‘คน’ ถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของทุกองค์กร การให้ความสำคัญกับการเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานไม่เพียงช่วยขับเคลื่อนธุรกิจไปข้างหน้า แต่ยังส่งผลต่อความสำเร็จในระยะยาวอีกด้วย
Great Resignation หรือปรากฎการณ์คนจำนวนมากลาออกจากงานเพื่อหางานใหม่กลายเป็นคำที่ถูกพูดถึงมากขึ้นในหลายประเทศเมื่อสถานการณ์โรคระบาดเริ่มดีขึ้น สาเหตุมาจากได้พลิกโฉมโลกของการทำงานไปจากเดิม
การไม่ต้องเข้าออฟฟิศกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ที่คนรุ่นใหม่เลือกสมัครเข้าทำงาน หรือการต้องทำงานที่บ้านทำให้เกิดภาวะหมดไฟ (Burnout) จากการไม่สามารถแบ่งแยกเวลาทำงานกับเวลาพักผ่อนได้ หักโหมทำงานจนนำมาสู่ความเครียด เบื่อหน่าย และอยากลาออกไปในที่สุด
รวมถึงสาเหตุอื่นๆ ที่พนักงานรู้สึกว่าไม่มีคุณค่า ขาดโอกาสเติบโตในองค์กร ต้องการย้ายบริษัทเพื่อเติบโตในสภาพแวดล้อมใหม่ หรือต้องการอยู่กับองค์กรที่ให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานมากกว่าเดิม
วันนี้ RAiNMaker ขอพาไปรู้จักทฤษฏีความต้องการของมาสโลว์ (Maslow’s hierarchy of needs) ที่จะช่วยให้ผู้บริหาร เจ้านาย รวมถึงฝ่ายทรัพยากรบุคคลสามารถเติมเต็มคุณค่าให้คนทำงาน มีแรงจูงใจ และรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กรได้อย่างอย่างยั่งยืน
1.ความต้องการพื้นฐานด้านร่างกาย (Physiological Needs)
ความต้องการพื้นฐานที่ทุกคนควรจะได้รับการตอบสนอง พูดง่ายๆ ก็คือการกินอิ่ม นอนหลับ หากเปรียบเทียบกับสิ่งที่คนทำงานต้องการก็คือ เงินเดือนที่มั่นคง สภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี เครื่องมือหรืออุปกรณ์ทำงาน และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ
2.ความต้องความมั่นคงปลอดภัย (Safety and Security Needs)
ความมั่นคงในแง่คนทำงานคือสัญญาการจ้างงานอย่างเป็นทางการ ตลอดจนสวัสดิการต่างๆ เช่นประกันสุขภาพ บำเหน็จบำนาญ เงินเกษียณ การไม่เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตใจและร่างกาย สิ่งต่างๆ ที่ช่วยให้รู้สึกมั่นคงและปลอดภัย
3.ความต้องการความรักและการเป็นเจ้าของ (Love/Sense of Belongings)
เมื่อได้รับความต้องการพื้นฐาน มีความมั่นคงแล้ว คนทำงานก็จะเริ่มมองหาความรักความสัมพันธ์ ในสถานที่ทำงานเราจะหมายถึงการเป็นที่รักของเจ้านายหรือเพื่อนร่วมงาน การมีปฏิสัมพันธ์กับคนในทีม และการได้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมทางสังคม
4.ความต้องการความเคารพนับถือ (Esteem Needs)
เมื่อเส้นทางการทำงานเติบโตมาในระดับหนึ่ง คนทำงานจะเริ่มมีความต้องการอีกขั้นคือความก้าวหน้าและการเคารพจากผู้อื่น การประเมินงานประจำปี การให้รางวัลประจำโปรเจ็ค หรือแม้แต่การยกย่องชมเชยก็สามารถเติมเต็มคุณค่า และตอบสนองความต้องการในขั้นนี้ได้
5.ความสมบูรณ์ของชีวิต (Self-Actualization)
แต่ละคนมีความสมบูรณ์ของชีวิตที่ไม่เหมือนกัน สำหรับพนักงานคือการเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่สามารถเป็นได้ บางคนคือการได้ค้นพบศักยภาพของตัวเอง บางคนคือการได้เป็นที่สุดในสายงาน หรือบางคนคืองานที่ทำได้ช่วยเติมเต็มคุณค่าให้กับชีวิต
ท้ายที่สุดเมื่อพนักงานได้ตระหนักรู้และมีความเป็นอยู่ที่ดีก็มั่นใจได้ว่าองค์กรจะได้รับผลตอบแทนสูงสุดจากพนักงานที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
อ้างอิง