ในระยะหลังมีข่าวการถูก Sexual Harassment ในกลุ่มครีเอเตอร์มากขึ้น ดังปรากฏในคลิปที่เป็นกระแส ขณะที่บล็อกเกอร์กำลังไลฟ์ถ่ายทอดสด ก็มีผู้พบเห็นและเข้ามาในกล้อง พร้อมกับแสดงกริยาล่วงเกินทั้งการกระทำและคำพูด สิ่งนี้เกิดขึ้นในหลายประเทศ เป็นเรื่องบังเอิญหรือเพราะเหตุใด และจะหาทางแก้ไขได้อย่างไร เรามาร่วมวิเคราะห์กัน
Sexual Harassment หรือการคุกคามทางเพศ ไม่ได้จำกัดแค่การล่วงละเมิดทางกายภาพเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการคุกคามทางคำพูด สายตา หรือการพิมพ์ทางอินเตอร์เน็ตก็นับเป็นการคุกคามทางเพศได้เช่นเดียวกัน เมื่อคนสามารถติดต่อกันได้ง่ายขึ้น การแสดงความคิดของตัวเองก็ทำได้รวดเร็วด้วยเพียงปลายนิ้ว ทั้งจากผู้ส่งสาร ไปถึงผู้รับสาร ทำให้อัตราการคุกคามทางเพศสูงขึ้นกว่าในอดีตมาก เรามาลองดูคลิปนี้กัน
จากคลิปจะเห็นได้ว่า ขณะที่บล็อกเกอร์กำลังไลฟ์ถ่ายทอดสด ก็มีผู้พบเห็นและแสดงกริยาล่วงเกินอย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าจะมีกล้องถ่ายอยู่ และยังเกิดขึ้นในหลายประเทศ พร้อมยังไม่ได้มีท่าทีรู้สึกผิด แต่ยังทำเป็นเรื่องตลกและสนุกสนานอีกด้วย
ความเห็นจากอีกฝั่ง
ทุกครั้งที่มีเหตุการณ์ที่แสดงถึงการคุกคามทางเพศเกิดขึ้น มักจะมีเสียงจากอีกฝั่งหนึ่งว่าเป็นการเล่นขำๆ บ้างก็ถามกลับว่าแต่งตัวแสดงความต้องการเองหรือเปล่า หรือออกตัวว่าแค่โปรยเสน่ห์สนุกสนาน (Flirt) เท่านั้น ไม่ได้คิดจะกระทำการรุนแรงจริง ไม่ใช่เรื่องที่ควรต้องมาทำเป็นเรื่องใหญ่ หรือแม้กระทั่งการบอกว่าเป็นเรื่องปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ก็ตาม เป็นที่น่าคิดว่าเรื่องเหล่านี้ มีส่วนทำให้การคุกคามทางเพศเพิ่มขึ้นหรือไม่
หลายความเห็นอ้างว่า เป็นเพราะไปแต่งตัวยั่วยวนจนเกินห้ามใจเองหรือเปล่า ถ้าอย่างนั้น คงต้องไปดูแคมเปญ What Were You Wearing? จัดขึ้นที่สหรัฐอเมริกาในปี 2556 และ แคมเปญ #DontTellMeHowToDress จัดโดย ซินดี้ สิรินยา บิชอฟ ที่ประเทศไทยในปี 2561 ทั้งสองนิทรรศการนี้จัดแสดงเสื้อผ้าที่เหยื่อสวมใส่ในวันที่ถูกคุกคามทางเพศและข่มขืน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นชุดทั่วไปพบเห็นได้ตามท้องถนน ลักษณะในการแต่งกาย จึงไม่อาจยกมาเป็นเหตุผลได้
เรื่องราวเหล่านี้ไม่ได้มีแค่ในวงการครีเอเตอร์เท่านั้น แต่วงการอื่นก็ได้รับความเสียหายเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นวงการกีฬา การแสดง สถานศึกษา หรือกระทั่งในสถาบันครอบครัวเองก็ตาม
การเคลื่อนไหวจากโลกโซเชียล
อย่างไรก็ตาม ทางโลกโซเชียลก็เกิดแรงผลักดันในการต่อต้านการคุกคามทางเพศมากขึ้น ด้วยแคมเปญ #Metoo ซึ่งได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม ไม่ว่าจะเป็นจากดาราฮอลลีวูด วงการเพลง หรือจากผู้มีชื่อเสียงหลายคน ที่ออกมาเล่าประวัติการเคยถูกคุกคามทางเพศผ่านแฮชแท็กนี้ ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทางด้านกฎหมาย และเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ที่ถูกคุกคามกล้าออกมาแสดงตัวเพื่อเรียกร้องสิทธิของตัวเองกันมากขึ้น
สำหรับทางด้านประเทศไทย ก็มีครีเอเตอร์ และบล็อกเกอร์หลายคนได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นเน็ตไอดอลสาว “ลีเกด” ที่ออกมาเล่าเรื่องราวผ่านรายการ MindTalk by Ooca หรือกรณีล่าสุดที่ “ยิปซี คีรติ” บล็อกเกอร์และนักแสดงสาว หลังเจอคอมเมนต์ที่พูดถึงการคุกคามทางเพศอย่างชัดเจนจึงได้ออกมาแสดงความเห็นทางอินสตาแกรมส่วนตัวว่า “การที่เราพยายามนิ่งเฉยกับการถูก Sexual harassment on social media ถือว่า เรายอมรับมันโดยอัตโนมัติหรือไม่” เป็นการบอกว่า การไม่ออกมาตอบโต้ ก็อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการทำให้การคุกคามทางเพศ ค่อยๆ กลายเป็นเรื่องปกติได้
หรือแม้แต่ในวงการสตรีมเมอร์เองก็มีเรื่องการคุกคามทางเพศเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน ดังที่เคยเป็นข่าวเมื่อปีที่ผ่านมา แม้เรื่องราวจะเกิดขึ้นเมื่อนานมาแล้ว แต่ด้วยความตั้งใจในการเป็นกระบอกเสียงเพื่อให้สังคมรับรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้น เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการต่อต้านความไม่ถูกต้องในการคุมคามทางเพศ
ที่มา BRICKINFOTV
บทสรุป
จะเห็นได้ว่าการคุกคามทางเพศเกิดขึ้นได้มากขึ้นกับเหล่าครีเอเตอร์ในหลากหลายวงการ อาจเพราะเป็นผู้มีชื่อเสียงที่ยังคงเข้าถึงได้ง่าย หรือเป็นเพราะว่าความจริงแล้ว การคุกคามทางเพศไม่ได้เพิ่มขึ้นในวงการครีเอเตอร์ แต่พบได้มากขึ้นทุกหนแห่ง แค่เหล่าครีเอเตอร์เกิดเหตุขณะมีกล้องที่สามารถบันทึกภาพไว้ได้มากกว่า
ไม่ว่าความจริงจะเป็นอย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เราต่างก็รู้อย่างแน่ชัด ก็คือการไม่ควร Normalize หรือมองว่าการคุกคามทางเพศนั้นเป็นเรื่องปกติ เคารพในสิทธิของผู้อื่น ไม่ว่าจะอยู่ในวงการไหน หรือเป็นเรื่องเล็กแค่ไหนก็ตาม
ที่มา iLaw, Mango Zero, wikipedia, Matichon