เพราะการทำการตลาดบนโลกออนไลน์นั้นไม่ได้วัดว่าคุณมีจำนวนโพสต์บนฟีดเท่าไหร่ แต่เราจะวัดกันที่ Share of Voice หรือเสียงที่คนในโลกโซเชียลพูดถึงชื่อคุณในทุก ๆ แพลตฟอร์ม พร้อมเปรียบเทียบกับคู่แข่งว่าแบรนด์ หรือชื่อของเราอยู่ลำดับไหนในอุตสาหกรรมเดียวกัน
Share of voice (SOV) มีสูตรคำนวณ คือ การนำเมนชันที่มีชื่อแบรนด์หรือชื่อของเราในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย มาหารกับการเมนชันในอุตสาหกรรมเดียวกันทั้งหมด ก็จะทำให้ทราบว่าแบรนด์ของเรามีการพูดถึงลำดับที่เท่าไหร่ท่ามกลางแบรนด์คู่แข่ง
จำนวนการพูดถึงเราบนโซเชียลมีเดีย (Your Brand Mentions) ÷ จำนวนการพูดถึงทั้งหมดในอุตสาหกรรมเดียวกัน (Total Industries Mentions) = Share of Voice
และนอกจากจะทราบลำดับของตัวเองในตลาดเดียวกันกับคู่แข่งที่สามารถวัดได้โดยตรงแล้ว ประโยชน์ของ Share of Voice ยังช่วยให้รับรู้ได้ด้วยว่าผู้บริโภค หรือกลุ่มเป้าหมายมองเราเป็นแบรนด์ที่มีภาพลักษณ์แบบไหน และเมื่อนึกถึงชื่อของเราจะนึกถึงอย่างไร เป็นต้น
ฉะนั้นเมื่อรู้ถึงความสำคัญของ Share of Voice แล้ว ทาง RAiNMaker เลยมีทิปดี ๆ มาแชร์ ถึงวิธีการเข้าใจแบรนด์ของตัวเรามากขึ้น ไปจนถึงสามารถดึงข้อมูลจาก Social Listening มาโฟกัส และพัฒนาให้ถูกจุด เพื่อนำไปสู่การต่อยอดกลุยทธ์ทางการตลาดได้ ดังนี้
แอ็กทีฟให้ถูกที่ถูกเวลา
ก่อนที่จะเราจะเริ่มกลยุทธ์การตลาดแบบ Share of Voice อันดับแรกคือ ควรรู้ตำแหน่ง (Position) ของตัวเองในอุตสาหกรรมหรือตลาดเดียวกันเมื่อเทียบกับคู่แข่งก่อน พร้อมทั้งรู้ว่ากลุ่มเป้าหมายของเรานั้นแอ็กทีฟในแพลตฟอร์มไหนมากที่สุด จากนั้นเราจะใช้ข้อได้เปรียบตรงนี้ค่อย ๆ เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งกับพวกเขา
ซึ่งขั้นตอนต่อมาเราควรรู้ช่วงเวลาที่จะโพสต์คอนเทนต์ด้วยว่ากลุ่มเป้าหมายของเราจะแอ็กทีฟช่วงเวลาไหน เพราะจะช่วยเพิ่มยอดเอ็นเกจเมนต์ และมีการขับเคลื่อนบทสนทนาบนแพลตฟอร์มนั้นอย่างต่อเนื่องมากขึ้น ส่งผลให้เกิด Social Listening และนำไปสู่การครองพื้นที่ Share of Voice มากขึ้นด้วย
จุดประกายบทสนทนา
เพราะกลยุทธ์การตลาดแบบ Share of Voice เน้นการพูดถึง (Mentions) เกี่ยวกับชื่อแบรนด์ ดังนั้นเราต้องจับกระแสให้ได้มากพอว่าผู้คนบนโลกโวเชียลกำลังสนใจอะไร จากเน้นค่อย ๆ แทรกซึมคอนเทนต์ไปพร้อม ๆ กับวงสนทนาของพวกเขาอย่างแนบเนียน ผ่านทั้งการทำคอนเทนต์ หรือแฮชแท็กต่าง ๆ ที่ขึ้นเทรนด์อย่างสร้างสรรค์
แต่ข้อควรระวังที่พึงนึกไว้เสมอคือ เราไม่จำเป็นต้องเข้าไปร่วมบทสนทนาให้ครบทุกวง เพราะบางครั้งที่เราพยายามที่จะแทรกซึมมากเกินไปก็ไม่เป็นผลดีนัก ดังนั้นก่อนที่จะเข้าไปควรหาจังหวะที่ใช่ เพื่อให้ผู้คนอยากพูดถึงจริง ๆ ไม่ใช่ยัดเดยียดการตลาดจนเสียความเป็นตัวเองไป
สร้างคอนเทนต์เน้นแชร์
นอกจากการสร้างบทสนทนาให้ผู้คนในโลกโซเชียลอยากพูดถึงแล้ว แบรนด์ต้องเรียนรู้ที่จะโพสต์คอนเทนต์ที่เน้นการแชร์เพิ่มยอดเอ็นเกจเมนต์มากขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบภาพนิ่ง คลิปวิดีโอ หรือเซสชัน Q&A รวมไปถึงมีม และ GIF ก็ตาม
แต่สิ่งเหล่านั้นต้องนำเสนอออกมาอย่างเข้าใจง่าย ย่อยง่าย และตรงกับประสบการณ์ของกลุ่มเป้าหมาย และผู้คนมากขึ้น เพราะเมื่อเกิดการแชร์ คอนเทนต์เหล่านั้นก็จะถูกส่งต่อไปถึงผู้คนกว้างขึ้น และนำมาสู่การติดตาม หรือการรอคอยที่แบรนด์ของเราจะสร้างคอนเทนต์ใหม่ในครั้งต่อ ๆ ไปด้วย
เข้าร่วมบทสนทนาเสมอ
Share of Voice ไม่ได้มีเพียงแค่ทำให้บทสนทนาขับเคลื่อนได้จากคอนเทนต์เท่านั้น แต่ยังต้องทำให้กลุ่มเป้าหมายรับรู้ได้ว่าแบรนด์ของเรามีความเฟรนด์ลี่ด้วย
ซึ่งความเฟรนด์ลี่ในที่นี้ หมายถึงการแอ็กทีฟที่จะถาม และตอบกับบทสนทนาเหล่านั้นอยู่เสมอ โดยไม่ทิ้งช่องให้รู้สึกว่าระหว่างเรากับกลุ่มเป้าหมายเป็นเพียงแค่ความสัมพันธ์ทางการตลาด แต่เป็นเสมือนคน ๆ หนึ่งที่เข้าถึงง่าย และใกล้ชิดได้ หรือจะเรียกว่าการเซอร์วิสลูกเพจก็ไม่ผิด
โดยเฉพาะกับการเข้าไปพูดคุย หรือตอบจากสิ่งที่ผู้คนเมนชันถึงเรา ก็จะยิ่งทำให้รู้สึกว่าแบรนด์นี้มีความใส่ใจที่เป็นมนุษย์มากขึ้นด้วย
รู้จักการคอลแลปให้เป็น
บางครั้งการขับเคลื่อนบทสนทนาก็ไม่สามารถทำได้ด้วยแบรนด์เดียว เพราะคนยิ่งเยอะ บทสนทนานั้นก็จะยิ่งกระจายกว้างออกไปตามคอมมูนิตี้ต่าง ๆ มากขึ้น ฉะนั้นเราต้องรู้จักที่จะคอลแลปกับแบรนด์ ครีเอเตอร์ เอเจนซีหรืออินฟลูเอนเซอร์ที่จะเป็นตัวช่วยทำให้เกิดการตลาดที่วิน-วินกันทั้ง 2 ฝ่ายได้
เพราะการคอลแลปนี้จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนคอมมูนิตี้มากขึ้น โดยที่เราอาจจะตกกลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ เข้ามาได้ พร้อมทั้งสร้างการรับรู้เป็นวงกว้างมากขึ้นด้วย แค่ต้องเลือกคู่คอลแลปให้ดี และรู้จักกลุ่มเป้าหมายของอีกฝ่ายมากพอที่จะสร้างบทสนทนาให้ขับเคลื่อนไปพร้อมกันได้
จากทั้ง 5 ทิปจะเห็นได้ว่าการทำการตลาดด้วยกลยุทธ์ Share of Voice จะช่วยให้ชนะใจกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายขึ้น เพราะเรามีการติดตาม (Conversions) บนโลกโซเชียลที่พวกเขาพูดถึงอยู่เสมอ
ไม่ว่าจะมาจากการเสิร์ชชื่อ หรือการเมนชันก็ตาม ทุกทางเปรียบเสมือนกับข้อมูลสำคัญที่ทำให้แบรนด์มีการพัฒนา และทำให้กลุ่มเป้าหมายรู้สึกถึงความเอาใจใส่มากขึ้น ส่งผลให้เกิดความรู้สึกเฟรนด์ลี่โดยที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่การตลาดที่ถูกสร้างขึ้นมาแล้วก็จบกันไป
ซึ่งเสียงของผู้คนที่เป็น Social Listening นี้ จะช่วยให้เรามีภาพลักษณ์แบรนด์ และเอกลักษณ์บางอย่างที่เป็นน่าจดจำมากขึ้น เพราะไม่ว่าผู้คนจะพูดถึงเราแบบไหน ก็สามารถนำมาพัฒนาเป็น SEO ที่เป็นตัวตนมากขึ้นให้กับแบรนด์ได้เช่นกัน
ที่มา: Hootsuite