ถ้าย้อนกลับไปในยุคของโทรทัศน์อะนาล็อกน้อยช่องนั้น รายการสัมภาษณ์มักมีแพทเทิร์น เป็นการนั่งคุย ถามตอบ กล้องตั้งนิ่งๆ ปัจจุบันก็ยังมีรายการรูปแบบนั้นอยู่ แต่ลองสังเกตจากตัวเองดูนะ ถ้าไม่ใช่คนที่เราชอบ หรือเป็นประเด็นมากๆ เราจะดูวิดีโอนั้นไปได้กี่นาทีกัน
ในขณะที่ปัจจุบันคนทำวิดีโอสัมภาษณ์ หรือวิดีโอที่เป็นลักษณะการพูดคุย ถูกเปิดกว้าง คุณจะเป็นใครก็ได้ขอแค่คอนเทนต์มันโดย เรื่องมัน relate กับคนได้ วิดีโอนั้นก็มีสิทธิ์ได้รับความสนใจ เป็นกระแสได้ ถ้าให้ยกตัวอย่างรายการลักษณะนี้แบบที่เห็นภาพชัดที่สุด ก็คงจะเป็นรายการ Celeb Blog ของนิตยสารแพรว ที่มีคุณสู่ขวัญมาพาช้อปปิ้ง ป้ายยากันอยู่พักใหญ่ หรือวิดีโอจำพวก Vlog ก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น Creator สายไหน สายกิน สายบิวตี้ สายไอที ก็ลุกขึ้นมาทำ Vlog กันแล้วแทบทั้งนั้น แล้วอะไรละคือ ‘หัวใจ’ ที่ทำให้รูปแบบวิดีโอที่ดำเนินเรื่องด้วยการ ‘เดินไป คุยไป’ มันดังเปรี้ยงขนาดนี้
- ความเป็นกันเอง
ไม่ว่ารายการนั้นจะมีสคริปต์หรือไม่มีก็ตาม แต่ทุกอย่างมันดูธรรมชาติ สบายๆ เราจะได้เห็นด้านที่เป็นตัวเองของดารา หรือ Influencer ที่เราชื่นชอบ การเล่นมุก ภาษาที่เหมือนเพื่อนคุยกัน มุมมองส่วนตัว ที่ปกติจะหาดูได้ยากในรายการอื่นๆ
ภาพ : sudsapda tv
- คาดเดาไม่ได้
ในสถานการณ์ต่างๆ สถานที่ที่มีคนเดินผ่านไปมา อะไรก็เกิดขึ้นได้ เดินๆไปอาจจะไปเจอเพื่อน แล้วพากันคุยเรื่องอื่นๆ เดินซื้อของแล้วไปเจอของลดราคา รีแอคชั่นต่างๆที่ไม่ได้คิดว่าคนๆนั้นจะทำแบบนี้ พูดแบบนั้น ดูแล้วสนุกนะต้องยอมรับเลย ยิ่งถ้ามีวลีโดน ก็เกิดเป็นไวรอลไปอีก อย่าง ‘ของมันต้องมี’ หรือในสถานการณ์ที่คนทำรายการยุคเก่ากลัวมากคือ ฝนตก แต่เดี๋ยวนี้แทบไม่เป็นอุปสรรค หลบฝนอยู่ก็ยังถ่ายได้ ระหว่างรอฝนก็อาจจะได้คอนเทนต์ใหม่ๆ ทุกอย่างมันเป็นไปได้หมด
ภาพ : Tamjaitood official
- ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง
อย่างที่บอกว่าการถ่าย มันได้ลงไปสถานที่นั้นจริงๆ เจอกับคนทั่วไป เจอกับร้านค้า สถานที่ที่เราเองก็อาจจะเคยผ่าน แบบเห้ย! ผ่านคาเฟ่นี้ทุกวันเลย แต่ไม่รู้ว่าอาหารอร่อยด้วย หรือตัวเรา เพื่อนเรานี่ละได้เจอกับวันที่เขามาถ่ายและได้เข้ากล้องด้วย อย่างเช่นรายการตามใจตุ๊ดของคุณเอม ที่มักจะไปเจอกับคนตามสถานที่เที่ยวต่างๆ ไปหยอดล้อคุยเล่นกัน พอเกิดความรู้สึกที่เป็นส่วนหนึ่งก็ยิ่งเกิดการแชร์ ยิ่งแชร์มาก เม้นต์มาก Engagement ก็ดี ข้อนี้ถือเป็นหัวใจคัญที่สุดเลยก็ว่าได้
ภาพ : Praew Magazine
- ไม่ขายของ แต่ขายไลฟ์สไตล์
ต้องยอมรับว่าในบ้างวิดีโอ ห้างจ้างมาเดิน ร้านจ้างมากิน มันมีอยู่แน่ๆอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่เราก็จะรู้อยู่แล้วว่าวิดีโอนี้สนับสนุนโดยใคร แต่ที่คนส่วนใหญ่ไม่กดข้ามไป แล้วยังดูต่ออย่างให้ความสนใจก็เพราะ คนอยากรู้ไลฟ์สไตล์ของคนที่เราชื่นชอบ หรือคนที่เรารู้สึกเขาใช้ชีวิตคล้ายๆเรานะ ส่วนลูกค้า หรือ message ที่แบรนด์จะสื่อก็เป็นเพียงบริบทหนึ่ง
ภาพ : BoomTharis
- ไม่ต้องตั้งใจดูก็ได้
อันนี้อ่านแล้วดูไม่ดี แต่จริงๆมันเป็นข้อดีอยู่เหมือนกันนะ พฤติกรรมการดูคอนเทนต์วิดีโอของคนสมัยนี้ส่วนใหญ่ก็จะเปิดดูฆ่าเวลาตอน ขับรถ ทำงาน ล้างจาน อาบน้ำ ซึ่งสมาธิ 80% เราต้องไปจดจ่ออยู่กับสิ่งอื่นๆ คอนเทนต์ที่ดูง่าย เน้นการพูดคุย แบบฟังอย่างเดียวก็เห็นภาพจึงตอบโจทย์คนที่มีพฤติกรรมแบบนี้ หรือถ้าหากสนใจจุดไหนก็วิดีโอก็แค่กดย้อนกลับมาดู ไม่ต้องตั้งใจดูหรือติดตามเนื้อเรื่องเหมือนคอนเทนต์จำพวก How To หรือละคร หนัง อื่นๆ
- ดูได้ทุกเพศทุกวัย
ถ้าให้เป็นเรทรายการแนวนี้ก็คงจะได้เรท ท. แน่นอน ยกเว้นในเคสที่มีคำหยาบมากๆ หรือไปในสถานที่อุดมอบายมุขก็อีกเรื่องนะ แต่คุณเป็นรายการสนุกๆทั่วไป พาไปช้อป ชิล กิน ช่วงอายุของคนที่ดูก็จะกว้างมากใครดูก็ได้ Reach ก็จะเยอะตามไปด้วย
ภาพ : Sunbeary
- ต้นทุนต่ำ
อันนี้เป็นคนแง่ของคนทำวิดีโอล่ะ ต่อให้เราไม่ใช่โปรดักส์ชั่นที่มีหลายคน มีแค่ Go pro หรือกล้องมือถือกับไม้เซล์ฟฟี่ ช่างหน้าช่างผมไม่ต้อง ไฟก็ไม่ต้องมีใหญ่โตก็ถ่ายรายการแบบนี้ได้แล้ว และข้อดีของต้นทุนที่ถูกนี่ละทำให้ผลิตคอนเทนต์ได้บ่อย ทันต่อเหตุการณ์มากขึ้น เช่น มีห้างเปิดใหม่ ถ่ายเย็นนี้ โพสคืนนี้ก็ยังได้ พอมันเป็นเรื่องที่อยู่ในกระแสปุ๊บคนก็สนใจ ยิ่งถ้าคุณมีมือตัดต่อคู่บุญ เสกงานได้ความเร็วเดียวกับ The Flash ละก็ไม่มีอะไรต้องกังวลแล้ว
ถึงคอนเทนต์วิดีโอแนว ‘เดินไป คุยไป’ จะมีในสื่อมากมายจนดูแทบไม่ไหวแค่ไหน แต่เราเชื่อว่าถ้า Topic ที่เราจะพูดในคลิปมันน่าสนใจจริงๆ มันก็ไม่ผิดอะไรที่เราจะทำคอนเทนต์ในรูปแบบนี้ออกมาบ้าง เพราะจะว่าไปมันก็เหมือนข้าวผัดหนึ่งจาน ที่ชื่อเมนูเดียวกันนี่ละ แต่มีเป็นร้อยๆสูตร คนที่จะมาเลือกทานก็มีอีกเป็นหมื่นๆคน ส่วนใครจะทำได้ออกมาเปรี้ยงกว่าใครก็อยู่ที่ความคิดสร้างสรรค์เฉพาะบุคคลแล้วละ