สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในไทยยังวิกฤติ ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งหลักพันติดต่อกันนานหลายสัปดาห์ ขณะที่จำนวนผู้ป่วยที่รักษาหายน้อยกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่แล้ว
อ้างอิงข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูล COVID-19 ระหว่างวันที่ 12 มิถุนายน ถึง 23 มิถุนายน 2564
- วันที่ 12 มิ.ย. ติดเชื้อรายใหม่ 3,277 ราย หายป่วยกลับบ้าน 5,273 ราย
- วันที่ 13 มิ.ย. ติดเชื้อรายใหม่ 2,804 ราย หายป่วยกลับบ้าน 4,143 ราย
- วันที่ 14 มิ.ย. ติดเชื้อรายใหม่ 3,355 ราย หายป่วยกลับบ้าน 3,530 ราย
- วันที่ 15 มิ.ย. ติดเชื้อรายใหม่ 3,000 ราย หายป่วยกลับบ้าน 4,774 ราย
- วันที่ 16 มิ.ย. ติดเชื้อรายใหม่ 2,331 ราย หายป่วยกลับบ้าน 4,947 ราย
- วันที่ 17 มิ.ย. ติดเชื้อรายใหม่ 3,129 ราย หายป่วยกลับบ้าน 4,651 ราย
- วันที่ 18 มิ.ย. ติดเชื้อรายใหม่ 3,058 ราย หายป่วยกลับบ้าน 4,094 ราย
- วันที่ 19 มิ.ย. ติดเชื้อรายใหม่ 3,667 ราย หายป่วยกลับบ้าน 4,948 ราย
- วันที่ 20 มิ.ย. ติดเชื้อรายใหม่ 3,682 ราย หายป่วยกลับบ้าน 2,401 ราย
- วันที่ 21 มิ.ย. ติดเชื้อรายใหม่ 3,175 ราย หายป่วยกลับบ้าน 2,030 ราย
- วันที่ 22 มิ.ย. ติดเชื้อรายใหม่ 4,059 ราย หายป่วยกลับบ้าน 2,047 ราย
- วันที่ 23 มิ.ย. ติดเชื้อรายใหม่ 3,138 ราย หายป่วยกลับบ้าน 1,941 ราย
แนวโน้มล่าสุดพบว่าผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงกว่าจำนวนผู้หายป่วยกลับบ้าน ด้าน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ยอมรับว่าระบบดูแลผู้ป่วยโควิดเต็มศักยภาพแล้ว
โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรืออาการไม่รุนแรง (ระดับสีเขียว) ได้ย้ายไปยัง Hospitel ก่อน ส่วนผู้ป่วยระดับสีเหลือง และสีแดง ขณะนี้ศักยภาพของโรงพยาบาลหน่วยงานรัฐแน่นแล้ว อีกทั้งเตียงเอกชนไม่เพียงพอ
ทั้งนี้ มีผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลถึง 37,018 ราย แบ่งเป็นรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 11,366 ราย ในโรงพยาบาลสนาม 25,652 ราย อาการหนัก 1,526 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 433 ราย
‘ซิโนแวค’ ป้องกัน ‘เดลต้า’ ไม่ไหว
สำหรับทางออกวิกฤตอย่าง ‘วัคซีน’ ซึ่งปัจจุบันไทยมีวัคซีนหลักอยู่ 2 ตัว คือ ซิโนแวคฉีดไปแล้ว 5,650,070 โดส และแอสตร้าเซนเนก้าฉีดไปแล้ว 2,498,265 โดส
แต่ล่าสุดปัญหาคือ โควิดสายพันธุ์ เดลต้า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลก ซึ่งนอกจากจะทะลุทะลวง ‘ซิโนแวค’ แล้ว ยังสามารถแพร่ระบาดได้รวดเร็วกว่าสายพันธ์ุอื่น ๆ
ด้าน นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยอมรับว่าประสิทธิภาพซิโนแวคไม่ได้ดีนัก ต่างจากก่อนหน้านี้ที่เชียร์มาตลอด พร้อมแนะนำให้ฉีดเข็มสองเป็นตัวอื่น และเผยอีกว่ากำลังศึกษาการฉีดซิโนแวคเข็ม 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้เทียบเท่ากับไฟเซอร์
ด้าน รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เสนอ กทม. “ล็อกดาวน์” อย่างน้อย 7 วัน ลดการเคลื่อนย้ายของประชาชนเพื่อหยุดวิกฤตระลอกที่สี่
ที่มา