แต่ละครั้งที่เกิดเหตุการณ์ที่คนให้ความสนใจ มักจะมีสิ่งที่เรียกว่าข่าวปลอม (Fake news) แฝงมาในหน้าไทม์ไลน์ นั่นคือการนำเสนอที่บิดเบือนไปจากความจริง อาจเพื่อให้ได้รับความสนใจจากคนอ่าน หรือเพื่อจุดประสงค์บางอย่าง โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย ที่ข้อมูลข่าวสารสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง ซึ่งคนอ่านอาจเกิดความสับสนและหลงเชื่อข่าวที่ไม่เป็นความจริง
ในฐานะสื่อมวลชนและคนทำคอนเทนต์ จึงควรทำหน้าที่อย่างมีจริยธรรม ไม่ใช่เพียงไม่เป็นต้นตอของข่าวปลอม แต่ต้องไม่ทำให้ข่าวปลอมแพร่กระจายไปในวงกว้างด้วย
RAiNMakerได้พูดคุยกับรองศาสตราจารย์พิจิตรา สึคาโมโต้ หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศและสื่อใหม่ คณะนิเทศศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเรื่องจริยธรรมสื่อและการรับมือกับข่าวปลอม มาดูกันว่าสื่อมวลชนรวมถึงผู้รับสารควรปฏิบัติตัวอย่างไรให้มีจริยธรรมและไม่เป็นส่วนหนึ่งของการเผยแพร่ข่าวปลอม
ความคิดเห็นเป็นเรื่องส่วนตัว
นักข่าวและคนสร้างคอนเทนต์ต้องนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เป็นข้อเท็จจริง ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แยกความรู้สึกส่วนตัวออกจากงานที่กำลังทำ ระมัดระวังการแสดงความคิดเห็นลงในเนื้อหาข่าวเนื่องจากจะทำให้ไม่เป็นกลาง ส่งผลต่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของผู้อ่าน
ไม่บิดเบือนความจริง
นอกจากสื่อจะต้องไม่ใส่ความคิดเห็นส่วนตัวลงในข่าวแล้ว ข้อมูลที่นำเสนอต้องเป็นข้อเท็จจริง สามารถพิสูจน์ได้ ไม่มีการบิดเบือนหรือต่อเติมเนื้อหา แม้จะอ้างว่าทำเพื่อให้เนื้อหาข่าวครบถ้วน
ที่สำคัญคือนำเสนอให้รอบด้าน การนำเสนอข้อมูลจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งบางครั้งอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด ควรให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ทุกฝ่ายได้มีโอกาสพูด เพราะคนอ่านควรได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารตามที่เกิดขึ้นจริง
ไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
นอกเหนือจากผู้รับสารและความถูกต้องของข่าวแล้ว สิ่งที่สื่อต้องระมัดระวังและนึกถึงในการนำเสนอข่าวสารคือสิทธิส่วนบุคคลของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในข่าว โดยเฉพาะเด็ก สตรี และผู้ด้อยโอกาส ไม่กระทำซ้ำความเจ็บปวดหรือความทุกข์ของผู้ที่ตกเป็นข่าวโดยการนำเสนอภาพและข่าวซ้ำๆ ย้ำๆ หรือใช้คำพูดที่ไม่ให้เกียรติ
ยกตัวอย่างกรณีภารกิจช่วยชีวิตทีมหมูป่า ที่วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ที่สื่อมวลชนต้องการได้ภาพและข่าวที่รวดเร็ว ใกล้ชิดที่สุด จนบางทีอาจไม่ได้คำนึงถึงความเป็นส่วนตัวและสภาพจิตใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในข่าว รวมถึงความยากในการปฏิบัติภารกิจของเจ้าหน้าที่ จนสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ต้องออกแถลงการณ์ขอความร่วมมือสื่อมวลชนให้คำนึงถึงจริยธรรม สิทธิส่วนบุคคล และผลกระทบต่อจิตใจและความรู้สึกของผู้ที่เกี่ยวข้องในการรายงานข่าวดังกล่าว ให้เคารพสิทธิของเด็กและผู้ประสบภัย
เช็คก่อนแชร์ ไม่เผยแพร่ข่าวปลอม
หลายครั้งที่การนำเสนอข่าวต้องเป็นไปอย่างรวดเร็ว และสื่อมวลชนไม่สามารถไปลงพื้นที่เพื่อนำข้อมูลมานำเสนอได้ทันที จึงต้องอาศัยการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งอื่น หน้าที่ของสื่อคือตรวจสอบข้อมูลข่าวสารที่ได้มาว่ามาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ สามารถตรวจสอบแหล่งข่าวได้ และข้อมูลที่นำมาถูกต้อง รอบด้าน เพราะข่าวในโซเชียลมีเดีย เมื่อเผยแพร่แล้วจะกระจายไปอย่างรวดเร็ว ข่าวที่ผิดอาจนำมาสู่ความขัดแย้งหรือส่งผลต่อการรับรู้และความรู้สึกของผู้อ่านได้
อย่างไรก็ตามต้องได้รับการอนุญาตจากแหล่งข่าวก่อนจะเผยแพร่ และให้อ้างอิงแหล่งที่มาดังกล่าวด้วย
ถ้าหากพบว่าข่าวที่เผยแพร่ไปมีข้อผิดพลาด ต้องรีบแก้ไขและแจ้งให้ผู้อ่านรับรู้ทันที แต่ก็ไม่สามารถมั่นใจได้ว่าผู้อ่านที่ได้รับข่าวที่ผิดไปแล้ว จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องในภายหลัง เพราะฉะนั้นวิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือตรวจสอบความถูกต้องของข่าวก่อนเผยแพร่
เผยแพร่ไว ไม่ได้แปลว่าเชื่อถือได้
ในยุคที่ผู้รับสารเข้าถึงข้อมูลได้ตลอดเวลาผ่านโซเชียลมีเดีย สื่อจึงต้องแข่งกับเวลาเพื่อนำเสนอข่าวสารให้เข้าถึงผู้อ่านเป็นอันดับแรกๆ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าเวลาคือความถูกต้อง เพราะผู้รับสารแต่ละคนมีความรู้เท่าทันสื่อไม่เท่ากัน บางคนอาจจะเชื่อทุกข่าวที่เห็น ในขณะเดียวกันผู้อ่านที่ต้องการข้อมูลที่ถูกต้องก็จะค้นหาจากสื่อที่เชื่อถือได้ สุดท้ายสื่อที่ผู้รับสารจะวิ่งเข้าหาไม่ใช่สื่อที่เร็ว แต่เป็นสื่อที่เชื่อถือได้
ยกตัวอย่างกรณีเหตุระเบิดราชประสงค์ ในปี พ.ศ. 2559 สำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) ได้ตรวจสอบจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรงพยาบาลโดยตรงก่อนจะนำเสนอข่าว ซึ่งอาจไม่ใช่สำนักข่าวที่นำเสนอข่าวเร็วที่สุด แต่เป็นแหล่งข้อมูลที่ถูกต้องและเชื่อถือได้