สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ Digital Advertising Association (Thailand) (DAAT) ร่วมกับ KANTAR เผยผลสำรวจมูลค่าเม็ดเงินลงทุนผ่านสื่อดิจิทัลครึ่งปีแรกของปี 2021 และแนวโน้มการลงทุนเม็ดเงินในครึ่งปีหลัง จาก 12 เอเจนซี โดยแบ่งเป็น 57 ประเภทอุตสาหกรรม และ 14 ประเภทสื่อดิจิทัล
ภาพรวมเม็ดเงินลงทุนบนสื่อดิจิทัล
เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 และมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาล ทำให้ภาพรวมของการใช้จ่ายโฆษณาได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ส่งผลให้ธุรกิจหันมาให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายบนสื่อดิจิทัลมากขึ้น สื่อดิจิทัลได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับสื่อด้านอื่น ๆ
ทำให้หลายธุรกิจปรับตัวไปใช้สื่อดิจิทัลในการทำการตลาดมากขึ้น รวมถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคยังผลักดันให้สื่อดิจิทัลมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง
สำหรับครึ่งปีแรกนี้ มีการลงทุนเม็ดเงินโฆษณาดิจิทัล 11,732 ล้านบาท และคาดว่าครึ่งปีหลังจะมีการลงทุนเม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลถึง 11,583 ล้านบาท จะได้เป็นยอดรวมทั้งปีอยู่ที่ประมาณ 23,325 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 11% เมื่อเทียบกับปีที่แล้วที่เติบโตเพียง 8%
Top 10 Spending by Industries
สำหรับอุตสาหกรรมที่มีเม็ดเงินลงทุนบนสื่อดิจิทัลมากที่สุดยังคงเป็น อุตสาหกรรมยานยนต์ (2,775 ล้านบาท) ตามด้วยกลุ่มเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ (2,671ล้านบาท) ที่มาแรง เนื่องจากสถานการณ์ที่ส่งเสริมให้คนกักตุนสินค้าในช่วงล็อกดาวน์มากขึ้น
แม้ว่ากลุ่มเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์จะมีการลงทุนบนสื่อดิจิทัลมากขึ้น แต่ในอนาคตก็ยังคงมีแนวโน้มว่าอุตสาหกรรมยานยนต์จะยังคงอันดับหนึ่งอยู่ เพราะปีนี้อุตสาหกรรมยานยนต์ยังไม่ได้ใช้เม็ดเงินเต็มที่ด้วยปัจจัยหลายอย่าง ถ้าสถานการณ์ดีขึ้น คาดว่ายอดการใช้จ่ายดิจิทัลน่าจะสูงกว่านี้อีก
ต่อมาเป็นกลุ่มสกินแคร์ (2,282 ล้านบาท) จากที่เคยมีหน้าร้าน ปัจจุบันทุกแบรนด์หันมาใช้สื่อดิจิทัลและเน้นการขายผ่านอีคอมเมิร์ซมากขึ้น กลุ่มการสื่อสาร (2,199 ล้านบาท) และกลุ่มผลิตภัณฑ์จากนม (1,897 ล้านบาท)
ที่น่าสนใจคือปีนี้กลุ่มธนาคารมีการเติบโตลดลงถึง -23% คาดว่าเป็นเพราะธนาคารเก็บเงินทุนสำรองไว้ใช้กับสถานการณ์ฉุกเฉินมากกว่า
Top Discipline Spending
ส่วนช่องทางที่มีการใช้จ่ายมากที่สุดยังคงเป็นเฟซบุ๊ก (Facebook) คิดเป็น 32% อยู่ที่ 7,424 ล้านบาท ตามด้วยยูทูบ (YouTube) คิดเป็น 18% 4,256 ล้านบาท แต่มีการคาดการณ์ว่ายูทูบจะมียอดการใช้จ่ายลดลง 7% เนื่องจากการกระจายการลงทุนผ่านแพลตฟอร์มวิดีโออื่น ๆ มากขึ้น อย่างบริการสตรีมมิง
รองลงมาคือ โซเชียล (Social) และการสร้างสรรค์ (Creative) คิดเป็น 9% ทั้งคู่ โดยมีจำนวนเงินลงทุนที่ 2,113 ล้านบาท และ 2,074 ล้านบาทตามลำดับ ปิดท้ายด้วย การค้นหา (Search) คิดเป็น 7% หรือ 1,666 ล้านบาท
Consumer Trend
บ้านเป็นศูนย์กลางทุกอย่าง หรือเรียกว่าเป็นสถานที่แบบ All-in-one ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ และสื่อดิจิทัลเองก็เป็นปัจจัยทำให้บ้านเป็นศูนย์กลางมากขึ้น พบว่า
- 55% ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาดื่มที่บ้านบ้าง
- 44% ใช้บริการ Food Delivery มากินที่บ้าน
- 39% ใช้ E-commerce เป็นช่องทางการชอปปิง
- 39% ออกกำลังกายที่บ้าน
- 25% ใช้เวลากับคนในบ้านมากขึ้น
- 22% Working from home
แนวโน้มเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง
การฟื้นตัวเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังยังคงช้าอยู่ และยังไม่มีความมั่นคงในการลงเม็ดเงินมากขึ้น จึงทำให้ธุรกิจยังคงระวังด้านการใช้จ่ายอยู่ ทำให้คนหันมาให้ความสำคัญกับสื่อดิจิทัลมากขึ้นตามไปด้วย แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าครึ่งปีหลัง Digital Spending น่าจะโตขึ้น
ช่วงหลังพบว่ามีการนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น AR, AI หรือ Chatbot เป็นต้น นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการใช้ข้อมูล และปรับตัวให้เข้าดับสถานการณ์และผู้บริโภค
เพราะฉะนั้นแบรนด์ต้องลงทุนในการเก็บข้อมูลมากขึ้น เพื่อติดตามพฤติกรรมการใช้งานผู้บริโภคใช้ประโยชน์มากที่สุดโดยไม่ผิดนโยบายต่าง ๆ
ที่มา: KANTAR