Scott Belsky ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตภัณฑ์ของ Adobe ได้ออกมาตอบสนองกับความกังวลต่อนโยบาย AI ของบริษัท โดยอ้างว่า Adobe ไม่เคยใช้ผลงานของผู้ใช้งานมาพัฒนาเลยแม้แต่ครั้งเดียว
เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา Krita Foundation กลุ่มให้บริการซอฟต์แวร์กราฟิกแบบ Open-source ได้แชร์ภาพเงื่อนไขการให้บริการของ Adobe ที่มีใจความว่า “Adobe อาจจะวิเคราะห์ผลงานของคุณด้วยเทคนิคต่าง ๆ เช่น Machine learning ในการจดจำแพทเทิร์นการทำงาน เป็นต้น เพื่อพัฒนาและแก้ไขผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัท“
(อ้างอิงจาก Twitter: https://twitter.com/krita_painting/status/1610706677371932672?s=46&t=Db5Ha87ybRbygRZBDJp4ew)
ส่งผลให้ผู้ใช้บางส่วนตีความว่า Adobe ใช้ผลงานของลูกค้าในการพัฒนาโมเดล AI รวมถึงเกิดการวิพากษ์วิจารณ์บริษัทที่มีการใช้ผลงานของลูกค้ามาวิเคราะห์เพื่อนำไปพัฒนาระบบ AI โดยไม่แจ้งให้เจ้าของผลงานทราบก่อนเช่นกัน
โมเดลการสร้างสรรค์ผลงานโดย AI อย่าง DALL-E ของ OpenAI และ Midjourney ก็ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งใน Creative Community เนื่องจากเทคโนโลยีเหล่านั้นได้เรียนรู้และพัฒนาระบบผ่านชุดข้อมูลที่มีอยู่บนอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์เจ้าของผลงานในการนำผลงานมาใช้โดยไม่ได้ขออนุญาต รวมถึงเจ้าของผลงานก็ไม่ได้รับค่าชดเชยใด ๆ จากเหตุการณ์ดังกล่าว
Belsky กล่าวถึงการวิจารณ์ดังกล่าวว่าเป็นการปลุกระดม พร้อมเสริมว่านโยบายนั้นไม่ได้ตั้งมาเพื่อการสร้างภาพด้วย AI แต่จะเป็นการกับการวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์เพื่อที่จะพัฒนาฟีเจอร์ต่าง ๆ ให้มีความเฉพาะมากขึ้น และถ้า Adobe จะอนุญาตให้ผู้ใช้เข้าร่วม (Opt-in) ในการพัฒนา AI โดยเฉพาะ แน่นอนว่าบริษัทต้องออกมาอธิบายถึงการนำผลงานไปใช้ ซึ่ง Belsky ก็กล่าวว่าจะต้องทำให้นโยบายนี้ชัดเจนมากขึ้นเพื่อป้องกันให้เกิดการเข้าใจผิด
ก่อนหน้านี้ Adobe ได้พัฒนาทั้งผลิตภัณฑ์และเครื่องมือหลากหลายอย่างที่ใช้อัลกอริทึม AI เช่น Adobe Sensei ที่ใช้งานกับโปรแกรม Photoshop, Lightroom และ Premiere Pro รวมถึงกำลังทดสอบการใช้งานเทคโนโลยี AI เพื่อหวังจะให้ AI ช่วยเหล่าครีเอเตอร์ได้มากขึ้น ขณะที่บางบริษัทและแพลตฟอร์มอื่นต่างจำกัดการใช้งานและแบนคอนเทนต์ที่สร้างโดย AI จึงถือว่า Adobe ค่อนข้างยืดหยุ่นกับการใช้งาน AI เลยทีเดียว
อย่างไรก็ตามเทคโนโลยี AI ก็มีทั้งประโยชน์และโทษ ขึ้นอยู่กับการจัดการทั้งบริษัทที่จัดหาบริการที่ใช้ AI และคนใช้งานทั่วไปว่าจะบริหารจัดการอย่างไรให้เกิดความเสี่ยงน้อยที่สุด
อ้างอิง: The Verge