YouTube นับเป็นแพลตฟอร์มวิดีโออันดับหนึ่ง ที่เป็นช่องทางที่หลายคนมุ่งทำ Digital Marketing ไม่ว่าจะเป็นเหล่าครีเอเตอร์ อินฟลูเอนเซอร์ หรือแบรนด์เองก็ตาม ถึงแม้ทุกวันนี้จะมีแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นอย่างสตอรี ทั้งบนเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม รวมถึง TikTok แล้ว แต่หากยังอยากทำวิดีโอยาวยูทูบก็ยังคงเป็นแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์อยู่ โดยอาจใช้แพลตฟอร์มวิดีโอสั้นเป็นตัวช่วยในการโปรโมตก็ได้
โดยหลักการต่อไปนี้สามารถนำไปปรับใช้กับการทำคลิปปกติที่ไม่ต้องการขายอะไรเลยก็ได้ เพราะนับเป็นหลักขั้นพื้นฐานที่ควรคำนึงถึงในการทำวิดีโออยู่แล้ว เพราะการทำวิดีโอไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็จะหยิบกล้องขึ้นมาถ่ายแล้วจะได้ออกมาตามที่หวังง่ายๆ จึงต้องมีการเตรียมการก่อนที่จะสร้างวิดีโอนึงขึ้นมา เพื่อที่จะได้รู้แนวทางว่าเราจะทำคลิปออกมายังไง แล้วมันจะเหมาะกับยูทูบหรือไม่ ดังนั้นเราควรจะรู้สิ่งที่ต้องทำหลักๆ คือ
Story Telling
สิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ว่าจะเป็นการทำคอนเทนต์ประเภทไหนก็ตาม คือ การเล่าเรื่อง ในกรณีนี้ก็คือการเล่าเรื่องผ่านวิดีโอนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นคอนเทนต์ที่ขายของหรือเป็นคอนเทนต์ทั่วไปก็ตาม จะได้เป็นการไกด์แนวทางว่าเราต้องการจะสื่ออะไร ออกมาในรูปแบบไหน
วางสคริปต์และ Story board
เพื่อให้เห็นภาพของวิดีโอมากขึ้น ทุกการดำเนินงานควรจะมีการวางแผนอย่างเป็นระบบ ต้องมีการวางบทเขียนสคริปต์เพื่อให้รู้แนวทาง และเพื่อกันไม่ให้หลงลืมในการถ่ายทำ เช็กได้ว่าฉากไหนถ่ายแล้วฉากไหนยังไม่ได้ถ่าย เพื่อจะได้ทำตามสคริปต์ที่วางไว้ได้อย่างครบถ้วน
ส่วน Story board จะช่วยให้เห็นภาพของคลิปวิดีโอมากขึ้นว่าเนื้อเรื่องจะต่อเนื่องกันยังไง ฉากไหนต้องใช้อะไร ถ่ายอะไรบ้าง ควรมีการเขียนกำกับข้างล่างสตอรีบอร์ดแต่ละช่องว่าฉากนั้นเป็นการเล่าถึงเรื่องอะไร ถ้ามี Voiceover ก็ควรเขียนบทพูดประกอบลงไปด้วย เพื่อความสะดวกในการถ่ายทำ และสามารถทำให้ตามทันว่าถ่ายทำถึงฉากไหนอยู่
ควรจะมีรูป บอกฉาก คำอธิบายสั้นๆ ว่าฉากนี้เกี่ยวกับอะไร ถ้ามี Voiceover ด้วยก็ใส่บทพูดประกอบด้วย รวมถึงบอกมุมกล้อง
โปรยคำถามเชิงบวกเปิดคลิป
เพราะการเปิดด้วยคำถามที่เป็นเชิงลบ อาจเกิดความรู้สึกในเชิงลบต่อแบรนด์ได้ ทางที่ดีควรเปิดมาด้วยคำถามที่เป็นเชิงบวกมากกว่า เช่นแทนที่จะพูดว่า “คุณอยากจะอยู่ในห้องที่เต็มไปด้วยแมลงหรอ?” เปลี่ยนเป็น “คุณอยากจำกัดปัญหาแมลงให้หมดไปใช่มั้ย” อาจช่วยทำให้ Mood & Tone ดูเป็นมิตรมากขึ้น
ที่สำคัญคำถามที่โปรยไม่ควรยาวเกินไป เพราะหากยาวเกินไปจะทำให้คนดูไม่รู้ว่าใจความสำคัญที่แบรนด์ต้องการจะสื่อคืออะไร แถมยังจะทำให้ความน่าสนใจลดลง เนื่องจากเหมือนเป็นการอัดข้อมูลเยอะๆ ในครั้งเดียว จนอาจทำให้คนดูตัดสินใจเลื่อนหรือปิดคลิปวิดีโอได้
ใช้สัญลักษณ์แทนคำพูด
ใช้ทุกสิ่งเป็นตัวสื่อสารเกี่ยวกับแบรนด์หรือตัวตนออกไป ไม่ว่าจะเป็นสี ใช้สีประจำตัว สถานที่ ใช้สถานที่ๆ ผลิตภัณฑ์สามารถไปอยู่ตรงนั้นได้ สัญลักษณ์ ดนตรีประกอบหรือเพลง ดูว่าเข้ากับ Mode & Tone ของตัวเราหรือไม่ เพราะก็ถือเป็นหนึ่งในตัวสะท้อนภาพลักษณ์และภาพจำของได้ การใช้เสียง ดูว่าการใช้เสียงใน Voiceover ผู้หญิงหรือผู้ชาย เสียงผู้สูงอายุหรือเสียงเด็ก เสียงโทนไหน ขึ้นอยู่กับว่ากลุ่มเป้าหมายของคุณคือใคร
จัดไฟให้เหมาะสม
ควรเลือกจัดไฟในการถ่ายให้เหมาะสม โดยเฉพาะในซีนที่ต้องการจะโชว์ผลิตภัณฑ์ ไม่ควรจะเหมือนกับการถ่ายเล่นๆ โดยการจัดไฟในการถ่ายทำก็สามารถแบ่งออกได้ตามงบประมาณและความชำนาญของการถ่าย จะใช้เป็นการจัดไฟธรรมดาแบบในห้อง การจัดไฟในสตูดิโอ หรือใช้ทีมจัดไฟมืออาชีพเลยก็ขึ้นอยู่กับสเกลงานของแต่ละคน
ตั้งชื่อคลิปด้วยคำถาม
ตั้งคำถามโดยอิงในสิ่งที่คนมักค้นหา หรือสิ่งที่คิดว่าคนน่าจะสงสัย เนื่องจากคนส่วนมากชอบค้นหาโดยใช้คำถามที่มาจากความสงสัยในเรื่องนั้นๆ การตั้งชื่อคลิปเป็นคำถามก็จะเพิ่มโอกาสในการเจอคลิปเรามากขึ้นนั่นเอง
ความยาวประมาณ 2-5 นาที
พยายามทำให้คลิปสั้นและกระชับ เพื่อดึงให้คนสามารถดูได้จนจบ ทุกวันนี้คนใช้เวลาอยู่บนแพลตฟอร์มไม่นานมาก ด้วยสภาพการใช้ชีวิตและแพลตฟอร์มอื่นๆ โดยเฉพาะวิดีโอสั้นที่ผุดขึ้นมามากมาย ทำให้คนดูถึงดึงเวลาไปเยอะขึ้นนั่นเอง
คุณภาพเสียงคมชัด
มั่นใจว่าใช้อุปกรณ์ในการอัดเสียงที่มีคุณภาพ เช็กไมค์ก่อนถ่ายทำทุกครั้ง และต้องมั่นใจว่าจะไม่มี Noise รบกวนขณะถ่ายทำ
โชว์ผลิตภัณฑ์ในวิดีโอ
พยายามแทรกผลิตภัณฑ์หรือสิ่งที่ต้องการจะสื่อสารภายในวิดีโอให้เห็นเป็นระยะ เพื่อเป็นการย้ำให้คนดูจำได้
Call-to-action
เพื่อให้คนเกิดปฏิกิริยากับสิ่งที่เราสื่อสารไป และให้คนดูทำอะไรมากกว่าการดูเฉยๆ เช่นการทำคลิปออกไปก็อยากให้คนดูมี engagement กับคลิปทั้งการไลก์ คอมเมนต์ หรือแชร์ กระท่ังสามารถกดลิงก์เข้าไปดูรายละเอียด ซื้อสินค้า หรือติดตามช่องทางอื่นๆ เพิ่มเติมได้อย่างง่ายดาย อาจไปจนถึงการตัดสินใจซื้อสินค้า
เลือก Thumbnail ให้น่าสนใจ
เนื่องจาก Thumbnail จะเป็นหน้าปกด่านแรกที่คนเห็นก่อนจะเข้าไปดูคลิป เพราะฉะนั้นต้องนำเสนอออกมาให้น่าสนใจ ล้อไปกับเนื้อหาและแนวทางของตัวเอง สามารถอ่านคำโปรยบน Thumbnail แล้วรู้ว่าในคลิปกำลังจะพูดถึงเรื่องอะไร แต่ที่สำคัญต้องอย่าให้ตัวหนังสือเยอะจนเกินไปจนไม่น่าอ่าน
ให้ข้อมูลในส่วนที่คนดูน่าจะถามบ่อย
ถ้าเป็นในส่วนของการรีวิวหรือการขายผลิตภัณฑ์ควรจะรวบรวมคำถามที่มักได้ยินบ่อย หรือคำถามที่คาดว่าจะถูกถามบ่อย เช่น ติดต่อเกี่ยวกับบริการหลังการขายได้ที่ไหน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ไหน เพื่อเป็นการให้ข้อมูลที่ครบถ้วน เพราะคนดูมักจะคาดหวังความสะดวกสบายในการรับข้อมูลที่ครบถ้วน
ทำให้ Mood & Tone เรียบง่ายและสื่อสารไปถึงคนดูได้
การฟาดข้อมูลทั้งหมดแบบอัดแน่นอาจไม่ใช่คำตอบสำหรับการดูคลิปวิดีโอ การใช้คำพูดที่เข้าใจยากเองอาจทำให้สื่อสารไปไม่ถึงคนดูเช่นกัน จนอาจทำให้ไม่เกิด engagement คนดูไม่สามารถสื่อสารกับเราได้ เพราะฉะนั้นควรทำคอนเทนต์ในแนวเรียบง่ายที่สามารถสื่อสารกับคนดูได้ในวงกว้าง เป็นสิ่งที่คนดูสามารถสื่อสารตอบกลับ หรือบอกต่อในสิ่งที่เราสื่อสารไปได้
ใช้เพลงประกอบให้เหมาะสม
การเลือกเพลงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ เพราะเป็นตัวเสริมวิดีโอให้น่าสนใจ และจะเป็นภาพจำให้กับวิดีโอและช่องได้อีกด้วย พูดง่ายๆ ก็คือเป็นตัวที่สามารถกำหนด Mood & Tone ให้กับตัวตนของเราได้
ใช้ B-roll Footage
เป็นภาพหรือวิดีโอที่แทรกเข้ามาเพื่อประกอบเล่าเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องกัลกล้องหลัก เพื่อช่วยเสริมภาพให้คนดูเห็นภาพมากขึ้น และจะได้ไม่ค้างที่กล้องเดียวจนน่าเบื่อจนเกินไป
มี Voiceover บ้างในบางฉาก
ควรใช้โดยเฉพาะฉากที่ไม่เห็นหน้าคนพูด เช่นมีการแทรกวิดีโอเข้ามา พร้อมใช้เสียงพูดประกอบเพื่ออธิบายฉากนั้นๆ เพื่อให้คนดูเข้าใจในภาพมากขึ้น เนื่องจากการจะขายสินค้าจำเป็นต้องอธิบายคุณลักษณะ หรือสรรพคุณต่างๆ ด้วย
เลือกตัดบางส่วนเป็น Highlight โปรโมตวิดีโอ
เป็นเหมือนไฮไลต์สั้นๆ เอาช่วงที่น่าสนใจ แต่ไม่ใช่วิดีโอทั้งหมด เพื่อเป็นการโปรโมตเหมือนเป็นวิดีโอทีเซอร์เพื่อให้ติดตามวิดีโอหลักอีกที อาจใช้ตัดเฉพาะส่วนเพื่อไปลงบนแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นอย่างสตอรีบนอินสตาแกรมหรือเฟซบุ๊ก หรือ TikTok เป็นต้น
ที่มา : Social Media Today