ในบทความเมื่อนานมาแล้วเราเคยพาทุกคนมาทำความเข้าใจเรื่องข้อเท็จจริง และข้อคิดเห็น (Objectivity และ Subjectivity) ในบทความเรื่อ หัดแยกข้อเท็จจริง และข้อคิดเห็น เพื่อสร้างคอนเทนต์ที่ดี ซึ่งเราก็สรุปเอาไว้ว่า สุดท้ายแล้วสำหรับผู้เขียนการทำคอนเทนต์ที่ดีนั้น ไม่ใช่ว่าห้ามใส่ข้อข้อคิดเห็นหรือความรู้สึกลงไป สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการสร้างคอนเทนต์ที่ช่วยให้ผู้อ่าน ผู้ชม สามารถแยกได้อย่างชัดเจนว่าอะไรคือข้อเท็จจริง อะไรคือข้อคิดเห็น และข้อคิดเห็นนั้นต้องมาจากข้อเท็จจริงที่ถูกต้องด้วย
แต่จากความวุ่นวายทุกวันนี้ เราอาจจะงง ๆ กับสิ่งที่เราพบเห็นกันบน Social Media ทุกอย่างมันมีความซับซ้อนมากกว่านั้น และการบอกว่าข้อเท็จจริงหรือข้อคิดเห็นก็อาจจะไม่ได้ช่วยให้เราสามารถทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ เช่น
สมมติว่า นาย A พูดว่า “ผมชอบกินข้าว” แล้วปรากฏว่า นาย B เอาไปพูดต่อว่า นาย A ชอบกินข้าว สรุปแล้ว Statement นี้เป็นข้อเท็จจริง (Objectivity) หรือข้อคิดเห็น (Subjectivity) กันแน่ ถ้านาย A ไม่ชอบกินข้าวแล้ว มาชอบกินก๋วยเตี๋ยวแทน แต่นาย A ยังพูดอยู่ว่า นาย A ชอบกินข้าว แล้วนาย B พูดจริงหรือเท็จ ?
เราจะเห็น Pradox แปลก ๆ นี้ในการสื่อสารในชีวิตประจำวันเยอะอยู่ ดังนั้นจริง ๆ การมองว่า ข้อเท็จจริงหรือข้อคิดเห็นอาจจะเป็นเรื่องที่งง ๆ เล็กน้อย เราเลยพยายามใช้คำว่า อัตวิสัย แทน Subjectivity และ ภววิสัย Objectivity มากกว่า เพราะอัตแปลว่าตัวเอง ส่วนภวก็คือภาวะคือสิ่งที่มันเป็นอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม การใช้คำว่าข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็นก็หลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะเป็นคำที่ใช้กันในวงกว้าง
แล้วมีอะไรที่ทำให้เราเข้าใจและมองภาพของข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็นได้เฉียบขึ้น
จากกรณีของนาย A และนาย B ทำให้เราบอกว่า การที่นาย A ชอบกินข้าว แล้วนาย B นำไปพูดต่อว่านาย A ชอบกินข้าว เป็นสิ่งที่ “เสี่ยง” และไม่เป็นสัจจนิรันดร์ เผลอ ๆ ไม่เป็นภววิสัยด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่นาย B ควรทำก็คือการพูดว่า “นาย A บอกผมว่าเขาชอบกินข้าว ตอนที่เราคุยกันเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน” ประโยคนี้จะกลายเป็นภววิสัยหรือ Objectivity แล้ว เพราะต่อให้นาย A ไม่ชอบกินข้าวแล้ว แต่นาย A ก็ไม่สามารถไปถอนคำพูดในอดีตได้
และด้วยวิธีคิดแบบนี้ทำให้เกิด Paradox สนุก ๆ ได้แก่
- ข้อเท็จจริง ของ ข้อเท็จจริง
- ข้อคิดเห็น ของ ข้อคิดเห็น
- ข้อเท็จจริง ของ ข้อคิดเห็น
- ข้อคิดเห็น ของ ข้อเท็จจริง
ฟังแบบนี้อาจจะงง ๆ มาลองค่อย ๆ ไล่ดูทีละตัวกัน ข้อเท็จจริงของข้อคิดเห็น (fact of fact) อันนี้ออกแนววิทยาศาสตร์หน่อย ๆ เช่น โลกหมุนรอบตัวเอง ดังนั้นเราจึงเห็นพระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตก อันนี้จะเป็น fact แน่ ๆ เพราะถูกต้องตามหลักตรรกศาสตร์ มีเหตุผลยืนยันได้
ข้อคิดเห็นของข้อคิดเห็น (opinion of opionion) อันนี้ก็อย่างเช่น นาย A บอกว่าชอบสีแดง แล้วนาย B มาบอกว่า นาย A โง่มากที่ชอบสีแดง นาย A ไม่เหมาะที่จะชอบสีแดงเลย อันนี้ก็คือเป็นการเอาข้อคิดเห็นของคนอื่นมาแสดงความเห็นอีกที ซึ่งจริง ๆ มันก็ไม่ใช่เรื่องที่ไม่ดีเสมอไป จะเป็นเรื่องดี ๆ ก็ได้เช่น นาง C บอกว่าชอบกินสตาร์บั๊ค นาง D ก็เลยบอกว่านาง C ชอบกินสตาร์บั๊คดีจังเลย เธอชอบนาง C
ข้อเท็จจริงของข้อคิดเห็น (fact of opinion) หรือ ภววิสัยของอัตวิสัย คือการที่มีข้อคิดเห็นบางอย่างเกิดขึ้น แล้วเราเอาคุณสมบัติของข้อคิดเห็นนั้นมาพูด กรณีที่ยกไปแล้วก็คือการที่ นาย A พูดว่า “ผมชอบกินข้าว” แล้วนาย B ถ้าจะให้รัดกุมก็ต้องบอกว่า นาย A บอกผมว่าเขาชอบกินข้าว ตอนที่เราคุยกันเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน หรือจะเป็นการเอา opinion มาวัดด้วย metric บางอย่างด้วยค่าเชิงสัมพัทธ์ (relativity) คือการเอาไปเทียบกับอย่างอื่น เช่น วิชัยเขียน Blog ว่าเขาไม่ชอบ iPhone เหมือนกับที่สมพรเขียน Blog ว่าเขาก็ไม่ชอบ iPhone เช่นกัน
ข้อคิดเห็น ของ ข้อเท็จจริง (opinion of fact) อันนี้ทั่วไปมาก ๆ ก็คือเช่น โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์แต่ฉันไม่ชอบเลย หรืออุณหภูมิ 20 องศาแล้วฉันรู้สึกหนาว เป็นต้น สรุปก็คือมันคือข้อคิดเห็นจากสิ่งที่เป็นจริง ๆ ธรรมดา
เข้าใจแล้วนำไปใช้อย่างไร
จริง ๆ แล้ว เราก็เล่าไปในบทความ หัดแยกข้อเท็จจริง และข้อคิดเห็น เพื่อสร้างคอนเทนต์ที่ดี ไปแล้วว่ามันสำคัญอย่างไร ซึ่งการที่เราเข้าใจ Paradox เหล่านี้เพิ่มเติม ก็จะทำให้เรามองภาพต่าง ๆ ออกได้มากขึ้น เวลาที่เราจะเขียนอะไรหรือไปอ่านเจออะไรเราก็จะมี Framework อะไรบางอย่างไปจับเพื่อให้เราอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นได้ และถ้าเราเป็น Content Creator แล้วเราสามารถนิยามได้ว่าสิ่งที่เราบอกเล่าไปเป็นรูปแบบของคอนเทนต์แบบใด ก็จะช่วยให้เราสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นนั่นเอง
เรียบเรียงโดย ทีมงาน RAiNMaker