มาพบกันอีกแล้วสำหรับหัวข้อในแบบจี๊นนนจีนนน วันนี้ทีมงานจะพาทุกคนมารู้จักกับ Social ยอดฮิตทั้งหลายของจีนกันสักหน่อย หลายคนอาจเคยคุ้นหูจากข่าวสารต่างๆ หรือหลายคนอาจไปเล่นเกม หรือใช้โปรดักซ์แบรนด์ไหนของจีน โดยเฉพาะพวกเกมต่างๆ สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือการสมัครโดยเชื่อมโยงบัญชี เหมือนที่เราใช้ Facebook และ Twitter เชื่อมโยงบัญชีแทนการสมัครโดยตรงจากเว็บ
เชื่อว่าหลายคนที่ใช้แอปที่เกี่ยวข้องเหล่านี้คงสงสัยว่าพวกแอปจีนทั้งหลายคืออะไรกันนะ? วันนี้เราจะมาแนะนำคร่าวๆถึงฟีเจอร์เด่น และอิทธิพลที่แบรนด์โซเชียลเหล่านี้มีกับชาวจีนกันค่ะ
WeChat แอปโซเชียลที่ใช้ส่งข้อความ ยอดฮิตของจีน และฟีเจอร์อื่นๆที่น่าสนใจอีกมากมาย
Wechat เป็นโปรดักซ์ในเครือบริษัท Tencent ที่มีผู้ใช้กว่า 800 ล้านคนทั่วโลก นอกจากฟีเจอร์หลักคือการส่งข้อความ และ Video Call แล้ว WeChat ยังสามารถส่งข้อความเสียง, ส่งสติ๊กเกอร์ Emotion, Official Account, และโพส Moments บนไทม์ไลน์
ภาพ Moments ของแบรนด์ต่างๆใน Wechat
ซึ่งโดยทั่วไปแล้วฟีเจอร์ต่างๆจะมีคล้ายกับแอป Line ที่พวกเราใช้อยู่ จริงๆฟีเจอร์ ข้อความเสียง และ Video Call รวมทั้ง Official Account และ Moment หรือหน้าไทม์ไลน์ แอป Wechat มีมาก่อน Line ซะอีก
ความแตกต่างของ Wechat และ Line ที่พบเพิ่มเติมก็คือเรื่องของการ Add Friend ที่ Line จะสามารถแอดไปทักอีกฝ่ายได้เลย แต่ Wechat ต้องรอให้อีกฝ่ายตอบรับก่อน ถือเป็นการป้องกันความเป็นส่วนตัวที่ดีเช่นกัน แต่ขณะเดียวกัน Wechat เองก็มีฟีเจอร์ Shake ไว้ใช้เขย่าเพื่อหาเพื่อนแบบสุ่ม แน่นอนว่าเราจะเจอใครก็ไม่รู้แนะนำขึ้นมาให้เราแอด หรือบางทีเราเองก็อาจจะได้รับแอดจากคนแปลกหน้าด้วยเช่นกัน แต่จริงๆแล้ว Shake ยังสามารถใช้หาเพลงได้เหมือนแอป Shazam อีกด้วยนะ
ข่าวที่ Wechat ใช้ในแอปจะเป็นข่าวจากเว็บอื่นๆ อาทิ Weibo, QQ หรือเว็บที่น่าเชื่อถือ และมีการจัดอันดับข่าวสารตามเทรนด์ ในขณะที่ Line จะมีข่าวที่มาจากเว็บของตนอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังสามารถเติมเงินออนไลน์ Wechat Pay ได้ในแอป สามารถเรียกแท็กซี่ สั่งอาหาร ซื้อของออนไลน์ได้ในแอปเดียวกันอีกด้วย
Weibo แอปโซเชียลที่ถูกเปรียบเทียบกับ Twitter อยู่บ่อยครั้ง แต่ทำอะไรได้มากกว่า
สาเหตุที่ Weibo มักถูกเปรียบเทียบกับ Twitter อยู่บ่อยครั้งนั้นเป็นเพราะฟีเจอร์การรีโพสที่สามารถทำได้เหมือน Twitter และการโคว้ตข้อความบนรีโพสนั้น ทำได้มาก่อน Twitter เสียด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่พิเศษกว่ามากของ Weibo คือการโพสข้อความและภาพได้เป็นเรียงความยาวๆเหมือน Facebook สูงสุดถึง 2,000 ตัวอักษร สามารถเป็นเรียงความสั้นๆได้ในโพสเดียว
การโพสรูปภาพ 9 ภาพในโพสเดียวกัน โดยแต่ละภาพมีความยาวเท่ากับ 1 บทความสั้นๆ
อัพภาพได้ 9 ภาพ ซึ่งพฤติกรรมการอัพภาพของจีนไม่คำนึงถึงขนาดภาพที่ต้องพอดีเหมือนที่ไทยเรานิยมใช้เป็นเทคนิค ภาพหนึ่งภาพที่คนจีนอัพเราจะได้เห็นเป็นภาพยาวมากๆ ซึ่งน่าแปลกใจที่ไม่ส่งผลต่อความเร็วในการโหลดแต่อย่างใด ภาพยังชัดแจ๋วดีทุกพิกเซล
เห็นได้ว่า Weibo มีทั้งแบนเนอร์โฆษณาแบบตรงๆ และการโฆษณาแฝงในแท็ค
รวมถึงความสะดวกสบายในการเข้าถึงช่องทางการจัดจำหน่ายอย่างการจองตั๋วหนัง
ระบบการใช้แฮชแท็ก สามารถทำได้ดีไม่แพ้ Twitter เลยทีเดียว นอกจากนี้ยังแยกเป็นท็อปแฮชแท็กของแต่ละประเภทด้วย อาทิ ดารา หนัง เกม เป็นต้น ซึ่งในส่วนของหนังก็ยังสามารถกดจองตั๋วได้ทันทีอีกด้วยนะ!
ระหว่างไลฟ์ของช่องนี้ มีตะกร้าสินค้าขึ้นมาตรงมุมขวาบน และเมื่อลองแตะดู
ตะกร้าสินค้าพร้อมระบุราคา และปุ่มพร้อมจ่ายเงิน ก็ปรากฎขึ้นมาให้เห็นทันที
เมื่อ Facebook มี Watch สำหรับ Weibo เอง ก็มีฟีเจอร์ Live เช่นกัน ซึ่งภายในฟีเจอร์ดังกล่าว ยังมีฟังก์ชั่นที่เลือกช้อปปิ้งได้ทันทีอีกด้วย (แต่หลังๆมานี้หาไม่เจอแล้ว ภาพนี้ผู้เขียนเคยเปิดเจอมาครั้งนึงจึงนำมายกตัวอย่างให้เห็นภาพ)
ความน่าสนใจของ Weibo ที่แตกต่างกับโซเชียลอื่นมากๆคือ ผู้เขียนรู้สึกว่าทุกพื้นที่ของแพลต์ฟอร์มสามารถขายของได้หมด และเข้าถึงโปรดักซ์ได้โดยง่าย ไม่ว่าจะเป็นจากแบนเนอร์ หรือบริการซื้อขายออนไลน์ในทันทีทั้งจองตั๋วหนัง หรือฟีเจอร์ตะกร้าเด้งขึ้นมา
Tencent QQ แอปแชทและโซเชียลที่อยู่คู่จีน และไทยมานาน
เมื่อพูดถึง QQ แล้ว คนไทยเราอาจจำภาพยุคแรกๆของการเป็นแชทบนเว็บไซต์ sanook.com ได้ ซึ่งตอนนี้ Tencent บริษัทผู้ผลิตโปรดักซ์ QQ ได้เข้ามาร่วมลงทุนด้วย และเปลี่ยนจาก Sanook Online เป็น Tencent Thailand แทน
แต่สำหรับ QQ ของผู้ใช้ในจีนนั้น QQ คือ แอปและโปรแกรมแชท ทำได้ทุกอย่างเช่นเดียวกับ Wechat และถือเป็นโซเชียลที่อยู่คู่กับคนจีนมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 1998 เลยทีเดียว ซึ่งตอนนี้ขยับขยายมาเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์ดแบบ Facebook แล้ว ปัจจุบัน Tencent QQ มีผู้ใช้จริงกว่า 900 ล้านคนเลยทีเดียว ซึ่งแบรนด์ Tencent เองก็แตกโปรดักซ์ออกไปอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเว็บช้อปปิ้งออนไลน์ paipai.com หรือเกมยอดฮิตต่างๆภายใต้แบรนด์ Tencent อาทิ ตอนนี้ที่ฮิตกันมากก็คือ PubG นั่นเอง
ภายในแอป Tencent QQ ยังมีฟีเจอร์การ์ตูนออนไลน์ให้อ่านแบบ Webtoon อีกด้วย และมีส่วนที่เป็นข่าวสาวทั่วไปให้ติดตาม แบ่งเป็นประเภทต่างๆ แต่หากจะฟังเพลง หรือดูคลิปวิดีโอ ก็จะถูกเชื่อมโยงมาอีกเว็บ และมีการแนะนำให้โหลดแอปเพิ่มเติม ซึ่ง Tencent เอง ก็มีแพลตฟอร์มวิดีโอที่คนจีนฮิตมากๆเช่นกัน ซึ่งเราจะมาพูดถึงในหัวข้อถัดไปกันเลยค่ะ
Youku, iQiyi, Tencent Video แพลตฟอร์มโซเชียลวิดีโอที่มาทดแทน Youtube
สาเหตุที่ต้องหยิบทั้ง 3 แบรนด์ มาพูดพร้อมกัน เพราะทั้ง 3 แบรนด์ คือแพลตฟอร์มวิดีโอโซเชียล ที่ขับเคี่ยวกันอย่างไม่มีใครยอมใครมาโดยตลอด ซึ่งทั้ง 3 แบรนด์ก็ไม่ได้มีคอนเทนต์ที่แตกต่างกันมากนัก ผู้เขียนมองว่าการตลาดที่ทั้ง 3 แบรนด์ทำคือการดีลรายการฮิตมาอยู่ในแพลตฟอร์มของตัวเอง เปรียบเทียบให้เห็นภาพแล้วก็เหมือนการแข่งขันของช่องทีวีในบ้านเรานั่นล่ะ ต่างตรงที่บ้านเขาพัฒนากันจากทีวีอะนาลอค เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างเต็มตัว และผู้บริโภคก็ตอบรับแพลตฟอร์มนี้อย่างเห็นได้ชัด
Youku เดิมมีคู่แข่งคนสำคัญคือ Tudou ด้วยความเป็นแพลตฟอร์มวิดีโอเหมือนกัน ซึ่งภายหลัง Tudou ได้รวมเข้ากับ Youku เป็น Youku Tudou Inc เมื่อปี 2012
iQiyi เป็นรายการทีวีออนไลน์ ที่เปรียบเสมือน Netflix ของจีน ผู้ถือหุ้นใหญ่คือ Baidu และมีผู้ดาวโหลดแอปลงมือถือมากถึง 600 ล้านเครื่องแล้ว อีกความน่าสนใจหนึ่งคือ Baidu มีรายได้จาก iQiyi มากึง 15% เลยทีเดียว คอนเทนต์ที่น่าสนใจของ iQiyi คือการได้รับสิทธิ์ให้เป็นผู้เผยแพร่คอนเทนต์จาก Netflix แต่เพียงผู้เดียว
ในขณะที่คู่แข่งอย่าง Tencent Video ก็พยายามซื้อซีรีส์ดังอย่าง Game Of Throne และกีฬาดังอาทิ NBA มาลงในแพลตฟอร์มของตน
ตลาดโฆษณาวิดีโอบนมือถือในจีนเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วมากในไตรมาสที่ 3 ของปี 2017 ที่ผ่านมา โดยมีอัตราเติบโตสูงถึง 64.4% หรือ 8,700 ล้านหยวน ซึ่ง iQiyi ของ Baidu ขึ้นมาเป็นผู้นำส่วนแบ่งการตลาดที่มากที่สุดถึง 24.02% ตามติดมาด้วย Tencent Video ได้ไป 23.72% และ Youku ที่เดิมเคยเป็นผู้นำตลาดมาตลอดตั้งแต่ปี 2012 ก็ยังต้องรั้งอันดับสามที่ 23.04% เรียกได้ว่าแพลตฟอร์มวิดีโอของจีนมีการแข่งขันกันชนิดเลือดสาดเลยก็ว่าได้
บทความนี้ยังคงอยู่กับการแนะนำตลาดออนไลน์ในจีนที่น่าจับตาอย่างมาก แม้อาจจะเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับหลายท่านที่ยังมุ่งทำธุรกิจในไทย แต่หลายแอปพลิเคชั่นของจีนก็เป็นที่คุ้นหูในไทยมากมาย และเมื่อได้ศึกษาดูจริงๆ เราก็ได้เห็นถึงโอกาสไม่น้อยที่จะเข้าไปมีส่วนแบ่งในตลาดจีน สำหรับผู้ที่สนใจลองไปโหลดแอปต่างๆมาใช้งานดูนะคะ อนาคต แจ็ค หม่า มาเปิดการลงทุนในไทยอย่างเต็มตัว เผื่อว่าเราจะได้ศึกษาเอาไว้ล่วงหน้าบ้างแล้ว
http://www.scmp.com
http://blog.btrax.com
http://thumbsup.in.th
Youku, Weibo, iQiYi, Tencent Video, Wechat