ทำคอนเทนต์ยาวแค่ไหนดี ว่าด้วยเรื่องความยาวของวิดีโอ บทความ และสื่อต่าง ๆ

หนึ่งในคำถามโลกแตกของคนทำคอนเทนต์วิดีโอ หรือจริง ๆ แล้วอาจจะเป็นคำถามของคนทำคอนเทนต์ทุกรูปแบบเลยก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นบทความ วิดีโอแต่ละแบบ พอดคาสต์ หรือแม้กระทั่งการ Live สด ว่าสรุปแล้วเราควรทำคอนเทนต์นานแค่ไหน แล้วจากสถิติที่ผ่านมาคนชอบคอนเทนต์นานแค่ไหนมากสุด แต่ในบทความนี้ทีมงาน RAiNMaker จะมาวิเคราะห์ถึงความยาวของคอนเทนต์ที่เหมาะสมในปีนี้กัน

อันที่จริงแล้ว ความยาวของคอนเทนต์เมื่อก่อนนั้นมันก็มีเหตุผลของมัน ในหนังสือ Hit Makers ของ Derek Thompson เขียนไว้ว่า เหตุผลที่เพลงในปัจจุบันมีความยาว 3 นาทีโดยประมโปาณ นั่นก็เป็นเพราะว่าแผ่นไวนิล ซึ่งใช้ในการบันทึกเสียง ณ ตอนนั้นสามารถบันทึกเสียงได้ประมาณ 3 นาที ซึ่งก็เปลี่ยนพฤติกรรมการเสพสื่อบันเทิงของคน แต่ Thompson บอกว่าสิ่งนั้นไม่ได้เปลี่ยนพฤติกรรมของคนแต่เปลี่ยน “ความคาดหวัง” (Expectation of A Good Content) มากกว่า ว่าคอนเทนต์ที่ดีนั้น ควรจะมีความยาวมากน้อยแค่ไหน เมื่อก่อนคนก็จ่ายเงิน เพื่อไปดูการแสดงดนตรีในโรงละครซึ่งก็นานอยู่ในหลักชั่วโมงเช่นกันก่อนที่อุตสาหกรรมเพลงจะย้ายมาที่การขายแผ่นเสียงและวิทยุ

ปัจจุบันเพลง Pop ยังคงมีความยาวอยู่ที่ 3 นาทีเช่นเดิม เนื่องจากความคาดหวังของคนก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรไปจากเดิม แม้ปัจจุบันเราจะสามารถ Stream เพลงฟังได้อย่างอิสระผ่าน Apple Music หรือ Spotify

ความคาดหวังต่างหากคือคำตอบ

ปัจจุบันแนวคิดเรื่อง Costumer Centric ถูกนำมาใช้ (แนวคิดที่ว่าทุกอย่างควรเป็นไปตามสิ่งที่ผู้ใช้ต้องการ) แต่เราจะพบว่าสิ่งที่ถูกกำหนดเวลานั้น เป็นสิ่งใหม่ และเกิดขึ้นในช่วงหลังทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นสื่อที่ไม่เคยมีมาก่อนอย่าง Vine ที่เป็นคอนเทนต์วิดีโอสั้น 6 วินาที ซึ่งก็สร้างความนิยมให้กับโลโซเชียลในตอนนั้นอย่างมาก หลังจากนั้นทุกคนก็เล่น Vine กันด้วยความคาดหวังว่า จะได้รับความสนุกและบันเทิงในช่วงเวลาเพียงแค่ 6 วินาที

ใน YouTube มีวิดีโอช่องหนึ่งชื่อว่า MinutePhysics ซึ่งเป็นรายการอธิบายหลักการฟิสิกส์แบบเข้าใจง่าย ๆ โดยใช้เวลาประมาณ 1 นาที ซึ่งแน่นอนว่า ผู้ชมก็คาดหวังว่าพวกเขาจะได้รับหรือเข้าใจสิ่งที่หัวข้อบอกในเวลาเพียงแค่ 1 นาที

ดังนั้นพูดง่าย ๆ คือ จะสั้นหรือยาวมากน้อยแค่ไหนไม่สำคัญ มันสำคัญอยู่ที่ความคาดหวัง (Expectation) มากกว่า จากตัวอย่างก็พบมาจะสังเกตว่าจริง ๆ แล้วความพึงพอใจของความยาวนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวคนทำคอนเทนต์เลย แต่ขึ้นอยู่กับว่าผู้ชมได้รับสิ่งที่เขาคาดหวังหรือเปล่า

เมื่อช่วง 2-3 ปีก่อน ในหมู่คนทำคอนเทนต์บทความหรือข่าว มีคำหนึ่งที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายมากคือคำว่า TLDR หรือ Too Long Did not Read หรือที่ในไทยแปลว่า ยาวไปไม่อ่าน ยาวไปไม่อ่านนี้เป็นกระแสที่ถูกนำมาใช้มาก ซึ่งแน่นอนว่าคนไทยซึ่งเป็นชนชาติขี้แซะ (กันเอง) ก็จะนำมาใช้ร่วมกับประโยคเด็ดว่าคนไทยอ่านหนังสีอปีละ 8 บรรทัด ครั้งหนึ่งเคยถูกนำมาเป็นคำโปรโมทงานหนังสือด้วย แต่สุดท้ายแล้ว เราก็จะเห็นว่างานหนังสือคนเยอะทุกปี แล้วการเอาคำว่า คนไทยอ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัด ก็เหมือนจะไม่ช่วยอะไร เพราะคนก็รู้อยู่แล้วว่าหนังสือมีความยาวแค่ไหน เป็นการตอกย้ำสิ่งที่บอกว่า ความสั้นหรือยาวของคอนเทนต์ หรือการใช้เวลาไปกับคอนเทนต์ของเรานั้นขึ้นอยู่กับความคาดหวังของผู้เสพคอนเทนต์ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว 

กรณีตัวอย่าง

ทาง HubSpot บริษัทด้าน Digital Media ได้เคยออกมาแนะนำความยาวของวิดีโอที่เหมาะสมบนโซเชียลมีเดียตามนี้

  • Instagram ควรมีความยาว 30 วินาที
  • Twitter ควรมีความยาว 45 วินาที
  • Facebook ควรมีความยาว1 นาที
  • YouTube ควรมีความยาว 2 นาที

ตัวเลขเหล่านี้ อาจจะดูเหมือนมาจากสถิติ แต่จริง ๆ แล้ว HubSpot ได้สร้างตัวเลขเหล่านี้ขึ้นจากพฤติกรรมและความคาดหวังของคนมากกว่า เบื้องหลังแนวคิดนี้ก็คือ ยกตัวอย่าง Instagram ที่ HubSpot บอกว่าเป็น Social Media ที่คน Scroll เร็วที่สุด เนื่องจากเป็น Social Media ที่เน้นการแชร์รูปเป็นหลัก สิ่งที่คนคาดหวังบน Instagram คือสิ่งสวย ๆ งาม ๆ ดังนั้นการตอบโจทย์ผู้ใช้งานบน Instagram คือการสนองความคาดหวังนั้น ด้วยวิดีโอที่สั้นเพียงแค่ 45 วินาที

อีกตัวอย่างนึงที่น่าสนใจก็คือ YouTube ความยาว 2 นาทีนี้ไม่ใช่ความยาวที่จะทำให้ผู้ใช้เสพและดื่มด่ำไปกับคอนเทนต์ แค่คือความยาวที่ผู้ชมจะเกิดการ Discover ว่า เห้ย นี่แหละ คอนเทนต์ที่ฉันต้องการ ซึ่งสุดท้ายแล้ว HubSpot แนะนำว่าสุดท้ายให้เราทำวิดีโอแบบเจาะลึกในเรืองนั้นอีกทีในแบบ long-form หากพบว่าผู้ชมมีแนวโน้มที่จะสนใจเรื่องนี้มาก

เหตุผลก็พบว่าสิ่งที่เป็นเรื่องสำคัญบน YouTube เลยก็คือ คนเราค้นพบแชแนลใหม่ ๆ ที่น่าสนใจบน YouTube ได้ง่ายกว่า Platform อื่นมากนั่นเอง

ธรรมชาติของคอนเทนต์

ในบล็อกของ Neil Patel เขาได้ทำการวิเคราะห์บทความต่าง ๆ แล้วพบว่ารูปแบบของบทความที่มีความยาวมากที่สุดก็คือบทความในเชิง Self-improvement หรือการพัฒนาตัวเอง ที่มีความยาวเฉลี่ยอยู่ที่ 1,460 คำ ลองลงมาก็คือ Financial หรือบทความเกี่ยวกับการเงิน ซึ่งตรงนี้จะพบว่าไม่ขัดกับสามัญสำนึกเราเท่าไหร่ และแน่นอนว่าบทความที่มีความสั้นมากที่สุดก็คือข่าวหรือบทความเกี่ยวกับ Gaget ที่มีความยาวเพียงแค่ 181 คำโดยประมาณเท่านั้น

ทั้งนี้สิ่งที่จะบ่งบอกว่าคอนเทนต์นั้นมีความยาวมากน้อยแค่ไหนนอกจากรูปแบบคือการตั้งชื่อ เช่น มีคำว่า “สรุป” หรือ “เจาะลึก” ฉบับเต็ม ก็จะช่วยให้ผู้อ่านสามารถตั้งความคาดหวังว่าคอนเทนต์นี้จะยาวแค่ไหน ที่เหลือก็ให้คุณภาพของงานเขียนเป็นตัวจัดการ

ดังนั้นเราจะพบว่าจริง ๆ แล้วสิ่งสำคัญที่จะตอบคำถามว่า คอนเทนต์ของเรา ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอ บทความ หรือการ Live นั้นควรจะยาวแค่ไหน คำตอบไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเราจะทำยาวแค่ไหนหรือมันควรยาวแค่ไหน แต่ขึ้นอยู่กับว่าผู้ชมคาดหวังว่ามันจะนานแค่ไน และเมื่อนำสิ่งนี้ไปรวมกับความคาดหวังของสิ่งที่คนอ่านหวังว่าจะได้รับ เราก็จะสามารถสร้างประสบการณ์การชมคอนเทนต์ที่เหนือกว่าผู้อื่น และเป็นที่ประทับใจของผู้อ่านได้

คอนเทนต์นั้นคือการสร้างความพึงพอใจ และการสร้างความพึงพอใจนั้น ก็ต้องทำการศึกษาว่าสิ่งที่คนชมคอนเทนต์คาดหวังคืออะไร และทำการมองสิ่งที่เขาต้องการ นี่คือแก่นของการทำคอนเทนต์

 

อ้างอิง

หนังสือ Hit Makers : How Things Become Popular ของ Derek Thompson

How Long Should Your Videos Be? Ideal Lengths for Facebook, Instagram, Twitter, and YouTube

How Long Should Your Blog Articles Be? (With Word Counts for Every Industry)

15 Best Practices for Facebook Live

 

Copyright © 2024 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save