“บรีฟดีงานก็จะดี บรีฟไม่ดีงานก็จะพัง” หลายๆ คนอาจจะคุ้นเคยคำนี้เป็นอย่างดี เพราะการรับบรีฟเป็นอะไรที่สำคัญมากที่สุด หากลูกค้าไม่พูดสิ่งที่ต้องการออกมา หรืออธิบายไม่ได้ คนรับบรีฟอย่างเราก็มีหน้าที่ต้องพยายามเจาะข้อมูลออกมาให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ได้งานออกมาตรงตามเป้าหมาย
1. การตั้งคำถามที่ดี
อย่างเเรกเลยคือเราต้องแปลงร่างเป็น “เจ้าหนูจำไม” ก่อนค่ะ พยามยามสงสัยไว้ก่อน สงสัยเยอะๆ เลย โดยเราอาจจะใช้ทั้งคำถามปลายเปิดเเละปลายปิดเพื่อยืนยันข้อมูลว่าเราเข้าใจตรงกันหรือไม่ เมื่อคิดว่าข้อมูลตรงกันเเล้ว อาจจะมีการพูดทวนซ้ำอีกครั้งเพื่อความแน่ใจ พยายามถามหาข้อมูลเชิงลึกให้ได้มากที่สุด เช่น หากได้บรีฟมาว่าอยากขายน้ำส้ม เราอาจจะต้องถามเพิ่มอีกว่า เป็นน้ำส้มลักษณะแบบไหน จะขายราคาเท่าไหร่ ต้องการให้นำเสนอมาในรูปแบบไหน เป็นต้นค่ะ
2. ใครคือกลุ่มเป้าหมาย
การกำหนดกลุ่มเป้าหมายอย่างชัดเจนสำหรับงานนั้นๆ เพื่อให้เรามองเห็นภาพรวมของงานทั้งหมด ไม่กว้างเกินไป ถือเป็นสิ่งที่จะช่วยให้เราทำงานได้ง่ายขึ้น ทั้งรูปแบบและช่องทางการนำเสนอ อาจจะต้องสวมวิญญาณนักสืบสักนิดนึง ถามให้ละเอียดที่สุด เช่น เขาคือใคร ทำอะไร ที่ไหนอย่างไร เป็นคนที่มีอิทธิพลในการซื้อมากน้อยเเค่ไหน
3. เป้าหมายของงานนี้คืออะไร
นอกจากจะต้องทราบกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการจะสื่อสารเเล้ว อีกอย่างที่ต้องทราบนั่นก็คือ เป้าหมายของกิจกรรมครั้งนี้ หรือเป้าหมายการทำแคมเปญครั้งนี้ ว่าจัดทำขึ้นมาเพื่ออะไร เช่น เป็นการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลเพื่อเพิ่ม Awareness หรือต้องการที่จะขายเลย เป็นต้น
4. ถามถึงสิ่งที่ไม่อยากได้
เป็นอีกอย่างที่สำคัญมากๆ เลยค่ะ บางคนถามแต่ว่าต้องการอะไรบ้าง พอส่งงานจริงกับมีของหรือข้อจำกัดที่ลูกค้า say no ในที่สุด เช่น อะไรสามารถอยู่ในเฟรมได้บ้าง Mood & Tone (สีสัน, อารมณ์, ความรู้สึก) ต้องการแบบไหน เน้นหรือห้ามสีไหนเป็นพิเศษหรือไม่
5. ระยะเวลา หรือ Deadline
หากเราทราบระยะเวลาที่แน่ชัด จะช่วยให้เรามองเห็นสเกลงานมากขึ้น ว่าใหญ่หรือเล็ก รายละเอียดมีเยอะหรือน้อยขนาดไหน การทำงานที่ดีควรมี ตารางเวลาที่ชัดเจนว่า แต่ละช่วงต้องทำอะไรบ้าง เพื่อเป็นการวางแผนให้กับตัวเอง เเละยังให้ลูกค้าเห็นขั้นตอนการทำงานได้มากขึ้นอีกด้วยค่ะ