ปัญหาหลักๆ ของสายคอนเทนต์คงหนีไม่พ้นการเขียนแน่นอน และปัญหาอันดับต้นๆ ของการเขียนก็คือความไม่แน่ใจในการเขียน ไม่ว่าจะเป็นการเขียนผิดทั้งที่รู้ และไม่รู้
สงสัยกันใช่มั้ยล่ะคะว่าการที่รู้ว่าเขียนผิดแล้วทำไมถึงยังเขียน? หลายคนคงมีความลังเล เมื่อเขียนคำๆ นึงที่ถูกต้องตามหลักภาษา 100% แต่พอมาอ่านมันก็ดูแปลกตาชอบกล เลยชั่งใจอยู่นานว่าควรจะเขียนให้ถูกต้องไปเลย
สาเหตุที่ต้องคิดหนักก็เพราะว่ามันมีผลต่อการค้นหา รวมถึงการทำ SEO เลยเกิดคำถามว่าแล้วเราควรจะใช้คำที่เขียนถูก แต่คนอาจใช้ในการค้นหาน้อย หรือใช้คำที่รู้ว่าผิดแต่คนทั่วไปก็ใช้กันดีล่ะ?
วันนี้ RAiNMaker จะพามาดูข้อดี-ข้อเสียของทั้ง 2 แบบกัน เพื่อให้นำไปตัดสินใจใช้ในการเขียนบทความกันค่ะ ก่อนอื่นต้องขอบอกไว้ก่อนเลยว่าไม่มีอันไหนถูกผิดนะคะ!
เขียนถูก แต่คนเสิร์ชน้อย
คำที่ถูกต้องเป๊ะๆ ตามราชบัณฑิต ที่บางคำก็ไม่ค่อยคุ้นตา หรือรู้แต่ทำใจเขียนไม่ได้จริงๆ เช่น แอ็กเคานต์, อะพาร์ตเมนต์ หรือ ชอปปิง เป็นต้น ซึ่งบางคำเมื่อเอาไปค้นหาในกูเกิล แทบจะไม่ขึ้นผลลัพธ์ที่ต้องการ และนี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้หลายคนไม่ได้เลือกเขียนให้ถูกต้อง 100% นั่นเอง
ข้อดี
- มีความเป็นทางการ น่าเชื่อถือ และดูมีความ Professional ในการเขียน นอกจากนี้การใช้ภาษาที่ถูกต้องจะช่วยส่งผลให้ภาพลักษณ์ของผู้เขียน เพจ หรือองค์กรดีขึ้นด้วย
- ตอบโจทย์กลุ่มคนที่ใช้ภาษาถูกต้องในการค้นหา
- สามารถเป็นต้นแบบในการอ้างอิง และอาจเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสนับสนุนให้คนหันมาใช้ภาษาที่ถูกต้องมากขึ้น
- มีโอกาสที่ Google จะนำเว็บไซต์ของเราไปแสดงแทน เมื่อมีคนใช้คำที่เขียนผิดในการค้นหา ซึ่งจะส่งผลที่ดีต่อยอดเข้าชมเว็บไซต์ หรือ Click to Rate (CTR)
ข้อเสีย
- อาจขัดต่อการรับรู้ของผู้อ่านของคนส่วนใหญ่ เนื่องจากบางคำเป็นคำที่คนไม่คุ้นเลยไม่ค่อยใช้ในชีวิตประจำวันมากนัก
- บางคำคนไม่นิยมใช้ในการค้นหา จึงอาจส่งผลต่อการทำ SEO
เขียนผิด แต่คนเสิร์ชเยอะ
ในที่นี้หมายถึงการสะกดที่อาจจะมีหลายแบบแตกต่างกันออกไปตามความเข้าใจ และความเคยชินในการเขียนของแต่ละคน เช่น ช้อปปิ้ง ช๊อปปิ้ง ช็อปปิง เป็นต้น ซึ่งบางคำที่ถึงแม้จะเขียนผิดแต่กลับเป็นคำที่คนใช้ค้นหากันมากที่สุด
ข้อดี
- แม้จะเขียนไม่ถูกต้องตามหลักภาษา 100% แต่บางคำถ้าเป็นคำที่คนใช้ในการค้นหาเยอะ ก็มีโอกาสที่คนจะเจอบทความเยอะกว่า
- เมื่อใช้ภาษาที่มีคนค้นหาเยอะก็ส่งผลดีต่อการทำ SEO
- ไม่ขัดต่อการรับรู้ของผู้อ่าน เนื่องจากเป็นภาษาที่คนส่วนใหญ่ใช้
- เมื่อเป็นภาษาที่คนส่วนใหญ่ใช้ ก็มีโอกาสที่จะแสดงบนหน้าผลลัพธ์การค้นหามากกว่า
ข้อเสีย
- หากต้องการความเป็นทางการ การใช้ภาษาที่ไม่ถูกต้องอาจไม่เหมาะสม และอาจถูกมองว่าผู้เขียนไม่มีความเป็น Professional ในการเขียน ซึ่งอาจส่งผลต่อภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อองค์กรได้
- ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงภาษาให้ถูกต้อง อาจเป็นการส่งเสริมให้คนอ่านเข้าใจว่าคำที่เขียนอยู่ถูกต้องแล้ว
คำแนะนำในการเลือกใช้ภาษาในการเขียน
- ถ้าต้องการจะทำ SEO ควรไปดู Search Volume หรือข้อมูลพฤติกรรมการค้นหาของคน เพื่อดูว่าคำนั้นๆ มีจำนวนคนค้นหามากเท่าไหร่ เพื่อประกอบการตัดสินใจในการเลือกใช้คีย์เวิร์ด
- ลองค้นหาใน Serach engine แล้วดูผลลัพธ์การค้นหา เพราะถ้ากูเกิลแนะนำคำที่ถูกต้องมาให้ ก็ควรใช้คำที่ถูกต้อง
- ถ้าอยากใช้ภาษาให้ถูกต้อง หมั่นตรวจสอบตามเว็บไซต์ต่างๆ เช่น ราชบัณฑิต หรือสามารถเข้าไปอ่านบทความ: รวมคำทับศัพท์ที่ครีเอเตอร์สายคอนเทนต์ต้องเจอ พร้อมแนะนำทริกเขียนยังไงให้ถูก
- ถ้าคำไหนที่เขียนถูกต้อง แต่คนส่วนมากไม่ชิน อาจช่วยส่งเสริมให้ใช้คำนั้นบ่อยๆ เพราะการเห็นซ้ำๆ จะส่งผลต่อการรับรู้ได้ เช่น ตอนแรกอาจไม่ชินกับคำว่า ไลก์ แต่ใครเขียนคอนเทนต์บ่อยๆ จะเห็นเรื่อยๆ จนซึบซับและชินไปเอง
- ภาษาเป็นอะไรที่ดิ้นได้ และมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นการเลือกใช้ภาษา อาจต้องดูตามกาลเทศะ บริบท วัตถุประสงค์ และความเหมาะสมของบทความเป็นหลัก
ทั้งนี้คงจะตอบไม่ได้ชัดเจนว่าเลือกใช้แบบไหนจึงจะดีที่สุด เนื่องจากภาษาก็มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และเพื่อความลื่นไหลในการอ่านอาจจะต้องใช้คำที่คนค้นหาเยอะในบางครั้ง
และเมื่อต้องสื่อสารอย่างจริงจัง ก็ควรดูให้เหมาะสมถูกกาลเทศะ และวัตถุประสงค์เป็นหลัก แต่ทางที่ดีที่เราแนะนำ หากรณรงค์ให้ใช้ภาษาอย่างถูกต้องตั้งแต่แรก ก็จะง่ายต่อเขียนในอนาคต เมื่อต้องเขียนงานให้เป็นทางการมากขึ้นค่ะ