เมื่อเกิดเหตุการณ์สำคัญใดใดขึ้น สื่อจะทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงในการบอกเล่าเรื่องราว ที่มาที่ไป และบทสรุป ซึ่งส่งผลต่อการรับรู้และตัดสินใจของผู้รับสารเป็นอย่างมาก จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สื่อต้องวางตัวเป็นกลาง และไม่ใส่เรื่องราวเพิ่มเติมลงไปในเนื้อหา เพื่อไม่ให้เกิดความอคติ (Bias)
แต่หากสำนักข่าว รายงานข่าวหรือเหตุการณ์ที่ไม่ตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ด้วยการนำเสนอเพียงบางส่วน หรือเอนเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง ก็อาจเกิดเป็นข้อกังขา และทวงถามถึงความเหมาะสมของความเป็นสื่อได้ แน่นอนว่า Content Creator นั้นก็ถือเป็นสื่อเช่นเดียวกัน ในวันนี้ RAiNMaker ก็เลยขอหยิบยก 10 จรรยาบรรณสื่อสารมวลชนสากล (จากทั้งหมด 23 ข้อ ใน The Complete Reporter) มาให้ทุกคนดูกัน
สำหรับจรรยาบรรณสื่อสารมวลชนสากล มีทั้งหมด 23 ข้อด้วยกัน อ้างอิงจากหนังสือ The Complete Reporter Fundamentals of News Gathering, Writing, and Editing 7ED โดย Kelly Leiter, Julian Harris และ Stanley Johnson ซึ่งผู้เขียนก็ได้คัดเลือกข้อสำคัญๆ สำหรับชาว Content Creator ได้ดังนี้
1. ต้องเสนอข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านแก่ผู้รับสาร (The truth and the whole truth)
การสื่อสารอย่างเป็นกลาง ถือเป็นเรื่องสำคัญในฐานะนักสื่อสาร เพราะการนำเสนอข้อมูลไม่ว่าด้านไหนก็ตามเพียงด้านเดียว อาจทำให้คนที่ดูสื่อตัดสินใจไปแล้วเรียบร้อย (และความเชื่อแบบปักใจนั้นก็เปลี่ยนได้ยากเสียด้วย) ทางที่ดีคือนำเสนอแบบทุกมุมมอง แล้วให้ประชาชนตัดสินใจด้วยวิจารณญาณดีกว่า
2. ไม่ก้าวก่ายสิทธิส่วนตัวของบุคคลอื่น (Do not to invade the private rights)
เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอยู่บ่อยครั้งกับการนำเสนอเรื่องราวต่างๆ ที่อาจเป็นการละเมิดสิทธ์ส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องในวงการบันเทิง หรือเรื่องอื่นๆ ก็ตาม ดังนั้นหากมีความจำเป็นต้องเล่า ก็ควรเล่าอย่างมีความรับผิดชอบทางจริยธรรม คือ มีความยุติธรรมต่อบุคคลที่ตกเป็นข่าว นำเสนอข้อมูลและข้อเท็จจริงอย่างถูกต้อง
3. ซื่อสัตย์ต่อบุคคลที่นำมากล่าวถึงในคอลัมน์ (Play fair with persons quoted in its columns)
บุคคลที่นำมากล่าวถึงในคอลัมน์ ถือเป็นบุคคลที่ 3 การนำเรื่องราวมาเล่าต่อ หรือเป็นการอ้างถึง ควรเอ่ยตามที่ได้ยินมา ซึ่งเป็นความจริง ไม่บิดเบือน หรือเล่าตามที่ได้ตกลงกันไว้เท่านั้น
4. สร้างความสัมพันธ์อันดีแก่ชุมชน (Seek to build its community)
คอนเทนต์ที่เราสร้าง ไม่ควรเป็นการทำให้ชุมชนแตกแยก และเพิ่มความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันในชุมชนมากขึ้น
5. คำนึงว่าการหย่าร้าง การฆ่าตัวตายนั้น เป็นปัญหาสังคมสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรเสนอข่าวไปในเชิงไม่สุภาพ
(To recognize divorce, suicide as an unfortunate social problem)
ไม่ว่าคาแรคเตอร์ หรือมู้ดในการนำเสนอคอนเทนต์เราจะเป็นแบบไหนก็ตาม แต่หากหัวข้อที่นำเสนอนั้นเป็นด้านลบ ก็ควรนำเสนอด้วยความเคารพ สุภาพ และกระชับ ที่สำคัญควรขึ้น Trigger Warning (การเตือนว่าคอนเทนต์เทนต์มีเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร) เพื่อเป็นการคำนึงถึงคนที่มีบาดแผลในจิตใจกับเรื่องราวด้านนี้ด้วย
6. อย่ากล่าวโจมตีคู่แข่ง (Do not attack on competitive)
แม้จะเกิดเคสนี้บ่อยที่ต่างประเทศในวงการโฆษณา ดูเป็นการแข่งขันที่ท้าทายและสนุกสนาน แต่ก็มักเป็นการบอกใบ้หรือบลัฟกันแบบอ้อมๆ เท่านั้น เพราะการกล่าวโจมตีคู่แข่งโดยตรง อาจเข้าข่ายหมิ่นประมาท และเป็นการใส่ร้ายแบรนด์อื่นๆ ได้ โดยยังไม่มีการพิสูจน์หรือมีหลักฐานได้
7. อย่าหัวเราะเยาะความวิกลจริต จิตทราม หรือพลาดโอกาสของบุคคล (Do not ridicule the insane or the feebleminded or misfortunes)
พฤติกรรมที่แปลกไปอันเกิดจากความไม่ตั้งใจของตัวบุคคล ไม่ว่าจะเป็นเพราะการเจ็บป่วย ความเข้าใจผิด หรือแม้แต่การพลั้งพลาดใดๆ ก็ตาม ไม่ควรนำมาเล่าหรือถ่ายทอดเป็นเรื่องขำขันสนุก แม้สิ่งที่เห็นอาจจะดูตลก แต่ที่มาของสิ่งนั้นน่าเจ็บปวดไม่น้อยเลยทีเดียว
8. เคารพนับถือวัด โบสถ์ เชื้อชาติ และเผ่าพันธุ์ของบุคคล (Respect churches, nationalities and races)
ความเชื่อนั้น ถือเป็นเรื่องส่วนบุคคล แม้จะนับถือไม่เหมือนกัน ก็ควรเคารพและไม่ล่วงเกินในสิ่งที่คนอื่นยึดถือและศรัทธา คิดในทางกลับกัน เราก็ไม่ชอบใจหากสิ่งที่เราชื่นชมถูกคนอื่นล้อเลียนหรือแสดงความไม่เคารพใช่ไหมล่ะ
9. แก้ไขข้อผิดพลาดที่พบในทันที (Be prompt in correcting errors)
หากคอนเทนต์ที่เรานำเสนอไปแล้วนั้น ดันมีข้อผิดพลาดขึ้น สิ่งที่ควรทำคือรีบแก้ไข ดูว่ามีใครได้รับความเสียหายจากข้อมูลที่ผิดบ้าง และดำเนินการชดเชยตามความเหมาะสม เพื่อลดโอกาสในการเกิดความขัดแย้งนั่นเอง
10. จำไว้ว่าข่าวที่นำเสนอนั้น มีเยาวชนชายหญิงอ่านด้วย (Remember that the new is read by young boys and girls)
Content Creator ทุกคนมีวิธีการสร้างคอนเทนต์ของตัวเอง เพื่อสร้างการจดจำที่แตกต่างกัน หลายคนเน้นไปที่การให้ข้อมูล ขณะที่หลายคนก็เน้นไปที่มู้ดและโทนในการถ่ายทอด จึงอาจจะมีการเผลอใช้คำพูดที่รุนแรง หรือแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมออกมา แต่เนื่องจากส่วนใหญ่แล้ว ข้อมูลที่ถ่ายทอดออกไปนั้น เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าใครจะได้รับสารเหล่านั้นบ้าง ดังนั้นก็ควรจะพิจารณาดูว่าคอนเทนต์ที่เรากำลังจะสร้างอันตราย หรือต้องใช้วิจารณญาณแค่ไหน หลีกเลี่ยงได้หรือไม่ หรือหากถ่ายทำหรือสร้างไปแล้ว ก็อาจใช้วิธีการขึ้นป้ายเตือน หรือตัดเนื้อหาบางส่วนออก เป็นต้น
แม้ไม่เคยเห็นข้อกำหนดเหล่านี้ผ่านตา ก็เชื่อว่าความถูกต้องเหล่านี้ถือเป็น common sense กันอยู่แล้ว เพื่อนๆ คิดว่าข้อกำหนดจริยธรรมเหล่านี้ มีข้อไหนที่ควรมีการปรับเปลี่ยน หรือควรมีข้อกำหนดใหม่ ก็สามารถแสดงความเห็นกันได้
ที่มา The Complete Reporter Fundamentals of News Gathering, Writing, and Editing 7ED, ศูนย์ศึกษากฎหมายและนโยบายสื่อมวลชน