ผ่านปี 2022 มาเดือนหนึ่งแล้ว มีใครที่กำลังมองหากลยุทธ์สำหรับวางแผนการตลาดกันอยู่บ้างนะ? วันนี้ทาง RAiNMaker เลยมี 12 เทรนด์ Digital Marketing ปี 2022 มาฝากกัน เพราะการได้รู้เทรนด์การตลาดในปีนี้ก่อนใครก็จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อวางแผนให้แบรนด์หรือการสร้างคอนเทนต์หรือแคมเปญได้ปั๊วะปังแน่นอน!
Digital Marketing หรือการตลาดดิจิทัลนั้นนับว่าเป็นสิ่งที่ทำให้แบรนด์หรือเหล่านักการตลาดได้เข้าถึงและใกล้ชิดกับกลุ่มเป้าหมายบนโลกออนไลน์มากขึ้น และการเริ่มปีใหม่นี้นอกจากจะมีเหตุการณ์มากมายเกิดขึ้นแล้ว เทรนด์ใหม่ ๆ ของการตลาดก็เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน ดังนั้นการที่เราได้รู้ก่อน เพื่อจะได้นำไปปรับตัวก่อนนั้นจึงเป็นข้อได้เปรียบทางด้านการตลาดนั่นเอง
ซึ่งภายใน 12 เทรนด์นี้ก็เป็นสิ่งที่เราต่างจับตามองและให้ความสนใจกันมาสักพักตั้งแต่ปีที่แล้วบ้าง และมีเรื่องที่เราทุกคนรู้ว่ามันสำคัญ ก็ถูกหยิบยกมาเตือนใจในเทรนด์นี้อีกครั้งเช่นกัน แต่เพื่อเป็นประโยชน์ให้กับแบรนด์และเหล่านักการตลาดทุกคน RAiNMaker ก็จะมาเผยให้รู้กันว่าเทรนด์ที่ควรรู้มีอะไรบ้าง!
Meta จะอยู่ทุกหนทุกแห่ง
หลังจาก Facebook ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Meta ก็ทำให้รู้ว่าโลกแห่งจักวาลนฤมิตหรือ Metaverse กำลังจะคืบคลานเข้ามาบนโลกโซเชียลด้วยการสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับผู้คนระหว่างโลกความจริงและโลกเสมือนจริงที่ถูกสร้างขึ้นด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี
สิ่งที่แบรนด์และนักการตลาดจึงควรใช้โอกาสการมาถึงของโลก Metaverse นี้ในการขับเคลื่อนเทรนด์หรือทำให้ตัวเองเป็นที่รู้จักมากขึ้นในแวดวงคอนเทนต์ เพราะยิ่งเป็น Metaverse ที่ผู้คนกำลังจับตามองมันจะยังคงมีความสดใหม่อยู่ เพราะหากผ่านพ้นช่วงกระแสแรกของเทรนด์นี้ไป มันจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนจนเคยชิน
ตลาดอินฟลูเอนเซอร์ยังคงเติบโตต่อเนื่อง
หากพูดถึงอินฟลูเอนเซอร์ ตลาดนี้ก็ยังคงมีการเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อกลุ่มเป้าหมายมาก ๆ แม้กระทั่งกธุรกิจแบบ B2B (Bussiness-to-Bussiness) ก็ตาม ยิ่งมีแคมเปญหรือการรีวิวก็ยิ่งทำให้ผู้คนบนโลกโซเชียลเชื่อและมีการบอกต่อไปเรื่อย ๆ อีกด้วย
ดังนั้นโอกาสสำคัญที่ควรรีบตักตวงไว้ให้เยอะ ๆ ก็คือการได้ร่วมงานหรือเป็นพาร์ทเนอร์กับเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ในพื้นที่ของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ หรือแพลตฟอร์มที่เป็นคอมมูนิตี้ของพวกเขา
การโฆษณาต้องคำนึงถึงความเป็นส่วนตัว
ตั้งแต่ Apple อัปเดตการตั้งค่าให้ทุกแอปสามารถตั้งค่าการติดตามข้อมูลได้ (App Tracking Transparancy) ใน iOS ได้ ก็เหมือนกับเป็นจุดเริ่มต้นให้การโฆษณาต้องคำนึงถึงสิทธิส่วนบุคคลของผู้ใช้มากขึ้น รวมไปถึงคุกกี้ (Cookies) ต่าง ๆ เมื่อเข้าไปบนเว็บไซต์ก็จะเก็บข้อมูลเชิงลึกน้อยลงด้วย
ฉะนั้นแบรนด์หรือนักการตลาดก็ควรมีการคาดการถึงการเก็บข้อมูลจากการโฆษณาต่าง ๆ เอาไว้ด้วย เพราะมันอาจจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อใจของกลุ่มเป้าหมายที่มีให้กับแบรนด์ได้ เนื่องจากผู้ใช้สมัยนี้เริ่มคำนึงถึงสิทธิส่วนบุคคลของตัวเองมากขึ้นด้วยเช่นกัน
การตลาดต้องมาพร้อมกลยุทธ์
ไม่ว่าแบรนดืไหนจะใช้กลยุทธ์ทางการตลาดดิจิทัลที่ใช้ AI หรือ Machine Learning เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ข้อมูล จะต้องมีกลยุทธ์ที่มองการณ์ไกลเอาไว้ล่วงหน้าเสมอว่าจะมีการจัดการอย่างไรกับข้อมูลที่ได้รับมาให้เกิดประโยชน์กับแบรนด์หรือองค์กรมากที่สุด เพื่อที่จะขับเคลื่อนองค์กรอย่างโฟกัสและได้รับผลตอบรับตาม KPI ที่ตั้งเอาไว้ได้
LinkedIn กำลังเติบโตมากขึ้น
หากพูดถึงแอปพลิเคชันที่กำลังเป็น Rising Star อยู่ตอนนี้ก็คงไม่พ้น LinkedIn ที่ผู้คนในนั้นมีความแอ็กทีฟเพิ่มขึ้นตลอดทั้งเดือนในการสร้างโปรไฟล์ของแบรนด์, บริษัทไปจนถึงองค์กรหรือแม้กระทั่งที่คนทั่วไปใช้ตามหางานก็ทำได้เช่นกัน
เพราะการใช้งานที่หลากหลายและมีความเป็นทางการนี้ จึงทำให้ยอดเอ็นเกจเมนต์ของแพลตฟอร์มนี้มีกราฟพุ่งแทบทุกเดือนเลยทีเดียว เลยทำให้มีการอัปเดตฟีเจอร์ใหม่ ๆ เพื่อขับเคลื่อนให้ตอบโจทย์กับผู้ใช้มากที่สุดอยู่ตลอด
แบรนด์และนักการตลาดก็ควรรีบกระโดดเข้ามาในสนามแพลตฟอร์มแห่งนี้ เพื่อสร้างการเชื่อมต่อกับกลุ่มอื่น ๆ และสร้างเครือข่ายหรือพาร์ทเนอร์ของตัวเองให้กว้างขวางมากขึ้นด้วย
SEO มาควบคู่กับประสบการณ์กลุ่มเป้าหมาย
แม้การทำ SEO จะเป็นสิ่งที่แบรนด์หรือนักการตลาดมักจะให้คามสำคัญในการทำให้ตัวเองเป็นที่รู้จักจากการเสิร์ชมากขึ้นบนโลกอินเทอร์เน็ต แต่เทรนด์ในปี 2022 อยากให้โฟกัสกับเจ้า SEO ลดลงหน่อย แล้วกันมาใช้การผสมผสานกับประสบการณ์ของผู้ใช้ (User Experiences) มากขึ้น
ซึ่งประสบการณ์ของผู้ใช้ (User Experiences) ในที่นี้หมายถึงสิ่งที่พวกเขารู้สึกดีกับสินค้าหรือบริการของแบรนด์นั่นเอง โดยแบรนด์จะต้องคอยสร้างระสบการณ์ที่ดีให้กับพวกเขาเสมอ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งกับแบรนด์มากขึ้นโดยไม่ต้องพยายามที่จะยัดเยียดตัวตนให้พวกเขารู้จักจากการใช้ SEO นั่นเอง
การบอกปากต่อปากนำไปสู่ไวรัลในโซเชียล
สมัยนี้นอกจากการใช้ตลาดอินฟลูเข้ามามีบทบาทในแวดวงการตลาดและแบรนด์แล้ว การบอกปากต่อปากก็ยังคงเป็นอีกกลยุทธ์ทางการตลาดหนึ่งที่กำลังจะกลับมาเป็นเทรนด์อีกครั้ง เพราะเสียงจากปากที่บอกเล่าต่อ ๆ กันจากคนจำนวนมากนั้นเป็นเสียงที่ดังและมีอิมแพคกับสังคมในโลกโซเชียลเป็นอย่างมาก
แบรนด์จึงควรสร้างคอนเทนต์หรือแคมเปญต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการส่งพลังเสียงจากการบอกเล่าของผู้คนในโลกโซเชียลให้มากที่สุด โดยทุก ๆ ขั้นตอนตั้งแต่การเริ่มปล่อยคอนเทนต์หรือแคมเปญจะต้องค่อย ๆ บิวต์ให้กลุ่มเป้าหมายในโลกโซเชียลเกิดการบอกปากต่อปากไปด้วย เพราะจะส่งผลให้มีการโต้ตอบกันบนโลกโซเชียลจนเป็นไวรัลด้วย
ทักษะด้านดิจิทัลมีผลต่อแบรนด์
ต่อเนื่องมาจากแพลตฟอร์มอย่าง LinkedIn การที่ผู้คนในองค์กรมีสกิลการทำงานแบบดิจิทัสกิลถือเป็นข้อได้เปรียบ เพราะจะสามารถทำให้เข้าใจกลยุทธ์และวิธีการใช้เครื่องมือในการทำตลาดได้ โดยกลุ่มคนที่มีทักษะนี้จะทำให้ได้รับโอกาสในการพิจารณางานเยอะกว่าคนทั่วไป
แบรนด์หรือองค์กรจึงควรเฟ้นหากลุ่มคนที่มีความเชี่ยวชาญหรือความเข้าใจด้านนี้โดยเฉพาะเพื่อขับเคลื่อนกลยุทธ์ วางแผนหรือจัดการกับการตลาดเพื่อส่งออกคอนเทนต์หรือแคมเปญไปสู่โลกโซเชียลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
FACEBOOK จะยังคงอยู่ต่อไป
หลายคนคงเคยได้ยินประโยคที่ว่าผู้คนเริ่มไม่ใช้ Facebook หรือแอป Facebook กำลังถูกทอดทิ้งจากคนในโลกโซเชียล แต่ความจริงแล้ว Facebook ไม่ได้จะหายไปไหนแต่อย่างใด กลับกัน Facebook กลายเป็นแพลตฟอร์มหลักที่ทุก ๆ แบรนด์ต้องมีเพื่อตั้งต้น และนอกจากนี้ยังมียอดผู้ใช้ Facebook เพิ่มขึ้น 3 พันล้านคนในทุก ๆ เดือนอีกด้วย แสดงให้เห็นว่าการทำการตลาดบน Facebook ก็ยังมีความจำเป็นอยู่นั่นเอง
การท่องเว็บไซต์ต้องเร็วและแรง
จากการเสิร์ชในสิ่งที่ตัวเองอยากรู้และได้ผลลัพธ์หรือคำตอบในเวลาไม่กี่วินาทีนั้นนับเป็นโมเมนต์ที่ใครหลาย ๆ คนชอบและมีความเคยชินไปแล้วกับ Google หรือเว็บเสิร์ชต่าง ๆ ที่มีการหลั่งไหลของข้อมูลบนเว็บไซต์ (Website Traffic) ในเวลาอันรวดเร็ว
ฉะนั้นกับเว็บไซต์ของแบรนด์ก็เช่นเดียวกัน ความเร็วที่แสดงผลจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะเพิ่มความอยากในการท่องเว็บไซต์ต่อของกลุ่มเป้าหมายได้ เนื่องจากยุคที่สมาร์ตโฟนกลายเป็นอวัยวะที่ 33 ผู้คนก็เริ่มติดการค้นหาและการไถในเวลาสั้น ๆ เท่านั้น ความเร็วในการท่องเว็บจึงเป็นสิ่งที่ควรทุ่มทุนเพื่อไม่ให้แบรนด์เสียโอกาสในการเป็นที่รู้จักไป
ทุกสิ่งขับเคลื่อนด้วยอัลกอริทึม
ทุก ๆ พาร์ทของการตลาดดิจิทัลเรียกได้ว่ามีอัลกอริทึมแฝงอยู่ในทุก ๆ ส่วนเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นการแสดงผล, ฟีดของโซเชียลมีเดีย, การโฆษณาบนโซเชียล, เครื่องมือในการเสิร์ชหรือแม้แต่อีเมลก็ตาม ล้วนขับเคลื่อนด้วยอัลกอริทึมที่มีพื้นฐานมาจากประสบการณ์ของผู้ใช้ (User Experience) ทั้งนั้น
การที่แบรนด์จะสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มเป้าหมายต่อไปได้ก็มีเพียงแค่การจัดหาสิ่งมาตอบสนองกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายให้มากที่สุด โดยคิดมาจากพฤติกรรมของพวกเขาในการใช้หรือข้อมูลต่าง ๆ ที่เก็บเอาไว้จากอัลกอริทึม
ก้าวทีละสเต็ปแบบโฟกัส
การเชื่อมต่ออย่างกว้างขวางของแบรนด์แม้จะได้ช่องทางที่หลากหลาย แต่บางทีอาจจะต้องแลกมากับการใช้เวลาไปกับหลายช่องทางในช่วงเวลาเดียวกัน ทำให้ไม่ได้โฟกัสช่องทางใดช่องทางหนึ่งมากนัก
เทรนด์การตลาดดิจิทัลในปีนี้จึงอยากใ้หแบรนด์ได้โฟกัสทีละสเต็ปอย่างละเอียดและรอบคอบ เพื่อพัฒนาจุดเด่นของแบรนด์ให้ดีที่สุดก่อน แล้วค่อย ๆ ขยับขยายจุดต่อไป ซึ่งอาจจะใช้เวลานานกว่า แต่ผลลัพธ์จะทำให้คนเกิดภาพจำแบรนด์มากขึ้นว่ามีจุดเด่นเรื่องอะไร และคอยติดตามจุดนั้นว่าจะมีพัฒนาการในอนาคตอย่างไรต่อบ้าง
จากทั้ง 12 เทรนด์มีทั้งเรื่องกลยุทธ์ การทำงานและแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่แบรนด์หรือนักการตลาดสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับแบรนด์ของตัวเองหรือองค์รได้ แต่ขึ้นชื่อว่าเทรนด์แล้วก็เป็นเพียงแนวโน้มในอนาคตเท่านั้น เพราะผลลัพธ์จากเทรนด์จะสำเร็จหรือไม่ คงขึ้นอยู่กับคุณว่าจะนำไปใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเหมาะกับแบรนด์
ที่มา: Social Media Today