จะชี้นำไหม ส่วนตัวมองว่าไม่ เพราะเรามีตัว Referencing ชัดเจน และการที่เยอะหรือน้อยนี้ก็เป็นในเชิง Relative คือบอกได้ว่าเยอะเยอะกว่าอะไร น้อยน้อยกว่าอะไร ถึงได้บอกไปว่าการทำคอนเทนต์แนวนี้จะต้องอ้างอิงจากประสบการณ์ และการรับรู้มาก่อน คนดูถึงจะมีความรู้สึกในเชิงตอบโต้กับสิ่งนั้นและถ้ามันไปในทางที่เราต้องการได้ เราจะสามารถชี้นำคนเพื่อชักจูงให้รู้สึกหรือไม่รู้สึกอะไรบางอย่างได้
เห็นแบบนี้อาจจะยิ้มและพอเอาไปใช้ในการทำ Advertorial เพื่อส่ง Message อะไรบางอย่างได้ ก็ลองเอาไปปรับใช้กันดู
ยกตัวอย่างการทำคอนเทนต์ด้วยตัวเลข
สำหรับตัวอย่างที่ทีมงานได้เคยลองทำ อาจจะไม่ได้หวือหวามาก แต่รู้สึกว่าตรงกับแนวคิดด้านบนที่เล่ามาก็คือคอนเทนต์ชุด Number in Space โดยวัตถุประสงค์ก็คือต้องการให้คนรู้สึกว่าในจักรวาลอันแสนกว้างใหญ่ มีเพียงแต่โลกของเราเท่านั้นที่ให้เรามีชีวิตอยู่ได้ โดยไล่ตั้งแต่จำนวนของนักบินอวกาศ จำนวนของดวงดาว จำนวนที่ทำให้คนรู้สึกว่าทุกอย่างมีจำนวนมากมาย ทั้งมาก ทั้งน้อยเป็นพันล้าน แต่สุดท้าย จบด้วยการบอกว่า ตัวเลขที่เล่ามาทั้งหมดมีเพียงโลกของเราใบเดียวที่ให้เรามีชีวิตอยู่ได้ และเลขที่เขียนไว้คือ 1
จะสังเกตเห็นว่า แค่ตัวเลขกับคำไม่กี่คำ ถ้านำมาเรียบเรียงก็จะสามารถเล่า Story บางอย่างได้ แต่อย่าลืมว่าทั้งหมดต้องเริ่มนต้นจากวัตถุประสงค์ว่าเราต้องการให้คนดูรู้สึกอย่างไรเราก็ถ่ายทอดสิ่งนั้นไป แค่จากภาษาเป็นตัวเลขเท่านั้นเอง
อีกคำถามหนึ่งที่หลายคนอาจจะถามก็คือ แล้วตัวเลขพวกนี้เอามาจากไหนได้บ้าง อันนี้ต้องตอบเลยว่าไม่ได้ยากเลย ส่วนมากผู้เขียนก็จะเอามาจาก Wikipedia โดยเช็คการอ้างอิงที่มา (ไม่ได้อ้างอิงจาก Wiki แต่ใช้ Wiki เป็นแผนที่ในการล่ามาซึ่งข้อมูล) หรือถ้าปกติใครที่อินกับเรื่องอะไรอยู่แล้วก็น่าจะพอรู้ว่าเราสามารถไปวิ่งหาข้อมูลพวกนี่ได้ที่ไหน ส่วนมากจะมีการเก็บรวมรวมเชิงสถิติ แต่อาจจะไม่ได้ในแบบที่เราต้องการ อาจจะต้องหาจากทีละแหล่งแล้วมาเชื่อมโยงกัน
เราสามารถเอาวิธีการแบบนี้ไปใช้กับการเรียบเรียงในประโยคได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น “ใน 1 ปี มี 365 วัน คิดเป็นชั่วโมงคือ 8,760 ชั่วโมง คิดเป็นนาทีคือ 525,600 นาที ถ้าผมคิดถึงคุณทุกวินาที นับตั้งแต่เราเป็นแฟนกันมา 10 ปี เราคิดถึงกันไปแล้วห้าล้านครั้ง” หรืออาจจะไม่ต้องยากขนาดนั้น แค่พูดง่าย ๆ เช่น “ไม่เคยมีวันไหนใน 365 วันเลยที่นักวิ่งคนนี้จะหยุดซ้อม” หรือ “10 นาทีบนเตียงตอนเช้า กับ 10 นาทีบนรถพยาบาล” จะเห็นว่าทั้งหมดทั้งมวล ข้อมูลที่ให้มามีแค่ตัวเลข แต่กลายเป็นว่าเรากลับมีความรู้สึกไปกับมันเพราะเรามี Referencing บางอย่างเกิดขึ้น
ดังนั้นไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม การทำคอนเทนต์ในเชิง In Number หรือ รวมตัวเลขที่น่าสนใจเกี่ยวกับอะไรบางอย่างก็น่าจะช่วยให้เราสามารถเปิดมุมมองใหม่ ๆ ให้แก่ผู้อ่าน และไม่ได้เป็นมุมมองที่เราหยิบยื่นไปให้ แต่เราแค่ให้ Data บางอย่างแล้วเขาไปรู้สึกมา เป็นสิ่งที่ให้เขาสังเคราะห์และ Evaluate มันขึ้นมาเอง ไม่ได้แค่จำมาพูด (อ่านเพิ่มเติมที่ ทำคอนเทนต์ให้มีคุณค่า ดูฉลาด และ มีประโยชน์จริง ๆ ตามทฤษฎีการเรียนรู้ของ Bloom ) เป็นการทำคอนเทนต์ในเชิงลึกจริง ๆ โดยที่สามารถนำไปใช้ได้หลายแนวมาก ๆ
เรียบเรียงโดย ทีมงาน RAiNMAKER