หนึ่งในวิธีการหาไอเดียในการทำคอนเทนต์ ก็คือการรับชมคอนเทนต์ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้เราไม่ได้แค่นำเอาเรื่องราวจากแหล่งอ้างอิงต่าง ๆ หรือข่าวต่าง ๆ มาเล่าได้อย่างเดียว แต่เราจะสามารถ วิเคราะห์ สังเคราะห์ และสร้างเนื้อหาในแบบที่เป็นตัวเราเองจริง ๆ ออกมาได้
หนึ่งในวิธีการเรียนรู้ที่ดีที่สุดก็คือการอ่านหนังสือ จริง ๆ แล้ว ต้องเข้าใจว่าธรรมชาติของหนังสือนั้นต่างจากสื่ออื่น ๆ พอสมควร เพราะหนังสือ ถ่ายทอดเรื่องราวจากความคิดของผู้เขียนผ่านภาษา และด้วยการที่ต้องใช้ภาษานี้เอง ทำให้ผู้เขียนต้องกลั่นกรองความคิดที่อยู่ในหัวให้ผู้อ่านเห็นภาพตามให้ได้ นี่คือสิ่งที่ทำให้เรามองว่าหนังสือนั้นต่างจากสื่ออื่น ๆ ที่เรามองเห็นภาพ, ได้ยินเสียง แต่หนังสือ เหมือนกับเป็นการส่งต่อสิ่งที่อยู่ในหัวของคนเขียนมาให้คนอ่านโดยมีตัวกลางคือตัวอักษรเท่านั้น
แล้วเราจะเอาสิ่งที่อยู่ในหนังสือ มาเป็นคอนเทนต์ได้อย่างไร
ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า จริง ๆ แล้วการเอาสิ่งที่อยู่ในหนังสือมาเล่านั้น อาจจะทำไม่ได้ทันที เหมือนกับบทความบนเว็บ (เพราะมีขอบเขตของเรื่องที่ชัดเจนว่าพูดถึงอะไร แต่หนังสือ จะใช้วิธีการยกนู่นยกนี่มาเล่า บางทีก็ออกทะเลบ้าง หรือบางทีก็พูดถึงเรื่องอื่น) ธรรมชาติของหนังสือแบบ Non-fiction จากประสบการณ์ของเรา ซึ่งเป็นหนึ่งในนักเขียน, บล็อกเกอร์ คนทำคอนเทนต์ ที่อาศัยการอ่านหนังสือ เพื่อหาความรู้ (จะสังเกตว่าหลาย ๆ บทความบน Rainmaker เองก็จะพูดถึงหนังสือเล่มต่าง ๆ)
จากประสบการณ์ในการอ่านหนังสือแบบ Non-fiction เราจะพบว่าผู้เขียน จะให้ความสำคัญกับช่วง 1-3 บทแรก ซึ่งในบทแรก ๆ จะเป็นการปูพื้นมาเพื่อให้เข้าใจว่าผู้เขียนจะเล่าอะไร ในขณะที่เนื้อหาสำคัญหรือ Topic ของมันจริง ๆ จะอยู่ในช่วงบทที่ 2-3
คำถามก็คือ แล้วเรามีเทคนิคอะไรในการหยิบเอาเนื้อหาจากในหนังสือมาเล่า สรุปออกมาได้หลัก ๆ ดังนี้
- หาความถนัดหรือหัวข้อของตัวเอง แล้วเลือกหนังสือให้เหมาะกับตัวเอง ข้อนี้ไม่ซับซ้อน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราต้องเข้ามาทำคอนเทนต์เรื่องการทำงานยุคใหม่ หนังสือแนว ๆ ที่เราต้องศึกษาก็จะเป็นเรื่องของเทคนิคการทำงาน หรือถ้าต้องทำเรื่องวิทยาศาสตร์ ก็ต้องอ่านหนังสือวิทยาศาสตร์เยอะ ๆ อาจจะลองเดินดูในร้านหนังสือ หรือฟัง Podcast (มองว่า Podcast สไตล์การเล่าจะใกล้เคียงกับหนังสือ หรือหยิบจากในหนังสือมาเล่าเช่นกัน)
- แต่การ Cross กันระหว่างศาสตร์ก็จะช่วยให้เรามีไอเดียมากขึ้น ทำคอนเทนต์วิทยาศาสตร์ จากมุมมองของศิลปะ, ทำคอนเทนต์ศิลปะ จากมุมมองของวิทยาศาสตร์ หรือศึกษาปรัชญา เพื่อปรับใช้ในการเล่าเรื่องทำความเข้าใจธรรมชาติ เป็นอีกหนึ่งวิธีที่กระตุ้นให้เราทำคอนเทนต์ได้หลากหลายและเป็นเอกลักษณ์ เพราะอย่างที่บอกว่าหนังสือช่วยให้เราใกล้คิดกับมุมมองของผู้อ่าน
- เราอ่านหนังสือเพื่อให้รอบรู้ เพื่อให้เข้าใจ ไม่ใช่เพื่อไปสรุป พอชื่อหัวข้อบอกว่าอ่านหนังสือมาทำคอนเทนต์ หลายคนอาจจะติดภาพเอาสิ่งที่อยู่ในหนังสือมาสรุปเป็นข้อ ๆ บทที่หนึ่งบอกอะไร บทที่สองบอกอะไร ซึ่งเอาจริงก็ทำได้ แต่ถ้าเราคิดไกลไปกว่านั้น การอ่านหนังสือช่วยให้เราเข้าใจมุมมองและวิธีคิดบางอย่างของผู้เขียน
และสิ่งนี้ทำให้เรานำไปสู่แนวคิดที่ว่า การทำคอนเทนต์สุดท้ายต้องมาจากตัวเราเอง ไม่ใช่จาก Reference
การทำคอนเทนต์คือการแสดงทัศนคติของตัวเราด้วย ไม่ใช่แค่บอกเล่า
ในบทความเรื่อง อ้างอิงยังไงดี เทคนิคทำคอนเทนต์ให้น่าเชื่อถือและดูฉลาด เราเคยแชร์กันไปกว่า การอ้างอิงหมายความว่าสิ่งที่เราหยิบยกขึ้นมาพูดไม่ได้ยกขึ้นมาลอย ๆ แค่บอกว่าใครพูดอะไรไว้เฉย ๆ ซึ่งเราเองก็ไม่จำเป็นจะต้องเห็นด้วย แต่สามารถขัดแย้งหรือแสดงความเห็นต่างได้ด้วย ตราบใดก็ตามที่ไม่เป็นการบิดเบือน หรือเลือกนำเสนอเพื่อให้เกิดการเข้าใจผิด หรือเปลี่ยนจากผิดเป็นถูกถูกเป็นปิด ดังนั้น การอ่านหนังสือจึงเป็นหนึ่งในวิธีใส่ข้อมูลพวกนี้เข้ามาในหัวเรา
มาถึงคำถามสุดท้ายที่บอกว่า แล้วอ่านหนังสือ 1 เล่ม ควรได้คอนเทนต์ออกมากี่ตัว คำถามนี้ตอบไม่ได้ทันที เนื่องจากเป็นไปได้ว่าเราอาจจะอ่านหนังสือเล่มเดียว บทเดียวและทำคอนเทนต์ออกมาได้ 10 ตัว เพราะเราเกิดไอเดียอะไรบางอย่างขึ้นมา หรืออาจจะอ่านจบทั้งเล่ม แต่ไม่ได้คอนเทนต์เลยก็เป็นไปได้ (ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดอยู่ดี) เพราะเมื่อวันนึงที่เราต้องใช้เนื้อหาพวกนั้นสิ่งที่เราอ่านมา เราก็จะนึกออกและรู้ว่าต้องพูดถึงใคร อะไร ที่ไหน หรือรู้ว่าต้องไปหาอ่านที่ไหนต่อ
สรุปคือ อ่านหนังสือเยอะ ๆ ช่วยในการทำคอนเทนต์ได้แน่ ๆ เพราะเป็นการป้อนข้อมูลและวิธีการคิดของคนอื่นใส่หัวเรา ให้เราสามารถวิเคราะห์ สังเคราะห์ สร้างเป็นสิ่งใหม่ขึ้นมา ใครที่กำลังทำคอนเทนต์จากหนังสือด้วยการแค่นำมาเล่า นำมาสรุปก็ดีแล้วให้ทำต่อไป แต่อย่าลืมว่าเราสามารถสร้างคอนเทนต์ที่เป็น Original ของเราใหม่ขึ้นมาจริง ๆ โดยการพูดถึงความคิดของคนอื่นที่ได้มาจากการอ่านหนังสือก็ได้
เรียบเรียงโดย ทีมงาน RAiNMAKER