ในยุคที่ Content Creator สามารถหาเลี้ยงชีพได้ และแตกย่อยออกมาเป็นหลายต่อหลายสาย ชนิดที่เรียกได้ว่าถนัดอันไหนก็ไปทำอันไหน ซึ่งแต่ละสายเองถ้าไม่นับเรื่องความชอบและความถนัด ทั้งงานที่ทำและรายได้ก็เป็นอีกข้อที่สร้างความแตกต่างกันอยู่มาก
ซึ่งก็มีอีกสายหนึ่งของ Content Creator ที่หลายคนอยากจะเป็น นั่นคือ “สายเกม” ที่ใช้คำว่าเล่นเกมจนเป็นงานก็ไม่ผิดนัก และสำหรับหลายคนที่มีความสนใจ วันนี้เราจะมา “เล่าเรื่องงาน” ของครีเอเตอร์สายเกมให้ฟังกัน
เหมือนกับทุกสาย คือต้องชอบก่อน
ถ้า “ไม่ชอบเล่นเกม” การถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับเกมก็คงทำได้ไม่คล่องแคล่วเท่าคนที่เล่นเกมมานาน เพราะฉะนั้นการเป็น Content Creator สายเกมก็ไม่แตกต่างจากสายอื่น นั่นคือต้องชอบก่อน ชอบจนมีความเชี่ยวชาญในเรื่องราวต่างๆ ของเกมประมาณหนึ่ง
ซึ่งในความชอบนั้นอาจไม่ต้องถึงกับมีประสบการณ์นานหลายปี แต่แค่มีประกายความ “อยากเล่า” ถูกจุดขึ้นมาก็เป็นอันเพียงพอ
คน-เขียน-คอนเทนต์-เกม
พอบอกว่าเป็น Content Creator ก็สามารถใช้คำนี้ได้กับทุกสาย จะเป็น YouTuber เล่าเรื่องเกม ทำคลิปสนุกๆ หรือ Shoutcaster (พากย์เกม) ก็เป็นได้
ซึ่งสำหรับตัวผู้เขียนเอง ในการทำงานทั้งหมดกว่า 90% จะเป็นการเขียนคอนเทนต์เกมในลักษณะภาพกราฟิก บทความ รีวิว มีม ฯลฯ ซึ่งเป็นรูปแบบคอนเทนต์แนวภาพนิ่งเสียส่วนใหญ่ แต่อย่างที่เกริ่นไว้ แนวทางการทำคอนเทนต์นั้นมีหลายรูปแบบอย่างมาก ตามความถนัด แผนการทำงาน และความยืดหยุ่นของตัวแพลตฟอร์ม
ใช่แล้ว บทความนี้คือบทความบอกเล่าประสบการณ์กึ่งสัมภาษณ์
ซึ่งผู้เขียนได้ทำการสัมภาษณ์ตัวเองนั่นเอง
ที่ชอบที่ชอบ และที่ไม่ได้ชอบ
ปกติแล้วเราไม่ได้เล่นเกมกันทุกเกม และเราอาจมีโอกาสเลือกเกมได้จากความชอบ (หรืองบประมาณในขณะนั้น) ซึ่งสุดท้ายเราก็คงจะเล่นเกมที่เลือกมาแล้วว่าน่าจะถูกใจ และเล่นมันด้วยความเพลิดเพลินกัน แต่เมื่อมาเป็น “นักเล่าเรื่อง” ที่เกี่ยวกับวิดีโอเกมแล้ว การที่เราจะต้องเล่นเกมเป็นจำนวนมากก็ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ในเกมจำนวนมากนั้นอาจมีเกมที่เราไม่ได้เพลิดเพลินอยู่ไม่น้อยด้วยเช่นกัน
และกับเกมที่ไม่ได้ชอบ หรือเกมที่ปกติมักจะไม่ได้เป็นตัวเลือกแรกๆ ของเรา แต่ด้วยหน้าที่การงานแล้ว เรื่องนี้ทำให้เราต้องฝึกมองเกมทุกเกมผ่านเลนส์ที่เรียกว่า “เกมออกใหม่น่าสนใจ” เหมือนกัน (ส่วนปลายทางจะเป็นอย่างไรก็เป็นอีกเรื่องนึง)
“เล่น” เพื่อสนุก กับ “เล่น” เพื่อทำงาน
ต่อจากข้อที่แล้วอาจทำให้เราต้องเปลี่ยน “การเล่นเกม” เป็น “การทำงาน” มากขึ้น จากที่เคยเปิดเกมมาเล่นด้วยความเพลิดเพลินเพียงอย่างเดียว เราจำเป็นต้องเพิ่มเติมการเล่นเกมของเราในทุกๆ รายละเอียด ไม่ว่าจะเป็นลักษณะต่างๆ ของเกม เนื้อหา กราฟิก รูปในเกมที่จะต้องแคปมามากมายกว่าปกติ ประสบการณ์ในการเล่น (และกับ “เกมมิ่งเกียร์” หรืออุปกรณ์ต่างๆ ก็เช่นกัน) สิ่งต่างๆ เหล่านี้คือสิ่งที่ปกติเราไม่เคยต้องทำ เพียงเพราะ “เราไม่เคยบอกให้คนอื่นได้รับรู้อย่างละเอียด” แต่เวลาเราเล่นเรารู้ตัวเองดีโดยที่ไม่ต้องทำ เพราะประสบการณ์การเล่นมันผ่านสายตา หู และสัมผัสจากนิ้วที่ควบคุมอุปกรณ์อยู่
แต่อยากให้จำไว้หนึ่งอย่างว่า ไม่ว่าเราจะเล่นด้วยความเพลิดเพลิน หรือเก็บรายละเอียดไว้เพื่อการทำงาน เรายังสามารถเล่นเกมด้วย ”ความสนุก” ได้อยู่ เพราะ
ความสนุกจะเป็นชั้นกรองอย่างดี
ที่ทำให้เราสามารถถ่ายทอดความรู้สึกจริงๆ ออกมาให้ผู้ชมได้รับรู้
จะชอบไม่ชอบก็ได้ แต่ต้องบอกเล่าได้ด้วย
แม้ว่าการส่วนหนึ่งของเล่นเกมจะกลายเป็นการทำงานของเรา แต่ด้วยความเป็นมนุษย์แล้ว อารมณ์ความ “ชอบ และไม่ชอบ” จะยังคงวนเวียนอยู่ในความรู้สึกเราตลอดเวลาอยู่ดี ซึ่งการจะบอกเล่าความชอบไม่ชอบนั้น “ไม่ผิด” (การฝืนใส่ความรู้สึกที่ไม่จริงลงไปในคอนเทนต์บ่อยๆ แลดูจะเป็นเรื่องไม่โอเคมากกว่า)
แต่การเผยความรู้สึกชอบไม่ชอบนั้นอาจทำหยาบๆ เหมือนเวลาคุยเล่าเล่นกับเพื่อนไม่ได้ซะทีเดียว เนื่องจากเราต้องสื่อสารกับผู้อ่านเป็นจำนวนมาก ดั้งนั้นการใช้เหตุผลเพื่ออธิบายอย่างละเอียดเป็นสิ่งที่จำเป็น หรือพูดง่ายๆ ก็คือ
อยากแสดงความรู้สึกอย่างไร
ก็ต้องอธิบายให้ผู้อ่านเข้าใจได้ด้วย
ลืมอะไรก็ได้ แต่ห้ามลืมความสุขที่ได้จากวิดีโอเกม
สำหรับ Content Creator สายนี้ ในวันหนึ่งเราอาจจะถึงขั้นที่ “ล้าจากการเล่นเกม” จนอาจทำให้เบื่อ หรือเล่นเกมบางเกมไม่สนุก ไม่ได้อยากเล่นอีกต่อไป ซึ่งเป็นกันได้ทุกคน ทุกวงการ โดยข้อนี้อาจจะต้องอาศัยการเยียวยาในแบบฉบับของแต่ละคนเอง เพื่อให้ความรู้สึกกระปรี้กระเปร่ากลับคืนมาได้อีกครั้ง
และสิ่งที่เราจะทำขาดหายไปไม่ได้เลยเมื่อตัดสินใจเข้ามาในวงการการทำคอนเทนต์แล้วคือ “ความสุขที่ได้จากสิ่งนั้น” ซึ่งในที่นี้ก็คือวิดีโอเกม เพราะเกม ถูกสร้างมาเพื่อความสุขกับคนเล่น และการที่เราต้องเป็นคนบอกเล่าเรื่องราวนั้นให้กับผู้อ่าน เราก็ควรจะรับความสุขจากมันมาให้ตัวเองได้เต็มที่ก่อน