อินสตาแกรม (Instagram) เป็นแพลตฟอร์มที่มีความเฉพาะกลุ่มมากกว่า Facebook, YouTube หรือ TikTok ด้วยข้อจำกัดที่เน้นเฉพาะรูปภาพและวิดีโอ จึงได้รับความนิยมในการแชร์เรื่องราวส่วนตัวมากกว่าคอนเทนต์ทั่วไป
ในทางกลับกันเหล่าดาราหรืออินฟลูเอนเซอร์กลับสามารถเติบโตบนแพลตฟอร์มได้ด้วยคอนเทนต์เหล่านี้ นี่จึงเป็นโอกาสสำหรับนักการตลาดและเหล่าครีเอเตอร์ที่จะทำความเข้าใจอัลกอริทึมของอินสตาแกรมให้มากขึ้นยิ่งกว่าเดิม
‘อินสตาแกรมใช้อะไรตัดสินใจเลือกโพสต์ที่จะโชว์ให้เรา?’ ‘ทำไมสตอรี่บางอันถึงมียอดวิวมากกว่าอันอื่น?’ ‘อะไรที่จะทำให้คอนเทนต์ของเราแสดงในหน้า explore?’ ไปค้นหาคำตอบกันครับ
Instagram จัดลำดับ Feed และ Story อย่างไร
ระบบอัลกอริทึมของอินสตาแกรมทำงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ทุกฟีดและเรื่องราวถูกกำหนดลำดับด้วยข้อมูลหลายพันอย่าง ซึ่งขอยกตัวอย่างเป็นหัวข้อใหญ่ๆ ดังนี้
- ข้อมูลเกี่ยวกับโพสต์ ในข้อนี้มีตัวชี้วัดพื้นฐานหลายอย่างที่บ่งบอกถึงความนิยมของโพสต์ ทั้งจำนวนคนที่กดไลก์โพสต์ จำนวนคนที่เห็นโพสต์ ความยาวของวิดีโอ โพสต์ไปนานเท่าไหร่แล้ว เช็กอินที่สถานที่ไหน
- ข้อมูลเกี่ยวกับคนที่โพสต์ ตัวชี้วัดที่ช่วยบ่งบอกว่าบุคคลนี้น่าสนใจมากแค่ไหน เช่น จำนวนผู้ติดตาม จำนวนไลก์โพสต์เฉลี่ย จำนวนครั้งที่ผู้คนมาโต้ตอบกับบุคคลนั้น
- ความสนใจของคุณ ความสนใจของคุณเป็นตัวกำหนดสำคัญที่จะช่วยจัดลำดับฟีด อาทิ โพสต์ที่คุณกดไลก์ บุคคลที่คุณกดไลก์ โพสต์ที่คุณโต้ตอบ ระยะเวลาการดูเฉลี่ย การกดบันทึก
- การโต้ตอบของคุณ ประวัติการโต้ตอบของเราจะช่วยบอกอัลกอริทึมว่าคุณสนใจใครและสนิทกับใคร เช่น การแสดงความคิดเห็นกันและกัน การกดไลก์กันและกัน
ทั้งนี้ หัวข้อเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น อัลกอริทึมยังใช้เกณฑ์อื่นๆ มาพิจารณาด้วย ตัวอย่างหนึ่งคือ ฟีดจะพยายามหลีกเลี่ยงการแสดงโพสต์จากบุคคลเดียวกันติดต่อกันมากเกินไป รวมถึงหลีกเลี่ยงการโพสต์รูปที่ซ้ำกับบุคคลอื่น เพื่อสนับสนุนเนื้อหาที่เป็นต้นฉบับ
จากหัวข้อหลักๆ จะเห็นได้ว่าความสนใจของเราจะเป็นตัวกำหนดหลักว่าฟีดและสตอรี่จะแสดงโพสต์อะไร แต่ถ้าอยากให้คนเห็นโพสต์ของเรามากขึ้น จำนวนผู้ติดตาม การมีส่วนร่วมกับคนอื่นๆ ก็จะช่วยให้โพสต์มีประสิทธิภาพดีขึ้น
การแสดงโพสต์ใน Explore
สมมติว่าเมื่อเร็วๆ นี้ เราชอบทีมฟุตบอลบาร์เซโลน่า เรากดติดตามและกดไลก์โพสต์ของทีม จากนั้นระบบก็จะดูว่าใครชอบทีมบาร์เซโลน่าเหมือนเราบ้าง และบัญชีอื่นๆ ที่คนเหล่านั้นสนใจมีใครบ้าง บางคนอาจจะติดตามนักเตะในทีม อาจจะชอบวิดีโอยิงประตูของทีม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็จะขึ้นมาแนะนำในหน้า Explore
หน้า Explore ช่วยให้เราสามารถค้นพบสิ่งใหม่ๆ ที่อัลกอริทึมแนะนำ ทั้งรูปภาพ วิดีโอ และ Reels ซึ่งจะแตกต่างจาก Feed และ Story โดยอัลกอริทึมจะอิงมาจากสัญญาณต่างๆ ดังนี้
- ข้อมูลเกี่ยวกับโพสต์ การดูว่าโพสต์ได้ความนิยมหรือไม่ เป็นพื้นฐานของการจัดลำดับเรื่องราวในหน้า Explore
- ประวัติของคุณในการโต้ตอบกับคนโพสต์ หากเราโต้ตอบกับโพสต์ใดๆ จะช่วยบอกให้ระบบรู้ว่าเรากำลังสนใจเรื่องไหนอยู่
- ความสนใจของคุณ อาทิ โพสต์ที่กดไลก์ บันทึก แสดงความเห็น หรือการกดดูหน้า Explore ในอดีต
- ข้อมูลเกี่ยวกับคนที่โพสต์ จำนวนครั้งที่ผู้คนโต้ตอบกับคนที่โพสต์ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าชม หรือกดไลก์
การจัดลำดับ Reels
Reels เป็นฟีเจอร์ใหม่ที่คล้ายกับ TikTok ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างความบันเทิงโดยเฉพาะ เช่นเดียวกับ Explore สิ่งที่แสดงขึ้นมาเราอาจมาจากบัญชีที่เราไม่ได้ติดตาม
ดังนั้น Reels จึงผ่านกระบวนการคัดเลือกคอนเทนต์ที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่เราสนใจมากที่สุด โดยอัลกอริทึมจะอิงมาจากสัญญาณต่างๆ ดังนี้
- ความสนใจของคุณ ระบบพิจารณาจาก Reels ที่คุณชอบ แสดงความคิดเห็น และมีส่วนร่วม
- การโต้ตอบของคุณ หากเราโต้ตอบกับ Reels ใดๆ จะช่วยบอกให้ระบบรู้ว่าเรากำลังสนใจเรื่องไหนอยู่
- ข้อมูลของ Reels ความยาวของวิดีโอ ความละเอียด ขนาดเฟรม รวมถึงความนิยม
- ข้อมูลของคนที่โพสต์ หากเนื้อหาของบุคคลนั้นได้รับความสนใจจากคนจำนวนมาก ระบบจะแสดงวิดีโอนี้ให้กับคนที่มากขึ้น
ผู้ใช้จะควบคุมเนื้อหาบน Instagram อย่างไร?
วิธีใช้อินสตาแกรมของเรามีผลอย่างมากต่อสิ่งที่เราจะเห็นและไม่เห็น เราสามารถปรับปรุงประสบการณ์ของเราเองด้วยการโต้ตอบกับบัญชีและโพสต์ที่คุณชอบ และอื่นๆ ดังนี้
เลือก ‘Close Friend’ ฟีเจอร์เพื่อนสนิทออกแบบมาเพื่อไม่ให้เพื่อนพลาดเนื้อหาหรือคอนเทนต์ที่เราแบ่งปัน เช่นเดียวกันทำให้เราไม่พลาดเรื่องราวของเพื่อนด้วย
‘Mute’ บัญชีและสิ่งที่ไม่สนใจ เราสามารถ Mute หรือการทำเครื่องหมายหยุดการรับเนื้อหาจากบัญชีใดๆ หากลังเลที่จะเลิกติดตามเราก็สามารถใช้ฟีเจอร์นี้แทนได้
ทำเครื่องหมาย ‘Not Interested’ ไม่ว่าจะหน้า Feed, Story, หรือ Reels เราสามารถกดที่ 3 จุดแล้วทำเครื่องหมาย ‘ไม่สนใจ’ (Not Interested) เพื่อไม่ให้ระบบแสดงเนื้อหาที่คล้ายคลึงขึ้นมาอีกในอนาคต
ทั้งนี้ Instagram ยืนยันว่าจะพัฒนาและปรับปรุงเนื้อหาบนแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง และทำให้เกิดความผิดพลาดน้อยลง เพื่อให้ผู้ใช้จะได้รับเนื้อหาที่สนใจมากขึ้น สำหรับแบรนด์หรือครีเอเตอร์ก็จะสามารถแบ่งปันคอนเทนต์ให้กับลูกค้าและผู้ติดตามที่มีความสนใจตรงกันมากยิ่งขึ้น
ที่มา