แน่นอนว่าในการทำคอนเทนต์นั้น ผู้ติดตามเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ เพราะนั่นหมายความว่ามีคนกลุ่มหนึ่งที่พร้อมจะรับข่าวสารจากเรา และอยากเห็นเรื่องราวจากเรา ไม่ว่าช่องทางนั้นของเราจะมีผู้ติดตามแค่หลักร้อยหรือหลักแสนหลักล้านก็ตาม แม้ว่าการจะได้ใครซักคนมาติดตามอาจจะยากแล้ว แต่การรักษาให้คนเหล่านั้นยังคงพอใจกับสิ่งที่เขาเห็นและเห็นดีเห็นงามที่จะติดตามเราต่อนั้นยากกว่า
มันไม่ได้เจ็บแค่คนติดตามลดลง แต่กลายเป็นว่าคนที่เคยติดตามเรามาดันตัดสินใจเลิกความสัมพันธ์กับเราซะงั้น แค่คิดก็เป็นเรื่องน่าเศร้าสำหรับคนทำคอนเทนต์แล้ว
Sproutsocial ได้เปิดเผย ผลการสำรวจ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการ “เลิกติดตาม” หรือ Unfollow, Unlike ว่าทำไมพวกเขาถึงได้เลิกติดตามเพจ, ช่อง, บัญชี ที่ครั้งหนึ่งคนเหล่านั้นเคยตัดสินใจกดติดตามด้วยตัวเอง
1. โพสต์โปรโมชั่น หรือขายมากเกินไป
คนจำนวนมากถึง 46% กดเลิกติดตามเพจหรือแบรนด์เนื่องจากโพสที่เกี่ยวกับการขายมากไป ซึ่งคงไม่มีใครอยากจะกดติดตามเพื่อชมแต่โฆษณาอย่างเดียว ดังนั้นเราจึงควรทำคอนเทนต์แนวอื่น ๆ ด้วย เช่น ให้ความรู้ ให้ความบันเทิง หรือกล่าวถึงเรื่องราวที่อยู่ในประเด็นหรือแวดวง Product ของเรา
2. โพสต์สิ่งที่ไม่เกี่ยวข้อง หรือนอกเหนือจากสิ่งที่คนตามคาดหวัง
เมื่อกดติดตามจากโพสต์ไหนแล้ว แน่นอนว่าคนคนนั้นเขาจะต้องคาดหวังสิ่งที่เหมือนกับสิ่งที่ทำให้เขาติดตาม ซึ่งความคาดหวังนี้ก็คือพระเอกของการทำคอนเทนต์เลยก็ว่าได้ การทำคอนเทนต์คือการตอบสนองความคาดหวัง และการไม่สนองความคาดหวังก็อาจจะนำมาสู่จุดสิ้นสุดของการติดตามได้
ผลสำรวจพบว่าคนจำนวนมากถึง 41% เลิกติดตามเพจหรือแบรนด์นั้นเนื่องจากโพสต์สิ่งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องหรือมีเนื้อหาเชื่อมโยงกับแบรนด์ และล่าสุดหลังจากที่ทุกคนเริ่มจับทางอัลกอริทึมของ Facebook ได้แล้วก็จะพบว่าการโพสต์เนื้อหาที่มีความหลากหลายไปจะทำให้ยอด Reach ลดลงต่างจากเพจที่มีแนวทางชัดเจนนั่นเอง
3. โพสต์มากเกินไป
แน่นอนว่าการโพสต์มากเกินไปก็สร้างความรำคาญได้ โดยเฉพาะโซเชียลที่เป็นแบบเรียงตามเวลา เช่น Twitter นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้คนจำนวนมากถึง 35% กดเลิกติดตามเพราะรำคาญว่าจะโพสต์อะไรนักหนา หน้า Feed แทบจะเต็มไปด้วยข้อความจากแบรนด์เพียงแบรนด์เดียว
4. โพสน้อยเกินไป (เอ้า)
สรุปแล้วจะเอายังไงกันแน่ โพสต์มากเกินไปก็ไม่ดี เงียบไปก็โดน Unfollow อีก ดังนั้นเราจึงควรเลือกช่วงของจำนวนโพสต์ให้เหมาะสมทั้งกับเนื้อหา, กับช่วงเวลา และกับธรรมชาติของโซเชียลแต่ละตัวอีกด้วย
คนจำนวน 18% ให้เหตุผลว่าการที่แบรนด์เงียบบนโซเชียลเป็นเหตุผลที่ทำให้พวกเขาเลิกติดตามหรือ Unlike, Unfollow แบรนด์นั้น ๆ
5. ฝืนภาพลักษณ์
บางทีการฝืนภาพลักษณ์เพื่อตามกระแส หรือการฝืนใช้คำวัยรุ่นก็ทำให้คนรู้สึกว่ามันผิดธรรมชาติและไม่อยากจะติดตามต่อได้เช่นกันคนจำนวน 30% ให้เหตุผลว่าพวกเขาเลิกติดตามแบรนด์เพราะรู้สึกว่าแบรนด์กำลังฝืนธรรมชาติและไม่เป็นตัวเอง
ดังนั้นการเป็นตัวเราเองนั่นแหละดีที่สุดแล้ว อย่าไปฝืนตามกระแสหรือใช้คำพูดสำนวนหรือรูปแบบการนำเสนอที่รู้สึกว่าไม่ใช่เรา
6. ไม่ยอมตอบคอมเม้น
อาจจะไม่ต้องถึงขั้นตอบทุกคอมเมนต์ แต่การเข้าไปมีส่วนร่วมในบทสนทนาของผู้ติดตามบ้างก็ทำให้แบรนด์กลายเป็นที่จดจำและรู้สึกว่าแบรนด์ใส่ใจ ไม่เช่นนั้นคนจำนวน 18% อาจจะมีความรู้สึกว่าแบรนด์หยิ่งและเลิกติดตาม Unlike, Unfollow ได้
สรุปแล้วก็คือในเมื่อคนติดตามเราอาจจะเพราะว่าจากชื่อ จากการกล่าวถึง จากโพสต์บางโพสต์ สิ่งที่ทำให้เขาติดตามก็คือเขาคาดหวังว่าจะเห็นคอนเทนต์แนว ๆ นี้อีก ซึ่งถ้าหากเราสามารถมอบสิ่งที่เขาคาดหวังได้แล้วก็ดีไป แต่ในบางกรณีการที่ผู้ติดตามไม่ได้สิ่งที่พวกเขาคาดหวังว่าจะได้ การกดเลิกติดตามก็อาจจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ดังนั้นคนทำคอนเทนต์ควรเริ่มต้นตั้งแต่แรกตั้งแต่การรับคนเหล่านั้นมาเป็นผู้ติดตาม ว่าคอนเทนต์แนวนี้จะเป็นคอนเทนต์ในฉบับช่องทางของเราจริง ๆ ไม่เช่นนั้นโพสต์บางโพสต์อาจจะเรียกคนให้มาติดตามได้เยอะ แต่เมื่อเขาไม่ได้สิ่งที่เขาต้องการคนเหล่านี้ก็พร้อมจะไปได้ทุกเมื่อ