เป็นประเด็นกันใหญ่โต หลังจากที่ PayPal ประเทศไทย เตรียมกลับมาให้บริการอีกครั้ง แต่ครั้งนี้กลับมาพร้อมกับนโยบายใหม่ ที่บังคับให้ผู้รับเงินต้องเป็นบัญชีธุรกิจเท่านั้น รวมถึงมีการคิดธรรมเนียม และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% สำหรับการโอนอีกด้วย ซึ่งคาดว่าเกิดจากการที่รัฐบาลได้บังคับใช้ภาษี e-Service 7% เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา
การกลับมาในครั้งนี้ของ PayPal พร้อมกับนโยบายใหม่ และคำเตือนให้ผู้ใช้ที่เปิดบัญชีก่อนวันที่ 7 มี.ค. 64 ทำการยืนยันตัวตนภายในวันที่ 18 ก.พ. 65 ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถรับส่ง หรือชำระเงินผ่าน PayPal ได้
สิ่งที่ต้องเตรียมสำหรับสมัครบัญชีธุรกิจ
โดยวิธีการสมัครบัญชีธุรกิจต้องเตรียมข้อมูล ดังนี้
- เลขทะเบียนพาณิชย์ประเทศไทย 13 หลัก
- ชื่อกิจการอย่างเป็นทางการ หมายเลขโทรศัพท์และที่ตั้งธุรกิจ
- เอกสารการจดทะเบียนธุรกิจของประเทศไทย
- หลักฐานที่ตั้งธุรกิจ
- ข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไป
นโยบายใหม่ของ PayPal
หากจดทะเบียนเป็นบัญชีธุรกิจเรียบร้อยแล้ว จะสามารถเก็บเงินไว้ในบัญชี PayPal ได้ โดยจะสามารถถอนออกมาเข้าธนาคารที่ลงทะเบียนไว้สำหรับบัญชีธุรกิจเท่านั้น กรณีที่ไม่จดทะเบียนเป็นบัญชีธุรกิจ และมียอดเงินคงเหลือในบัญชีเกินวันที่ 18 ก.พ. 65 เงินจะถูกโอนไปยังบัญชีธนาคารที่ผูกไว้
ถึงแม้ว่า PayPal จะถือเป็นผู้ให้บริการที่เป็นตัวกลางในการรับส่งเงินออนไลน์ข้ามประเทศที่สะดวกและรวดเร็ว โดยเฉพาะกับฟรีแลนซ์ เนื่องจากไม่จำเป็นต้องใช้ SWIFT Code ในการโอนเงิน
แต่จากนโยบายที่เปลี่ยนไป เดิมทีค่าธรรมเนียมในการโอนเงินของบัญชีธรรมดานั้นต่ำกว่าบัญชีธุรกิจ ถูกเปลี่ยนให้บัญชีแบบบุคคลธรรมดาไม่สามารถรับเงินได้อีกต่อไป และทำได้เพียงแค่ชำระเงินผ่านบัตรเคตรดิตและเดบิตเท่านั้น ดังนั้นหากต้องการรับเงินบัญชีธรรมดาจึงต้องเปลี่ยนเป็นบัญชีธุรกิจเท่านั้น
และสำหรับบัญชีธุรกิจจำเป็นต้องเสียค่าธรรมเนียมในการชำระเงิน อยู่ที่ 3.9-4.4% รวมถึงยังต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ของค่าธรรมเนียมอีกต่างหาก เรียกว่ากระทบฟรีแลนซ์เข้าอย่างจัง เพราะต้องเปลี่ยนไปเป็นบัญชีธุรกิจเพื่อรับเงิน และต้องเสียค่าธรรมเนียมพร้อมภาษีอีกด้วย แทนที่จะได้รายได้เท่าเดิมอย่างทีเคย แต่กลับกลายเป็นรายได้น้อยลงกว่าเดิม
แต่ค่าใช้จ่ายยังไม่หมดเพียงเท่านั้น เพราะหากต้องการจะโอนเงินออก ยังมีค่าธรรมเนียมอีกด้วย หากยอดโอนน้อยกว่า 5,000 บาท จะต้องเสียค่าธรรมเนียม 50 บาท ต้องมียอดโอน 5,000 บาทขึ้นไป ถึงจะไม่เสียค่าธรรมเนียม
อย่างไรก็ตาม ถึงบัญชีธุรกิจจะมีฟังก์ชันต่าง ๆ ให้ใช้งานมากมาย แต่สำหรับมุมมองของฟรีแลนซ์บางคนก็ยังคงมองว่ามีข้อเสียมากกว่าข้อดีอยู่ดี เนื่องจากเมื่อจดทะเบียนเป็นบัญชีธุรกิจแล้ว ความยุ่งยากในด้านเอกสารเพิ่มขึ้นมาเป็นเท่าตัว
บริการทางเลือก
สำหรับใครที่มองหาทางเลือกอื่น ๆ ก็มีผู้ให้บริการในการรับส่งเงินมากมายให้เลือกใช้งานตามความเหมาะสม ดังนี้
- Payoneer
บริการที่มีความคล้ายกับบริการของ PayPal ที่สามารถรับเงินได้จากธนาคารทั่วโลกกว่า 200 ประเทศ โดยไม่ต้องเปิดบัญชีกับประเทศนั้น ๆ แถมยังมีทางเลือกสำหรับบุคคลธรรมดา และธุรกิจอีกด้วย
- Skrill
อีกตัวเลือกที่เป็นคู่แข่งของ PayPal โดย Skrill เรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพียง 2.9% เท่านั้น และยังไม่มีค่าธรรมเนียมหากบัญชีไม่ได้เคลื่อนไหว ไม่มีค่าธรรมเนียมในการถอนเงิน และการรับส่งเงินก็ฟรีอีกด้วย
- Stripe
บริการนี้ยังสามารถใช้งานได้แค่กับธุรกิจในอเมริกาและแคนาดาเท่านั้น แต่การชำระเงินมาจากแหล่งใดก็ได้ โดยมีค่าบริการ 2.9%
- Google Pay Send
บริการรับส่งเงินทั่วโลก โดยไม่คิดค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมเดบิต แถมยังมีฟังก์ชันและเครื่องมือต่าง ๆ สำหรับผู้ขาย เพื่อให้การจัดการธุรกิจเป็นไปได้ดีมากขึ้น
อ้างอิง : Money Buffalo, Investopedia