คอนเทนต์ไม่เป็นกลาง ให้ความคิดเห็น แบบนี้ผิดหรือเปล่า? เอาจริง ๆ เป็นคำถามที่ตอบกันมาตั้งแต่ช่วงแรก ๆ หลังจากที่เราทุกคนสามารถทำสื่อได้ รวมถึงสามารถที่จะสื่อสารชุดของข้อมูลและความคิดออกไปได้อย่างอย่างรวดเร็วผ่านอินเทอร์เน็ต ก่อนหน้านี้เราเคยนำเสนอบทความเรื่อง จากการวิเคราะห์เชิงภาษาศาสตร์ตั้งแต่ 1989 พบว่าข่าวทุกวันนี้มีความเป็นอัตวิสัยมากขึ้น ซึ่งอัตวิสัยก็คือการที่เราใส่ความคิด ความรู้สึก ของตัวเราเองเข้าไปในข่าว หรือมีการใช้คำที่วัดเชิงปริมาณไม่ได้ เช่น ดี เลว เยอะ มาก น้อย แต่จริง ๆ แล้ว สิ่งเหล่านี้อาจจะไม่ผิดเลยก็ได้ ถ้าเรารู้จักกับสิ่งที่เรียกว่า Evidence-based
ในบทความเรื่อง รู้จักกับงานเขียนแบบ Evidence-based เพื่อความน่าเชื่อถือของคอนเทนต์ เราบอกว่า คอนเทนต์ที่ “น่าเชื่อถือ” จะต้องมีการอ้างอิงที่มาที่ไปของข้อมูล นั่นหมายความว่า ดี ก็ต้องตอบได้ว่า ดีกว่าอะไร วัดอย่างไร เช่น ยาชนิดนี้รักษาคนไข้หายได้มากกว่ายาชนิดอื่น แปลว่ายาชนิดนี้ดีกว่ายาชนิดอื่นในกรณีนี้ (ซึ่งก็ต้องนิยามว่าดีคืออะไร อะไรคือดี) หรือ เยอะ มีเยอะ มีเยอะเมื่อเทียบกับอะไร ยอดขายของหนังสือเล่มนี้ขายได้เยอะกว่าเวลาเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว
แต่ในบทความนี้ เราจะมาไขข้อสงสัยกันว่า แล้วสรุป “การทำคอนเทนต์จำเป็นต้องเป็นกลางหรือเปล่า”
ไม่ต้องเป็นกลาง แต่ไม่โกหก หรือเลือกปฏิบัติ สร้างผลเสียน้อยกว่า
ถ้าถามว่า อะไรคือความเป็นกลาง แม้กระทั่งความเป็นกลาง แต่ละคนก็ยังนิยามไม่เหมือนกัน ถ้าความเป็นกลางหมายถึงการไม่โจมตีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แล้วถ้าข้อมูลเหล่านั้น เป็นความจริงและเชิงปริมาณ หรือถูกต้องตามหลักตรรกศาสตร์ล่ะ เราจะยังลงคอนเทนต์นั้นได้อยู่หรือเปล่า? หรือถ้าความเป็นกลางคือการที่เราต้องพูดถึงและให้ความสำคัญกับทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม แต่เราทำเว็บ Apple จะต้องลงข่าว Android ด้วยหรือเปล่า ? สิ่งนี้ บอกเราว่า ความเป็นกลางนั้น ไม่อาจถูกนิยามหรือเราไม่สามารถเดินไปบอกว่า ใครเป็นกลางหรือไม่เป็นกลาง เพราะเราเองก็จะแน่ใจตัวเองได้อย่างไรว่าเราเป็นกลาง
ดังนั้น เลิกเสียเวลาเถียงกันเรื่องความเป็นกลางแล้วหันมาสนใจกับการแยกแยะเนื้อหาออกเป็นสองอย่างได้แก่
- Subjective หรืออัตวิสัย คือสิ่งที่เป็นความคิดเห็น เชิงคุณภาพ ดี ชั่ว ร้อน หนาว พอใจ ไม่พอใจ ชอบ ไม่ชอบ
- Objective หรือภววิสัย คือสิ่งที่เป็นความจริง จับต้องได้ พิสูจน์ได้ และทุกคนเห็นตรงกัน เช่น ตัวเลข ขนาด อุณหภูมิ ทุกคนสัมผัสได้เหมือนกัน ดังนั้นถ้าแต่ละคนสัมผัสไม่ได้เหมือนคนอื่น ต้องมีคนใดคนหนึ่งที่อาจจะผิดแน่ ๆ
สรุปก็คือ Subjective เป็นสิ่งที่เปรียบเทียบกันไม่ได้ ดังนั้น สมมติว่าความคิดเห็นเราจะไม่ตรงกับใคร แล้วอีกฝั่งโจมตีว่าเราไม่เป็นกลาง เราสามารถถามหานิยามของความเป็นกลางแทนได้ และแน่นอนว่าเราไม่ได้เป็นกลาง เพราะทุกคนไม่สามารถเป็นกลางได้ แต่เราทุกคนสามารถ ไม่โกหก บิดเบือนสิ่งที่เป็น Fact หรือ Objective ได้
นั่นหมายความว่า สิ่งที่ Fake News, Hate Speech ยังคงหลอกหลอนเราอยู่ทุกวันนี้ ก็มาจาก Objective หรือภววิสัยที่ถูกปรับแต่ง บิดเบือน ซึ่งไม่ว่ามันจะถูกแต่งให้เป็นกลาง หรือถูกแต่งให้โจมตีฝ่ายที่เราไม่ชอบ หรือปรับแต่งเพื่ออวยพวกเดียวกันเอง สิ่งนี้คืออันตรายที่แท้จริงมากกว่าการมาเถียงกันว่านี่เป็นกลางหรือไม่เป็นกลางนั่นเอง
เรียบเรียงโดย ทีมงาน RAiNMaker