หลายคนคงคุ้นชื่อ ‘มุนินฺ’ หรือ ‘มุนินทร์ สายประสาท’ นักวาดการ์ตูนชื่อดังผู้มีประสบการณ์ในแวดวงมาแล้วกว่าสิบปี การันตีด้วยการร่วมงานจากแบรนด์ชั้นนำมากมาย โดยเฉพาะช่วงหลังมานี้ ที่เธอได้เริ่มต่อยอดผลงานสู่โลกดิจิทัลมากขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นการจับมือกับ Samsung จัดนิทรรศการ ‘B-SIDE Solo Exhibition By Munins’ ที่รวบรวมผลงาน NFT ให้ชมทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์
หรือการแจกผลงาน NFT ในงานหนังสือแห่งชาติครั้งล่าสุด ภายใต้ความคิดว่าอยากจะเปิดโลก NFT ให้กว้างขึ้น และเพิ่มโอกาสให้คนทั่วไปได้รู้จัก รวมถึงได้สัมผัสผลงานดิจิทัลมากขึ้นอีกด้วย
อย่างที่เรารู้กันว่าเดิมทีเธอเริ่มมาจากการวาดภาพการ์ตูนบนหนังสือ เพราะฉะนั้นการก้าวเข้าสู่ตลาด NFT เลยนับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเลยก็ว่าได้ วันนี้เราเลยจะพาทุกคนมาไขเคล็ดลับความสำเร็จบนเส้นทาง NFT ของมุนินฺกันค่ะ
NFT ไม่ยากเกินเข้าใจ หากได้เริ่ม
ถ้าอยู่ในช่วงอายุเดียวกับมุนินฺ เธอคิดว่ามันอาจมีจุดยากในการทำความเข้าใจ NFT อยู่บ้าง เนื่องจากเป็นตลาดใหม่ที่ซื้อขายผลงานผ่านดิจิทัลที่มีหลายขั้นตอน ตั้งแต่การเปิดกระเป๋าเงินดิจิทัล เรื่องความปลอดภัยที่สร้างความกังวลและเป็นกำแพงในช่วงแรก
แต่หากเราศึกษาให้ดีก็จะช่วยลดความเสี่ยงตรงนั้นได้เยอะ สำหรับเธอคิดว่าที่หลายคนไม่กล้าเริ่ม เพราะโลกของ NFT มีเรื่องที่เราไม่รู้มากเกินไป แต่ความเป็นจริงแล้วถ้ากล้าผ่านด่านแรกเข้ามาก็จะรู้ว่าไม่มีอะไรยากเกินความสามารถ มันก็เหมือนกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ที่ต้องไปเป็นขั้นเป็นตอน
อย่างในตลาด NFT ก็มีธรรมชาติของตัวเองอยู่ ตั้งแต่สไตล์งานที่หลากหลาย และแตกต่างจากตลาดภาพวาดทั่วไป รวมถึงการสร้างตัวตน และการโปรโมตขายชิ้นงาน เป็นต้น
ทุกวันนี้ก็มีคอมมูนิตี้เกี่ยวกับ NFT มากมายให้ได้พูดคุยหาความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้น โดยรวมสำหรับเธอมันไม่ได้ยากเกินไป แค่อาจต้องใช้เวลาเยอะหน่อย เพื่อให้อินกับมัน
“เหมือนการโยนของลงไปในทะเล ถ้าไม่สร้างคลื่นให้คนเห็น มันก็จะหายไป”
มองเป็นโอกาสระยะยาวของเหล่านักวาด
เธอเล่าให้ฟังว่าตอนแรกก็ไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ และไม่มีภาพในหัวเลยแม้แต่น้อยว่าจะทำอย่างไรกับมัน แต่เมื่อเห็นศิลปินในวงการนักวาดรอบตัวเริ่มสร้างผลงาน NFT มากขึ้นเลยเกิดความสนใจ
ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเรื่องมูลค่าของตลาดที่ส่งผลให้รู้สึกอยากเริ่มต้นในตลาด NFT บวกกับสถานการณ์โควิดที่ทำให้นักวาดอย่างเธอได้รับผลกระทบไม่น้อย อย่างงานมหกรรมหนังสือประจำปีที่หายไปช่วงนึง เธอเลยมองว่า NFT เป็นอีกช่องทางในการสร้างรายได้ให้กับศิลปิน
เธอเสริมว่า NFT คือ พื้นที่สำหรับนักวาดอย่างแท้จริง โดยที่ไม่สนใจเลยว่าคุณจะเป็นใครมาก่อน และไม่ได้ขึ้นกับชื่อเสียงหรือพื้นฐานที่มีมาก่อนหน้านี้ เพราะทุกคนสามารถเข้ามาและสร้างสรรค์ผลงานจากสิ่งที่ชอบและถนัดได้อย่างไร้ขอบเขต
ลงทุนด้วยเวลาและความสามารถ
ทุกคนมาพร้อมกับการลงทุนจากเวลาและความสามารถ ต้องยอมรับว่าการสร้างสรรค์ผลงาน NFT ใช้เวลาค่อนข้างมาก ตั้งแต่กระบวนการคิด ไปจนถึงการโปรโมต แต่ทุกคนในคอมมูนิตี้ที่ล้วนลงทุนด้วยเวลาและความสามารถก็จะเข้าใจกันดี เพราะฉะนั้นคอมมูนิตี้จึงจะสนับสนุนกันเต็มที่ในเรื่องการโปรโมต และการสื่อสาร เพื่อผลักดันให้ก้าวไปพร้อมกัน
พร้อมปรับตัวรับสิ่งใหม่ตลอดเวลา
เพราะว่าการวาดการ์ตูนปกติกับการสร้างผลงาน NFT ค่อนข้างต่างกันสิ้นเชิง จากการทำหนังสือ ที่แค่มีคอนเทนต์หลัก นำมาเล่าเรื่อง ในมุมของการสื่อสารก็ไม่ได้ไปเร็วแบบบนโลกโซเชียล จึงทำให้เธอคุ้นชินกับหนังสือมากกว่า
แต่พื้นที่ ๆ ใช้ในการสื่อสาร อย่างคอมมูนิตี้ NFT ส่วนมากจะอยู่บน Twitter ซึ่งเธอก็ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับแพลตฟอร์มมากขึ้น เพื่อดูแนวทางในการทำคอนเทนต์โปรโมต ต้องคอยสื่อสารทั้งกับศิลปินด้วยกันเอง และกับนักสะสม สิ่งนี้นับเป็นโจทย์ยากสำหรับเธอว่าจะทำคอนเทนต์อย่างไรให้น่าสนใจ และดึงดูดคนได้ในเวลาเดียวกัน
ความท้าทายอีกอย่างสำหรับเธอคือ ภาษา ที่เข้ามามีบทบาทในการสื่อสารมากขึ้น เนื่องจากตลาด NFT เป็นตลาดออนไลน์ และมีความสากล ทำให้มีกลุ่มเป็าหมายต่างขาติจำนวนไม่น้อยที่อาจสนใจและติดต่อมา
เริ่มจากความชอบแล้วจะไม่เสียใจ
เธอให้สาเหตุที่ต้องเริ่มจากสิ่งที่ชอบหรือสิ่งที่ถนัดว่า เนื่องจากตลาด NFT มีความเสี่ยง และมีหลากหลายปัจจัยที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ เพราะฉะนั้นการนำความชอบมาลงทุนบนความเสี่ยง แน่นอนว่าถ้าสำเร็จผลมันดีอยู่แล้ว
และถึงแม้ว่าผลลัพธ์จะออกมาไม่ได้ดีเท่าที่หวัง อย่างน้อยเราก็จะไม่รู้สึกเสียดายที่ครั้งนึงเราได้อินและเต็มที่กับมัน เพราะได้ทำสิ่งที่ชอบ แถมสุดท้ายก็ยังมีผลงานเก็บสะสมไว้อีกด้วย
สร้างกิมมิกใหม่ ๆ ผสมผสานกับความเป็นตัวเอง
เพราะเป็นตลาดใหม่ แนวทางงานใหม่ กลุ่มเป้าหมายก็ใหม่ไปด้วย เธอเล่าให้ฟังว่าก่อนเข้ามาก็สำรวจทั้งตลาด แนวทางผลงาน จนค้นพบว่างานที่ถูกจริตวงการ NFT นั้นแตกต่างจากความเป็นตัวเองพอสมควร
แต่เธอกลับมองว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ทำให้เธอได้เห็นเทรนด์ใหม่ ๆ ที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งเธอก็จับความหลากหลายมาผสมผสานกับความเป็นตัวเองได้
ตอนแรกควรเริ่มทำงานจากสิ่งที่ตัวเองถนัดก่อน เพื่อที่จะได้อินกับมัน จากนั้นค่อยดึงเสน่ห์ของตลาด NFT มาผสมผสาน ในมุมมองของเธอคิดว่าจุดเด่นของผลงาน NFT คือ ความสนุก และสีสันที่สดใส เธอเลยลองเอาสิ่งเหล่านั้นมาผสมผสาน เพื่อลองดูว่ามันจะตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายใหม่หรือไม่
ซึ่งพอได้ลองทำดูจริง ๆ เธอก็ค้นพบว่ากลุ่มเป้าหมายที่มาซื้อเป็นคนละกลุ่มกับฐานแฟนคลับเดิมที่เคยตามเรามาก่อน นอกจากนี้ก็ยังคนต่างชาติที่เข้ามาบ้างบางส่วน
ผสมผสานงานบนกระดาษและดิจิทัล
ครั้งนี้เธอเองก็มีผลงาน NFT คอลเล็กชันพิเศษที่นำไปแจกในงานมหกรรมหนังสือถึง 25,000 ชิ้น โดยเธอมีความตั้งใจว่าจะให้กลุ่มเป้าหมายเดิมที่ติดตามเธอจากหนังสือ หรือช่องทางอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ NFT ได้มีโอกาสสัมผัสผลงาน NFT ของเธอด้วย และจะได้ให้ทุกคนค่อย ๆ คุ้นเคย และเริ่มก้าวเข้ามาในตลาด NFT ในอนาคต
มองว่า NFT คือการสร้างแบรนด์
การสร้างสรรค์ผลงาน NFT ไม่ได้ง่ายไปกว่าการทำงานแบบเดิมเลย เนื่องจากมีรายละเอียดในภาพรวมค่อนข้างเยอะ ทั้งการหาจุดเด่นของคอลเล็กชัน เพื่อทำให้คนพูดถึง และเข้าใจได้ง่าย ซึ่งก็เปรียบเสมือนการสร้างแบรนด์ให้ตัวเอง ที่มี NFT เป็นหนึ่งในสินค้า
เพราะฉะนั้นการคิดธีมไว้ก่อนก็จะทำให้ Positioning ของตัวเองออกมาชัดขึ้น และคนก็จะมีภาพจำเราชัดขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง
เธอย้ำว่าในด้านของการโปรโมตเองก็ต้องมีการคิดวางแผนไว้ก่อนอย่างละเอียดเช่นกัน ทางที่ดีควรมี Road Map ชัดเจน เพื่อให้ตัวเองสามารถพูดถึงผลงาน และสื่อสารไปให้ถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างราบรื่น
นอกจากนี้ เธอยังเสริมว่าในตลาด NFT ไม่ได้มีแค่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นแค่แฟนคลับเท่านั้น แต่ยังมีทั้งนักลงทุน และนักสะสม ที่พวกเขาจะมองไปถึงความคุ้มค่าในการลงทุนระยะยาว จึงทำให้ตัวศิลปินเองอาจต้องคำนึงถึงจุดนี้ละเอียดมากขึ้นในการสร้างสรรค์ผลงานทุกครั้ง
ตลาด NFT = บททดสอบจิตใจ
ถ้าบางคนเข้ามาเพื่อหวังว่าจะใช้ตลาด NFT เป็นช่องทางการสร้างรายได้ ก็จะมีความกดดันค่อนข้างสูง และด้วยความที่เป็นคนละตลาดกับการวาดทั่วไป ทั้งสไตล์ วัฒนธรรม และกลุ่มเป้าหมาย จึงทำให้มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ประสบความสำเร็จได้
ทางที่ดีควรเข้ามาด้วยความไม่คาดหวัง และเปิดกว้างในการรับสิ่งใหม่ ๆ ในตลาด เนื่องจากผลงาน NFT นั้นมีหลากหลาย ดังนั้นประสบการณ์ในแวดวงนี้เองจะพาเราไปสู่ความสำเร็จเอง
เธอยอมรับว่าถ้าผลงานขายได้ก็ดีใจ ถ้าขายไม่ได้ก็มีซึมบ้าง เพราะฉะนั้นเธอจึงแนะนำว่าต้องเตรียมใจยอมรับในจุดนี้ แต่ถึงอย่างไรก็ตามเธอก็อยากชวนให้ทุกคนเข้ามาลองสร้างสรรค์ผลงานบนโลก NFT ดูก่อน เพราะยังมีพื้นที่อีกมากมายรอรับผลงานใหม่ ๆ อยู่
และนี่ก็เป็นมุมมองความคิด และประสบการณ์ในโลก NFT จากมุนินฺ ที่แสดงให้เห็นว่า NFT ไม่ใช่เรื่องยาก และทุกคนสามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคอมมูนิตี้ได้ไม่ในฐานะผู้สร้างสรรค์ผลงาน ก็ในฐานะผู้สะสมผลงาน
ซึ่งนอกจากผลงาน NFT แล้ว ในอนาคตเธอยังมีแพลนจัดงาน ‘B-SIDE Downtown’ ที่รวบรวมผลงาน และจัดแสดงในรูปแบบ Virtual gallery ที่คอลเล็กชันใหญ่ และจำนวนมากขึ้น รวมถึงมีแพลนที่จะพัฒนาคอมมูนิตี้ NFT ของตัวเองให้แตกต่างมากขึ้นอีกด้วย