🇰🇷 ทุกวันนี้เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเกาหลีใต้เป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมสื่อสร้างสรรค์ที่สร้างอิทธิพลและ Soft Power ไปได้ไกลทั่วโลก ถ้าพูดถึงเกาหลี หลายคนคงมีสิ่งที่เด่นชัดขึ้นมาในหัว อย่างอาหารที่มีกิมจิ วัฒนธรรมการดื่มโซจู ศิลปิน K-Pop การแต่งหน้าสไตล์เกาหลี หรือแม้กระทั่งภาพของริมแม่น้ำฮันสุดโรแมนติก เพราะเห็นผ่านสื่อต่าง ๆ อยู่บ่อยครั้ง โดยมีการสนับสนุนจากภาครัฐบาลของเกาหลีมาอย่างยาวนานเป็นตัวแปรสำคัญของความสำเร็จนี้
แต่กว่าจะมาเป็นประเทศแห่งสื่อสร้างสรรค์ เส้นทางในแต่ละก้าวจะมีเคล็ดลับหรือกลยุทธ์สำคัญอย่างไร ซีรีส์คอนเทนต์ #Saveครีเอเตอร์Zone จะพามาเปิดตำนานความสำเร็จของประเทศสุดยอดแห่งสื่อสร้างสรรค์อย่าง “เกาหลีใต้” ประเทศที่โดดเด่นต่อสายตาคนทั่วโลก มาร่วมเปิดตำนานและเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กันเลย!
เส้นทางความสำเร็จของสื่อสร้างสรรค์เกาหลี
🎬 ระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เกาหลีใต้ได้เป็นศูนย์กลางความสำเร็จของ Soft Power มาอย่างต่อเนื่อง กำเนิดวัฒนธรรมสร้างสรรค์มากมาย ทั้งการนำเอาพิณโบราณมาปรากฎใน MV เพลง ‘Pink Venom’ ของ “BLACKPINK” หรือจะเป็นความโด่งดังของเมนูจาปากุรี จากภาพยนตร์รางวัลออสการ์เรื่อง “Parasite” ที่ทำให้หลายคนรู้จักและอยากลองทำตาม
แต่บนทางเดินแห่งความสำเร็จนี้ ต้องมีพรมแดนปูทาง เพราะเกาหลีใต้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลด้วยนโยบายและองค์กรต่าง ๆ ที่ช่วยเสริมสร้างและส่งเสริมให้แต่ละก้าวแข็งแรงมากขึ้น
มาร่วมสำรวจเส้นทางความสำเร็จของประเทศแห่งสื่อสร้างสรรค์ที่ชื่อว่า “เกาหลี” ซึ่งแบ่งออกเป็นทั้งหมด 3 ช่วง ได้แก่ Korean Wave 1.0, Korean Wave 2.0 และ Korean Wave 3.0 กัน!
🏆 Korean Wave 1.0
จากปี 1997 จนถึงช่วงกลางของปี 2000 เริ่มต้นด้วยการส่งออกละครทีวี โดยมีสื่อที่ใช้เป็นหลัก คือ เคเบิ้ลทีวี ทีวีดาวเทียม อินเตอร์เน็ต เน้นการเข้าถึงประเทศจีนและประเทศในเอเชีย
ผลงานโดดเด่นในช่วง Korean Wave 1.0 เช่น Winter Sonata, Autumn in My Heart, Full House เป็นต้น
🏆 Korean Wave 2.0
ช่วงกลางของ 2000s จนถึงช่วงต้นของ 2010s เน้นที่ K-Pop เป็นหลัก ในช่วงนี้ถูกเรียกว่า “Neo-Hallyu” โดยมีสื่อที่ใช้เป็นหลัก คือ SNS ต่าง ๆ อย่าง Facebook, Twitter และ Youtube เน้นการเข้าถึง เอเชีย อเมริกาเหนือ ยุโรป
ผลงานโดดเด่นในช่วง Korean Wave 2.0 เช่น
- ศิลปิน K-Pop : EXO, BTS, TWICE, BLACKPINK
- ซีรีส์ : Descendants of the Sun, Goblin, My Love from the Star ที่โด่งดังทั้งในเกาหลีและต่างชาติ เห็นได้จากการที่ประเทศไทยเองก็มีช่อง 3 ที่ซื้อลิขสิทธ์ของเรื่อง My Love from star เพื่อมารีเมคใหม่ คือ “ลิขิตรักข้ามดวงดาว” นำแสดงโดย ณเดชน์ คูกิมิยะ และ ภีรนีย์ คงไทย
- วาไรตี้โชว์ : Running Man, Infinity Challenge, The Return of Superman ที่มีเรตติ้งสูงทั้งในเกาหลีและต่างประเทศ โดยในประเทศไทยก็มีการซื้อลิขสิทธิ์ทำเป็น The Return of Superman Thailand เมื่อปี 2560 ออกอากาศผ่านช่อง 7
- K-Beauty : 3CE Stylenanda, Etude, Skinfood เรียกได้ว่าคนที่ไปเกาหลีต้องซื้อติดไม้ติดมือ หรือมีฝากหิ้วกลับมาไทยแน่นอน
- ภาษาและวัฒนธรรมต่าง ๆ ของเกาหลี : เกิดเป็นเกาหลีฟีเวอร์ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น คอร์สสอนภาษาเกาหลี, Vlog พาเที่ยวเกาหลี, ร้านอาหารและเครื่องสำอางเกาหลีในทั่วโลก
🏆 Korean Wave 3.0
ตั้งแต่ช่วง 2000s จนถึงปัจจุบัน เน้นทุกแขนงของวัฒนธรรมเกาหลี (K-Culture) มีการใช้ทุกสื่อรวมถึงสตรีมมิง เพื่อเข้าถึงผู้ชมเป็นวงกว้าง โดยมีเป้าหมายเข้าถึงทั่วโลกเป็นวงกว้าง
ผลงานโดดเด่นในช่วง Korean Wave 3.0 เช่น
- ศิลปิน K-Pop Next Gen : ENHYPEN, aespa, STAYC, TREASURE, New Jeans, IVE โดยเป็นเกิร์ลกรุ๊ปและบอยแบนด์ที่ถูกเรียกว่า “Gen 4” นั่นเอง
- Virtual, AR : มีการนำเอาเทคโนโลยี Virtual และ AR มาใช้ในสื่อสร้างสรรค์อย่างหลากหลาย เช่น Virtual Group, Virtual Concerts, VR Training สำหรับ Trainee ในค่ายเพลงเกาหลี เป็นต้น
- K-Beauty : มีแบรนด์เครื่องสำอางเกิดขึ้น เป็นกระแสให้หยิบจับมาเป็นเจ้าของจำนวนมาก เช่น Romand, Banila co, Lilybyred เป็นต้น
- อาหารเกาหลี : เกิดเป็นเทรนด์อาหารเกาหลีที่หลากหลายประเทศได้นำสูตรไปใช้ตาม ไม่ว่าจะเป็น ต๊อกบกกี, รามยอน, หมูย่างเกาหลี, กิมจิ
จากที่ได้เล่าไป หลายคนคงคุ้นหูคุ้นตากันอย่างแน่นอน เป็นอีกสัญญาณที่บอกว่าความสำเร็จเกาหลีได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ณ เวลานั้น และยังคงขยายอิทธิพลความสำเร็จออกไปเป็นวงกว้าง
นโยบายสำหรับ Korean Creator
เกาหลีมีสื่อสร้างสรรค์ที่โดดเด่นและงอกงามเป็นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หนึ่งในปัจจัยที่สำคัญ คือ “การสนับสนุนจากรัฐบาล” ด้วยนโยบายที่คุ้มครองและสนับสนุนการทำงานของเหล่าครีเอเตอร์
เราจึงหยิบยก 4 หน่วยงานและนโยบายที่น่าสนใจ และสามารถเป็นแบบแผนให้กับหลากหลายประเทศนำไปปรับใช้ได้อีกด้วย📋
📢 Korean Intellectual Property Office (KIPO)
สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของเกาหลี เป็นหน่วยงานรัฐบาลที่รับผิดชอบเกี่ยวกับสิทธิ์ต่าง ๆ ของทรัพย์สินทางปัญญา อยู่ภายใต้กระทรวงการค้า ซึ่งมีหน้าที่หลัก ดังนี้
- มีกระบวนการที่เข้มงวดและรอบคอบในการตรวจสอบคุณสมบัติของสิทธิบัตร โดยจะเน้นการตรวจสอบก่อนรับรองในการออกใบสิทธิบัตร ซึ่งสิทธิบัตรที่ขอต้องมีความใหม่และไม่ซ้ำซ้อนกับสิทธิบัตรที่มีอยู่แล้ว นอกจากนี้ การตรวจสอบยังให้ความสำคัญกับความคิดสร้างสรรค์และความคิดที่ใช้ในอุตสาหกรรมสื่อสร้างสรรค์อีกด้วย
- จัดทำ Educational Program เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับสาธารณชน กลุ่มธุรกิจต่าง ๆ รวมถึงเหล่าครีเอเตอร์
📢 Korea Fair Trade Commission (KFTC)
คณะกรรมาธิการการค้ายุติธรรม เป็นองค์กรอิสระที่ดำเนินการภายใต้ Ministry of Trade, Industry, and Energy (MOTIE) ซึ่งมีหน้าที่หลัก ดังนี้
- มีการปกป้องผู้บริโภค ในเรื่องของการโฆษณาเกินจริง การแจ้งข้อมูลเท็จ
- คุ้มครองความเป็นธรรม ไม่ให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมในตลาดอุตสาหกรรมสื่อสร้างสรรค์ เช่น การโก่งราคา การใช้อำนาจของเจ้าตลาด
📢 Korean Foundation for International Culture Exchange (KOFICE)
เป็นหน่วยงานที่มีการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมเกาหลีและภาษาเกาหลีให้กับทั่วโลก อยู่ภายใต้ Ministry of Culture, Sports, and Tourism of South Korea ซึ่งมีหน้าที่หลัก ดังนี้
- ศึกษาตลาด สำรวจความนิยมของสื่อบันเทิงเกาหลีในแต่ละประเทศ
- สนับสนุนการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมเกาหลีไปสู่ต่างประเทศ เช่น อีเวนต์, ทัวร์
- เป็นหน่วยงานค้นหาปัจจัยที่ทำให้สื่อบันเทิงของเกาหลีได้รับความนิยม หรือปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงคอนเทนต์ของตลาดต่างชาติ เพื่อช่วยให้ครีเอเตอร์สามารถนำมาใช้ปรับปรุงคุณภาพของคอนเทนต์ในอนาคตได้
📢 The Korea Creative Content Agency (KOCCA)
เป็นหน่วยงานที่สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวของเกาหลี มีเพื่อส่งเสริมการพัฒนา และบริหารอุตสาหกรรม Content Creator ของเกาหลีให้เป็นสากล ซึ่งในปีที่ผ่านมา KOCCA ได้ร่วมมือกับรัฐบาลไทย ในการก่อตั้ง “KOCCA Thailand” เพื่อขยายเครือข่ายครีเอเตอร์เกาหลีให้ไปไกลและเข้าถึงนานาชาติ ซึ่งมีหน้าที่หลัก ดังนี้
- จัดสรรงบประมาณพัฒนาบุคลากรในวงการภาพยนตร์ ดนตรี การแสดง การออกแบบ ฯลฯ ส่งผลให้สถาบันการศึกษาด้านนิเทศศาสตร์และการผลิตสื่อบันเทิงต่างๆ โดยให้เงินสนับสนุนกับผู้เริ่มต้นทำคอนเทนต์ ในรูปแบบเงินช่วยเหลือ เงินสนับสนุน และเงินกู้
- ผลักดันครีเอเตอร์ให้มีความเข้มแข็ง และสามารถส่งออกสินค้าและบริการไปยังประเทศต่างๆ อีกทั้งยังทําให้วัฒนธรรมกลายเป็นที่รู้จักและทําให้เกิดเป็นกระแสเกาหลีนิยมขึ้นทั่วทุกพื้นที่
- มีการจัด Training Program และ Workshop เพื่อเสริมสร้างทักษะให้กับเหล่าครีเอเตอร์
- มีการวิจัยและเก็บ Data เพื่อกำหนดนโยบายและพัฒนากลยุทธ์สำหรับอุตสาหกรรมครีเอเตอร์ต่อไป
- มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและกฎระเบียบเกี่ยวกับครีเอเตอร์ร่วมกับภาครัฐ
ส่อง Korean Creator
เมื่อเกาหลีเป็นประเทศที่มีตำนานสื่อสร้างสรรค์มายาวนาน และยังคงต่อเนื่องความสำเร็จจนถึงทุกวันนี้ RAiNMaker จะพามาส่อง Korean Creator ผู้ผลิตคอนเทนต์สายต่าง ๆ ที่สร้างชื่อเสียงและ Soft Power ให้กับประเทศเกาหลี ไม่ว่าจะเป็น Beauty Blogger, ASMR Artist, Webtoon และ Virtual Group
Beauty Blogger
💄 Pony Syndrome
เธอถือเป็น Beauty Blogger คนเกาหลีรุ่นแรก ๆ ที่โด่งดังทั่วโลก ด้วยสไตล์แต่งหน้าที่หลากหลายและคอยแนะนำทิปดี ๆ ให้กับผู้ชมอยู่เสมอ ต่อมาเธอได้ทำแบรนด์เครื่องสำอางของตนเอง อย่าง ‘Pony Effect’ นอกจากนี้ ยังเป็น Makeup Artist ให้กับ CLจากวง 2ne1 อีกด้วย
💄 Risabae
ก่อนหน้าที่จะมาเป็น Beauty Blogger เธอได้ทำอาชีพช่างแต่งหน้าให้กับรายการทีวีต่าง ๆ มีเอกลักษณ์ในการแต่งหน้าลุคต่าง ๆ ตามศิลปิน (Recreation) ได้เหมือนสุด ๆ ทำให้เป็นที่พูดถึงอย่างมาก ถือว่าเป็นคนที่แต่งหน้าเหมือน ทำท่าทางเหมือน และเก็บรายละเอียดของศิลปินได้เป็นอย่างดี
💄 Haley Kim
เธอมีการแต่งหน้าสไตล์ธรรมชาติ โดยมักจะแนะนำ Skincare Routine และ Makeup Tutorial ที่สามารถแต่งตามได้ง่ายให้กับผู้ติดตาม ในคลิปจะเกี่ยวกับการยอมรับในผิวของตัวเอง ส่งต่อความมั่นใจ และแนะนำทริคหาเครื่องสำอางที่เข้ากับตัวเองให้กับผู้ชม
โดยในทุกคลิปเธอจะพูดภาษาอังกฤษ พร้อมมีซับไตเติ้ลภาษาเกาหลี เพื่อเข้าถึงได้ทั้งกลุ่มคนเกาหลีและทั่วโลก
ASMR ARTIST
🎙️ Zach Choi ASMR
ในแต่ละคลิป Zach Choi จะมีเอกลักษณ์ คือ หนุ่มถุงมือดำ กินจุ กินอร่อย เริ่มต้นคลิปด้วยวิธีทำอาหาร มีเสียงที่ชัดเจน ชวนให้ผู้ติดตามหิวและอยากชิมตาม มีทั้งคอมเมนต์และยอดวิวที่พุ่งสูงทุกคลิป
คลิปสุดฮิต เช่น MUKBANG BLACK BEAN FIRE NOODLES & CHICKEN NUGGETS, ASMR FILET MIGNON & STRETCHY CHEESE MUKBANG
🎙️ 시리TV Shili
ในแต่ละคลิป 시리TV Shili จะให้ความรู้สึกผ่อนคลาย ทั้งเสียงและภาพที่มีคุณภาพ เรียกได้ว่าฟินและจั๊กจี้เหมือนได้ไปทำเอง
คลิปสุดฮิต เช่น พาไปนวดเท้าต้นตำรับเกาหลีที่จั๊กจี้ที่สุด, การนวดตัวด้วยหินของประเทศไทย
🎙️ ASMR Crush on 9
ในแต่ละคลิป ASMR Crush on 9 จะมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น คือ ความทะเล้น สนุกสนาน และเสียงของการทำ ASMR ที่ทำให้ฟิน ชวนหลับและยังสนุกไปพร้อม ๆ กัน
คลิปสุดฮิต เช่น Roleplay เป็นช่างแต่งหน้า, ทำ ASMR ร่วมกับ Subscribers
Webtoon
📙 26 Years โดย Kang Full
คังฟูล (Kangfull) ถือเป็นนักวาดเขียน Webtoon ที่ถือว่าเป็น First Generation โดยเขาไม่ได้เรียนเกี่ยวกับการวาดหรือเขียนการ์ตูนโดยเฉพาะ แต่เริ่มสนใจจากการเพนต์โปสเตอร์ติดผนังสมัยมหาวิทยาลัย จึงเริ่มเขียน Webtoon ปัจจุบัน นอกจากเป็นนักวาดเขียน เขาก็ยังเป็นคนเขียนบทละครและภาพยนตร์อีกด้วย
ผลงาน Webtoon ของคังฟูล เช่น Timing, Moving เป็นต้น
📙 Lookism โดย Park Tae Jun
ปาร์คแทจุน (Park Tae Jun) เป็น CEO ของ PTJ Comics แรกเริ่มทำออกมาในรูปแบบมันฮวา (Manhwa) ต่อมาประสบความสำเร็จและถูกทำเป็นรูปแบบ Animation ลงบน Netflix ที่เผยแพร่ไปหลากหลายประเทศทั่วโลก เขาได้เล่าว่าเดิมทีเขาเรียนในเอก Comic แต่ต่อมาลาออกเพราะเรื่องของการเงิน จึงทำงานอื่น ๆ เพื่อหารายได้แทน แต่ยังคงสนใจการในการวาดเขียนอยู่ พอได้ยินเกี่ยวกับ Webtoon จึงเป็นโอกาสขึ้น ในการเป็นต้นกำเนิดของ Lookism ที่สร้างมาจากเรื่องราวของเขาสมัยเรียน
ผลงานอื่น ๆ ของปาร์คแทจุน เช่น Hannam Dong K House, My Life as a Loser, Viral Hit เป็นต้น
📙 Itaewon Class โดย Cho Kwang Jin
โจกวางจิน (Cho Kwang Jin) เริ่มต้นลง Webtoon ในฐานะมือสมัครเล่น จากนั้นก็ได้เดบิวต์ผลงานลงในแพลตฟอร์ม Lezhin Comics ในปี 2013 หลังจากนั้น 2 ปี ก็ถึงเวลาของผลงาน Masterpiece อย่าง “Itaewon Class” ที่ถูกนำมาทำเป็นซีรีส์ในปี 2020
ผลงานอื่น ๆ ของโจกวางจิน เช่น Existence (2022)
Virtual Group
🎤 aespa
ไม่พูดถึงไม่ได้! เพราะ aespa เป็นวงสัญชาติเกาหลีใต้วงแรกที่มี Virtual Member โดยสมาชิกทุกคนจะมี AI FLAT ได้แก่ æ-Karina, æ-Winter, æ-Giselle, และ æ-NingNing โดยมีเป้าหมายเพื่อให้สมาชิกทั้ง 4 คน ทำหน้าที่โปรโมตในอีเวนต์หลักต่าง ๆ และ Virtual Member โปรโมตผ่านช่องทางออนไลน์
สามารถรับชมและทำความรู้จักกับวง aespa ผ่านเพลงเดบิวต์ ‘Black Mamba’
🎤 Plave
Plave เดบิวต์เมื่อ 12 มีนาคมที่ผ่านมา ประกอบไปด้วยสมาชิกทั้ง 5 คน ได้แก่ Noah, Bamby, Yejun, Eunho, และ Hamin นอกจากจะปล่อยเพลงออกมาแล้ว วง Plave ยังมีการไลฟ์สตรีมเพื่อพูดคุยกับแฟน ๆ ผ่าน YouTube และ Twitch อยู่เป็นประจำ
สามารถรับชมและทำความรู้จักกับวง Plave ผ่านเพลงเดบิวต์ ‘Wait For You’
🎤 Mave
ย่อมาจาก Make New Wave ประกอบไปด้วยสมาชิก 4 คน คือ SIU, ZENA, TYRA และ MARTY โดยวง Mave สร้างจากบริษัท Kakao ร่วมกับ Metaverse ซึ่งผลิตออกมาให้สามารถแสดงสีหน้าได้กว่า 800 แบบ
สามารถรับชมและทำความรู้จักกับวง Mave ผ่านเพลงเดบิวต์ ‘Pandora’
❇️ หลังจากได้ร่วมสำรวจเส้นทางความสำเร็จของเกาหลีใต้ ประเทศแห่งสื่อสร้างสรรค์ ที่เรียกได้ว่าเป็นประเทศที่พร้อมจะเป็น ‘New Wave’ อยู่ตลอดเวลา ทั้งในด้านของภาษา วัฒนธรรม และผู้นำเทรนด์ของเอเชีย
ซึ่งไม่ว่าจะผ่านไปกี่ทศวรรษ ไทยและประเทศทั่วโลกก็สามารถนำเกาหลีใต้มาเป็นกรณีศึกษา เพื่อเรียนรู้ และประยุกต์ปรับใช้ในการสร้าง Soft Power ที่แข็งแรง และประสบความสำเร็จได้อย่างแน่นอน
แต่ที่ขาดไม่ได้หากอยากให้ Soft Power ไทยดังไกลถึงต่างประเทศ ปัจจัยที่เอื้ออำนวยต่อความสำเร็จอย่างพลังของครีเอเตอร์ จะต้องอาศัยการผนวกกับการสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อไปถึงจุดนั้นให้ได้
โดย RAiNMaker ขอใช้พื้นที่ในบทความนี้ เป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงเพื่อสนับสนุน #Saveครีเอเตอร์Zone ของไทยในครั้งนี้ด้วย!
✨ สามารถติดตาม #Saveครีเอเตอร์Zone เพื่อร่วมผลักดันสื่อสร้างสรรค์ของไทยให้ไปไกลกว่าเดิมได้นะ!
อ้างอิง: