อีกหนึ่งงานมหกรรมใหญ่ประจำปีคงหนีไม่พ้น ‘งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที 50’ ที่เพิ่งจัดไปเมื่อวันเสาร์ที่ 26 มีนาคม – วันพุธที่ 6 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา โดยเป็นปีแรกที่มีการเปลี่ยนสถานที่จัดงานจากศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เป็นสถานีกลางบางซื่อ
ทำให้รูปแบบการจัดงาน และการโปรโมตงานเปลี่ยนแปลงไปบ้าง เนื่องจากต้องมีการประชาสัมพันธ์ในเรื่องของสถานที่มากขึ้น รวมถึงเป็นการจัดงานใหญ่ในรอบปี หลังจากสถานการณ์โควิดที่ทำให้ก่อนหน้านี้มีทั้งจัดออนไลน์ และจัดสถานที่อื่น
พอปีนี้ก็กลับมาพร้อมกับสถานที่ใหม่ เห็นได้ชัดว่าทางงานสัปดาห์หนังสือเขาก็มีจัดบูธและกิจกรรมใหม่ ๆ เพื่อให้ตอบโจทย์กับวิถีชีวิตของกลุ่มเป้าหมายในปัจจุบันมากขึ้นตามไปด้วย
วันนี้เราเลยรวบรวมไฮไลต์ต่าง ๆ ในการโปรโมตงานครั้งนี้มาฝากกัน ถือเป็นการรีแคป และเผื่อจะเป็นไอเดียให้หลายคนนำไปต่อยอดในการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายกันได้บ้าง
เพิ่มความหลากหลายให้เป็น ‘วาระแห่งชาติ’
จะเห็นว่าภายในงานไม่ได้มีแค่หนังสือ แต่ยังมีบูธกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย แถมยังมีการนำเทคโนโลยีจากโลกดิจิทัลมาประยุกต์ในการโปรโมต ไม่ว่าจะเป็นการนำ NFT มาแจกภายในงาน การจัดนิทรรศการรถไฟ หรือการทำคอนเทนต์โปรโมตออกไปของแต่ละสำนักพิมพ์
เพื่อสร้างบรรยากาศที่ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงงานหนังสือได้ ไม่ใช่แค่งานหนังสือที่ต้องมีแต่คนที่ชอบหนังสือเท่านั้น แต่ใคร ๆ ก็ไปงานหนังสือได้ ทั้งนักสะสม NFT คนที่สนใจนิทรรศการรถไฟ หรือคนที่ชื่นชอบการชมนิทรรศการ เป็นต้น
เชื่อมโลกดิจิทัลด้วย NFT กับมุนินฺ
สิ่งสำคัญที่เป็นไฮไลตในงานปีนี้เลยคือ เป็นครั้งแรก กับ NFT ในงานหนังสือ! ที่ PUBAT จับมือกับ ‘มุนินฺ’ แจกผลงาน NFT 5 แบบ และไอเท็มลับชิ้นที่ 6 ทั้งหมดจำนวน 25,000 ชิ้น บนบล็อกเชน NEAR Protocol เมื่อมียอดซื้อครบตามกำหนด
นอกจากฐานแฟนคลับเดิมของมุนินฺ งานนี้จึงเพิ่มฐานแฟนกลุ่มนักสะสมผลงาน NFT เข้ามาด้วย ถือเป็นการขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังสาย Blockchain และยังเป็นการโปรโมต NFT ให้คนทั่วไปได้รู้จักมากขึ้น
งานหนังสือในครั้งนี้เลยได้รับความสนใจไม่น้อย เพราะใครจะคิดว่าในงานหนังสือจะมีของสะสมจากโลกดิจิทัลมาแจกแบบนี้ ทำให้เป็นที่หน้าจับตามองว่าในงานครั้งต่อ ๆ ไปงานหนังสือจะมีอะไรน่าตื่นตาตื่นใจกันอีก โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับโลกดิจิทัลเช่นนี้
กลมกลืนไปกับสถานที่ด้วยนิทรรศการ 125 ปีรถไฟไทย
เนื่องจากเปลี่ยนสถานที่จัดงานมาเป็นสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งขนาบไปด้วยรถไฟฟ้าและรถไฟปกติ แถมวันเปิดงาน 26 มีนาคม 2565 ยังตรงกับ “วันสถาปนากิจการรถไฟไทย” พอดีอีกต่างหาก เลยมีการจัดบูธการรถไฟฯ แจกของที่ระลึกให้กับผู้ที่ไปร่วมงาน
ซึ่งภายในนิทรรศการก็มีการเล่าเรียงประวัติศาสตร์การรถไฟไทยตลอด 125 ปี โดยเชื่อมโยงกับตัวอักษร ก-ฮ ที่เรียกว่าเป็นการชูโรงนิทรรศการผ่านธีมที่เข้ากับสถานที่ได้เป็นอย่างดี
เพราะนอกจากจะเป็นการโปรโมตแบบเน้นย้ำถึงสถานที่ใหม่ที่ใช้จัดงานแล้ว ยังสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่มีความสนใจนิทรรศการรถไฟจริง ๆ ได้อีกด้วย หรือจะมองเป็นกิมมิกน่ารัก ๆ ที่พยาพยามสร้างความกลมกลืนระหว่างงานและสถานที่จัดงานก็ได้เช่นกัน
พลังการโปรโมตจากเหล่าอินฟลูเอนเซอร์หลายสาย
จากภาพจำเดิม ๆ ว่างานหนังสือก็คงจะสื่อสารกันแค่ในกลุ่มคนที่มีความสนใจหนังสือเท่านั้น สู่การนำกิจกรรมหลายแขนงมารวมไว้ในงาน ทำให้เข้าถึงคนหลายกลุ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการนำผลงาน NFT มาแจกในงานที่เรียกความฮือฮาให้กับสายสะสมผลงาน NFT ได้ไม่น้อย
ไหนจะนิทรรศการรถไฟ สำหรับใครที่มีความสนใจในประวัติศาสตร์รถไฟก็สามารถเข้ามาเยี่ยมชมนิทรรศการพร้อมรับของที่ระลึกได้อีกด้วย
ทำให้นอกจากครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์สายอ่านทั่วไปแล้ว ก็ยังมีสายอื่น ๆ มีส่วนร่วมมากขึ้น ซึ่งเป็นตัวทำให้คนอื่นเห็นว่างานหนังสือไม่จำเป็นต้องมีแค่คนที่เป็นนหนอนหนังสือไปเท่านั้น แต่งานหนังสือจับบริบทรอบตัวมาสร้างกิจกรรมให้ทุกคนมีส่วนร่วมได้
สร้างบทสนทนาบน Facebook Group
จากการที่ Facebook มีการเน้นการใช้งานของกลุ่มมากขึ้น หากมีการโปรโมตหรือสร้างบทสนทนาภายในกลุ่มก็จะยิ่งทำให้ผู้คนมีโอกาสได้เห็นโพสต์มากขึ้นเช่นกัน แถมคอมมูนิตี้ในกลุ่มส่วนมากจะค่อนข้างเป็นกลุ่มคนที่มีความสนใจเฉพาะด้าน และมีความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่น
เพราะฉะนั้นการจุดประกายบทสนทนาเรื่องงานหนังสือในกลุ่มคนรักหนังสือ หรือพูดเรื่องที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นนำเรื่อง NFT ที่แจกในงานหนังสือในกลุ่ม NFT ก็จะสามารถเรียกความสนใจได้ดีเลยทีเดียว
เนื่องจากผู้คนในกลุ่มมีความสนใจในเรื่องนั้น ๆ เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว นอกจากนั้นยังอาจมีเอ็นเกจเมนต์ มีการตอบโต้บทสนทนากันภายในกลุ่มอีกด้วย
หากให้การโปรโมตได้ประสิทธิภาพก็อย่าลืมนึกถึงกลุ่ม สร้างบทสนทนา ติดแฮชแท็ก หรือบอกรายละเอียดให้ครบถ้วน ทางที่ดีหากมีกิจกรรมก็จะยิ่งช่วยเพิ่มเอ็นเกจเมนต์ได้เป็นอย่างดี แต่ที่สำคัญก่อนจะทำกิจกรรมอะไรในกลุ่มอย่าลืมศึกษากฎของแต่ละกลุ่มให้ดีก่อนทำนะ!
เรียกน้ำย่อยด้วยกระแสป้ายยา
แน่นอนว่างานหนังสือนอกจากขายหนังสือ ก็มีของสะสมต่าง ๆ ให้ตามเก็บเป็นหลัก การจะทำให้คนยิ่งอยากมางานก็คงหนีไม่พ้นการป้ายยา ยิ่งมีคนเริ่มสร้างกระแสป้ายยาขึ้นมาเมื่อไหร่ ก็จะเกิดกาารป้ายยาต่อกันไปอย่างไม่รู้จบ จนสุดท้ายก็ต้องไปงานเพื่อครอบครองมันให้ได้!
เพราะฉะนั้นการใช้กระแสป้ายยา จนทำให้คนอื่นแชร์ต่อ พูดต่อไป ยิ่งมีโอกาสทำให้กลุ่มเป้าหมายเห็นและมีส่วนร่วมมากขึ้น รวมมไปถึงอาจช่วยขยายฐานกลุ่มคนที่สนใจหนังสือได้อีกต่างหาก
เรียกว่าในปีนี้เราก็ได้เห็นอะไรใหม่ ๆ ในงานสัปดาห์หนังสือไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มกิจกรรม หรือบูธต่าง ๆ เข้ามานอกเหนือจากหนังสือ เพื่อเข้าถึงคนอื่นมากขึ้น ยังมีการโปรโมตผ่านช่องทางออนไลน์ที่เน้นไปที่การสร้างบทสนทนาในหลากหลายแวดวงมากขึ้น เพื่อเป็นการโปรโมต
สำหรับในครั้งต่อไปงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติจะมีอะไรน่าสนใจมาให้ติดตามอีก ก็คงต้องรอดูกันต่อไปค่ะ!
#สัปดาห์หนังสือ2565 #อ่านอนาคต #NationalBookFair50 #BKKBookFair20 #งานหนังสือที่บางซื่อ
- อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม BrandMaker: เยือนโลกคอนเทนต์งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 50 ณ สถานีกลางบางซื่อ