ในปัจจุบันผู้ใช้มีความระมัดระวังในการให้ข้อมูลค่อนข้างมาก จึงทำให้ผู้คนมักคิดไตร่ตรอง และไม่ยอมให้แบรนด์เข้าถึงข้อมูลหากไม่จำเป็น ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องปกติที่ผู้คนจะรู้สึกแบบนี้ เพราะข้อมูลต่าง ๆ นับเป็นสิ่งสำคัญที่มีมูลค่ามหาศาล เพราะสามารถนำไปต่อยอดได้หลายอย่าง ดังนั้นในฐานะแบรนด์ควรจะให้ความไว้วางใจในความโปร่งใสและความปลอดภัย ตั้งแต่การเข้าถึงข้อมูล ไปจนถึงการเก็บรักษา และการใช้ข้อมูลของผู้บริโภค
วันนี้ RAiNMaker เลยอยากมาแชร์วิธีการเก็บข้อมูลแบบสร้างสรรค์ ที่จะไม่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกลำบากใจหรือไม่ปลอดภัยในการให้ข้อมูลมาฝากกันค่ะ เพราะเราเชื่อว่าหากแบรนด์สรรหาวิธีการที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถมีส่วนร่วม หรือมีบางอย่างที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้แล้ว ก็คงจะทำให้ผู้บริโภคยินยอมให้ข้อมูลกับแบรนด์ด้วยความเต็มใจแน่นอน จะมีอะไรบ้างไปดูกันเลยดีกว่าค่ะ
หาจุดร่วม ชวนลงชื่อผ่านแคมเปญ
การสร้างแคมเปญข้นมาเพื่อให้ร่วมสนุก ยิ่งวิธีการเข้าร่วมสร้างสรรค์ หรือตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้คนรู้สึกยินดีที่จะให้ข้อมูลแบบไม่ลังเลเลยทีเดียว
อย่างกรณีของ Heinz ที่สร้างแคมเปญจาก Pain Point ของผู้บริโภค เกี่ยวกับปัญหาของการที่แบรนด์ขายขนมปังและไส้กรอกสำหรับทำฮ็อตด็อก ที่มักจะขายยกแพ็กในจำนวนที่ไม่ครบคู่กัน ทำให้วัตถุดิบอย่างใดอย่างหนึ่งต้องเหลือทุกครั้งเมื่อซื้อมา
Heinz จึงพลิกสิ่งนี้ให้เป็นโอกาส เปิดให้ลงชื่อจริงจังผ่าน Change.org เพื่อเรียกร้องให้ทั้งแบรนด์ขายขนมปังกับไส้กรอกมานั่งจับเข่าคุยกัน แล้วขายให้มันพอดีกันหน่อย!
เรียกว่างานนี้ก็มีคนสนใจเข้ามาลงชื่อกันหลักหมื่นเลยทีเดียว แถมกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่ก็เป็นผู้บริโภคฮ็อตด็อก ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของ Heinz อยู่แล้วด้วย
ฝั่งผู้บริโภคก็แฮปปี้ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการเรียกร้อง แบรนด์ขนมปังและไส้กรอกก็ได้รับรู้ความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย และ Heinz เองก็ได้เก็บข้อมูลกลุ่มเป้าหมายอย่างโปร่งใสอีกด้วย
จัดอีเวนต์ชวนแสดงความเห็น
นอกจากการชวนลงชื่อผ่านช่องทางออนไลน์แล้ว การจัดอีเวนต์เล็ก ๆ ตามสถานที่ต่าง ๆ ให้คนมาร่วมแสดงความคิดเห็นโดยไม่ระบุข้อมูลส่วนตัว ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ดีในการเก็บข้อมูล
เนื่องจากไม่ต้องเปิดเผยตัวตน จึงทำให้มีแนวโน้มที่คนจะมีส่วนร่วมในการออกความเห็นมากกว่า และขั้นตอนก็ไม่ยุ่งยาก อย่างที่เราเห็นกันบ่อย ๆ อาจเป็น การตั้งบูธแล้วให้นำสติกเกอร์ไปแปะ เพื่อแสดงความคิดเห็น เป็นต้น
สแกน QR Code ชวนร่วมงาน
การใช้ QR Code ในการเข้าร่วมงานต่าง ๆ ถือเป็นใบเบิกทางที่ดีในการเก็บข้อมูล ยิ่งกับสถานการณ์ปัจจุบันด้วยแล้ว การสแกน QR Code ถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างปกติ เนื่องจากช่วยลดการสัมผัสนั่นเอง
กรณีของ Sprite ที่ได้ทำแคมเปญใส่ QR Code ไปบนขวด เพื่อเป็นตั๋วสำหรับเข้าชมคอนเสิร์ตฮิปฮอปแบบไลฟ์สตรีมชื่อ “Live From The Label” ในสหรัฐฯ ทำให้แบรนด์สามารถเก็บข้อมูล จากความยินยอมและยินดีที่จะเข้าร่วมคอนเสิร์ตของผู้บริโภค
ใช้เครื่องมือบนโซเชียลมีเดียเก็บข้อมูล
อีกวิธีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน คือ การใช้ฟีเจอร์และเครื่องมือต่าง ๆ บนโซเชียลมีเดีย เช่น การสร้างโพล หรือการสร้างควิซคำถามสั้น ๆ เป็นตัวเลือก เนื่องจากเป็นสิ่งที่ผู้คนใช้เล่นกันในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว กลุ่มเป้าหมายจึงมีแนวโน้มที่จะเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น
อีกอย่างการใช้ฟีเจอร์และเครื่องมือต่าง ๆ เหล่านี้ ค่อนข้างสะดวก รวดเร็ว จึงทำให้คนยินดีที่จะมีส่วนร่วมมากกว่าการกรอกข้อมูล แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นข้อมูลที่ได้จะเน้นไปที่ปริมาณมากกว่าคุณภาพ เนื่องจากบางทีก็ไม่สามารถบอกข้อมูลในเชิงลึก รวมถึงไม่ทราบข้อมูลที่แน่ชัดของคนที่มีส่วนร่วมนั่นเอง
ยกตัวอย่างจากกรณีของ Adidas ที่ร่วมมือกับ We are Social ในการใช้ Instagram Poll ผ่านสตอรี เพื่อสร้างโพลขึ้นมาสำรวจเสียงของผู้บริโภค ในการออกแบบรองเท้ารุ่นใหม่อย่าง Adidas UltraBOOST Xeno
พร้อมกับกิมมิกพิเศษที่ Adidas มอบให้ผู้บริโภค เพื่อกระตุ้นการมีส่วนร่วมในการตอบโพลมากขึ้น นั่นก็คือ สิทธิ์ในการลุ้นรับรองเท้าฟรี หลังจากกดโหวตโพลและ Swipe Up เพื่อลงทะเบียนข้อมูล
ในความจริงสามารถใช้ได้ทั้งอินสตาแกรม เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรือช่องทางอื่น ๆ ก็ได้ ในการเก็บข้อมูล นับเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ดีในการเก็บข้อมูลแบบเพิ่มยอดเอ็นเกจเมนต์ และประหยัดงบประมาณได้เป็นอย่างดี
เก็บ Data ผ่านอินฟลูเอนเซอร์
อีกหนึ่งวิธีคือ การใช้อินฟลูเอนเซอร์เป็นตัวกลางในการเก็บข้อมูล ผ่านทางโซเชียลมีเดียช่องทางต่าง ๆ เนื่องจากอินฟลูเอนเซอร์มีอิทธิพลต่อกลุ่มเป้าหมายค่อนข้างมาก การดึงพลังของอินฟลูเอนเซอร์มาใช้จะช่วยแบรนด์ในด้านการเก็บข้อมูลได้ดีไม่น้อยเลยทีเดียว
ในการเก็บข้อมูลสามารถทำได้ด้วยวิธีต่าง ๆ ที่กล่าวข้างต้น ไม่ว่าจะเป็น การสร้างโพล หรือสร้างควิซ หรือโพสต์เพื่อขอความคิดเห็น โดยใช้เครื่องมือและฟีเจอร์ที่มีบนโซเชียลมีเดียแต่ละแพลตฟอร์ม
ซึ่งข้อดีของการใช้อินฟลูเอนเซอร์ในการช่วยเก็บ Data คือ เหล่ากลุ่มเป้าหมายที่ติดตามอินฟลูเอนเซอร์อยู่แล้ว มักจะเต็มใจในการทำแบบสอบถามรูปแบบต่าง ๆ เพราะอยากที่จะมีส่วนร่วมกับอินฟลูเอนเซอร์ที่ตนติดตาม
แต่ในขณะเดียวกันก็มีข้อเสียตรงที่บางครั้งข้อมูลที่ได้มา อาจมาจากความไบแอส (Bias) ได้ จึงอาจเรียกได้ว่าข้อมูลที่ได้นั้นเน้นไปที่ปริมาณมากกว่าคุณภาพ
แจกเงินแลก Data
กรณีของ Amazon ที่สร้างแคมเปญจ่ายเงินให้ลูกค้า เพื่อแลกกับ Data หรือที่ชื่อว่า ‘Amazon Shopper Panel’ ผ่านแอปพลิเคชัน app Amazon Shopper Panel ของ Amazon เองที่มีทั้งบน iOS และ Android
เรียกว่าถึงจะขอข้อมูลกันตรง ๆ แต่ก็ยังอยู่บนพื้นฐานความซื่อสัตย์ และโปร่งใส เนื่องจากเป็นการขอข้อมูลตามความสมัครใจ และมีข้อแลกเปลี่ยนที่ผู้ใช้ยินยอมนั่นเอง
โดยเมื่อผู้ใช้ทำแบบสอบถาม และอัปโหลดใบเสร็จการซื้อของ 10 ใบเสร็จต่อเดือนจากร้านที่ไม่ได้อยู่ในเครือ Amazon หรืออีกหนึ่งช่องทางคือ การส่งผ่านอีเมล receipts@panel.amazon.com จากนั้นผู้ใช้จะได้รับเงินใน Amazon Balance 10 เหรียญ (ประมาณ 333 บาท) เป็นค่าตอบแทน
ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมแคมเปญนี้ได้จะเป็นสมาขิกที่ถูกเชิญ (Invite-only) ในประเทศสหรัฐฯ เท่านั้น จะเห็นได้ว่าวิธีนี้แม้จะฟังดูแปลกไปซะหน่อย แต่หากลองคิดดูดี ๆ แล้ว ก็เป็นวิธีที่แฟร์ไม่น้อย เนื่องจากผู้บริโภคสามารถเลือกได้เองว่าจะให้ข้อมูลหรือไม่ แถมยังได้ค่าตอบแทนเพิ่มเติมเพื่อแลกกับข้อมูลการซื้อ
จะเห็นได้ว่ามีหลากหลายวิธีที่สร้างสรรค์ในการทำให้กลุ่มเป้าหมายรู้สึกยินดีที่จะให้ข้อมูล แบรนด์จึงต้องทำการบ้าน หาวิธีที่สามารถตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย ทำให้พวกเขารู้สึกว่าการให้ข้อมูลในครั้งนี้ไม่ได้เป็นการเสียอยู่ฝ่ายเดียว
แต่ควรทำให้รู้สึกว่าฉันเองก็ได้อะไรกลับมาจากแบรนด์เช่นเดียวกัน ถึงจะทำให้รู้สึกดีแบบวิน-วินกันทั้งสองฝ่าย อย่างไรก็ตามในการเก็บข้อมูล แบรนด์ควรมีจุดยืนชัดเจนในเรื่องของความซื่อสัตย์และโปร่งใส
ควรแจ้งให้กลุ่มเป้าหมายทราบแน่ชัดว่าจะเก็บข้อมูลส่วนไหน นำไปใช้ทำอะไร และมีวิธีการในการเก็บรักษาข้อมูลที่ปลอดภัยและมั่นคง เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายสามารถวางใจได้
อ้างอิง :
https://www.everydaymarketing.co/business/data/amazon-pay-consumers-for-non-amazon-purchase-data/