ทุกวันนี้ ‘รีวิว’ กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตพวกเราไปแล้ว จะไปร้านอาหารก็ต้องดูรีวิวก่อน จะซื้อของก็ขอเช็ครีวิวก่อน หรือแม้แต่ของที่ไม่ได้อยากได้ เห็นรีวิวปุ๊บ! อ้าว! อยากได้ซะงั้น แต่กว่าที่รีวิวจะอยู่ในทุกๆการตัดสินใจของเราได้ขนาดนี้มันมีที่มาที่ไปยาวนานทีเดียว
เริ่มจากรายการ Home Shopping
ถ้าจะให้นึกย้อนไปถึงคอนเทนต์ที่มีลักษณะในการรีวิว น่าจะต้องกลับไปตั้งต้นกันที่ยุค 90’s ยุคเฟื่องฟูของ Home Shopping ยกหูของคุณขึ้นมาหาเราตอนนี้ รับไปเลยของแถมสุดพิเศษ! กลับมาๆ แม้ในประเทศไทยรายการขายของ (เมื่อ 20 ปีที่แล้ว) มักจะออกอากาศอยู่ช่วงตี 1 – ตี 3 แต่ในอเมริการายการประเภทนี้มักอยู่ในช่วงบ่ายๆ หรือหัวค่ำ เพราะทาร์เก็ตเป็นเหล่าแม่บ้านที่เปิดทีวีทิ้งไว้
แล้วการรีวิวกับรายการขายของมันเกี่ยวกันยังไงล่ะ ถ้าในบ้านเราต้องพูดถึงเคสของจอร์ชและซาร่าจะนึกออกขึ้นมาทันที ลักษณะของรายการก็จะถามถึงผู้ใช้งานว่าเคยมีปัญหาอะไร และเมื่อซื้อสินค้าไปปัญหานั้นดีขึ้นอย่างไรบ้าง แม้จะอยู่ภายใต้สโคปของการขายของจากผู้ผลิต แต่ก็เริ่มมีการเซ็ตให้หน้าม้ามารีวิว
โดยเจ้าแม่ผู้ริเริ่มรีวิวก็ต้องนึกถึงคนนี้เลย Joy Mangano ชีวิตของเธอเคยถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์แล้วด้วย เรื่อง JOY แสดงโดย เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ ที่ผ่านๆมารายการขายของก็จะมีพิธีกรออกมาพูดถึงสรรคุณสินค้า แต่จอยเธอเป็นนักประดิษฐ์ที่ประดิษฐ์ของจากปัญหาของตัวเอง อย่างไม้ม็อบของเธอที่บิดตัวเองได้ ก็เกิดจากที่เธอไม่อยากใช้มือบิดผ้าที่เปื้อนสิ่งสกปรก แล้วเมื่อเธอมาขายของเธอก็เล่าจากประสบการณ์ของตัวเอง คิดเอง ทำเอง ขายเอง รีวิวเองแบบครบวงจร
ลองขยับเข้ามาให้ใกล้ขึ้นอีกสัก 10 ปี ยุคที่เราซื้อโน๊ตบุ๊ค มือถือ เกมส์กันบ่อยขึ้นกว่าแต่ก่อน สมาร์ทโฟนเปิดตัวใหม่แทบทุกเดือน และตอนนั้นข้อมูลในอินเตอร์เน็ตก็ยังมีน้อยอยู่ จึงจะมีนิตยสารที่รีวิวสินค้าเกี่ยวกับเทคโนโลยีโดย ‘กองบรรณาธิการ’ ออกมาให้อ่านกัน รายการโทรทัศน์เองก็เริ่มมีการรีวิวว่ารุ่นไหนดีไม่ดียังไงโดย ‘พิธีกร’
การมาของ Internet และ Costumer Review
จากที่เล่ามาการรีวิวผ่าน Traditional Media มักจะเป็นการรีวิวจาก เจ้าของสินค้า สื่อมวลชน เป็นหลัก แต่พอเริ่มมีอินเตอร์เน็ตก็การรีวิวก็เปลี่ยนมุมมาเป็นการรีวิวจากผู้ใช้จริงมากขึ้น (Costumer Review) โดย 2 อย่างที่เห็นการรีวิวเป็นอย่างแรกๆก็คือ สินค้าเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ มือถือ เกมส์ เพราะต่อยอดจากนิตยสาร รายการทีวี บวกกับคนในแวดวงนี้สนใจเรื่องเทคโนโลยีอยู่แล้ว ทำให้เป็นกลุ่มคนกลุ่มแรกๆที่เชี่ยวชาญการใช้อินเตอร์เน็ต เพียงแต่เปลี่ยนแพลตฟอร์มจากสื่อดั้งเดิมมาเป็นเว็บไซต์เท่านั้น
ส่วนอีกอย่างทายสิว่าอะไร แท่น แทน แท้น … เครื่องสำอาง นั่นเอง โดยได้อิทธิพลมาจากญี่ปุ่น เว็บไซต์ที่ริเริ่มและดังมากก็คือ @Cosme.net ที่จะเปิดให้สาวๆที่ใช้เครื่องสำอางจริงๆ เข้ามารีวิวสั้นๆ ให้คะแนนด้านต่างๆ จนเกิดเป็น Impact ออกมาในชีวิตจริง เพราะในแต่ละปี @Cosme ก็จะมีการจัด Ranking สินค้าที่ได้รับการรีวิวในด้านดีเป็นอันดับต้นๆ มันคือการร่วมกันยืนยันจากผู้ใช้ทั่วประเทศว่าสินค้าชิ้นนี้ดีจริง ร้านขายเครื่องสำอางในญี่ปุ่นก็นำป้ายไปติดที่สินค้าว่าได้ Ranking อันดับ 1 จาก @Cosme นะ ช่วยเพิ่มยอดขายไปได้อีก
ภาพ DiGJAPAN!
วิวัฒนาการของการรีวิว เจ้าของสินค้า >> สื่อมวลชน >> ผู้ใช้จริง
ต่อจากยุคของเว็บไซต์ก็เริ่มเข้าสู่โซเชี่ยล ซึ่งช่วงนี้เราจะเริ่มคุ้นเคยกับ Blogger แล้ว บล็อกเกอร์ก็จะรีวิวสิ่งของต่างๆผ่านบล็อกของตัวเอง แต่อาจจะยังไม่แพร่หลาย เพราะตอนนั้นคนก็ใช้ Google กันยังน้อยอยู่ กว่า Blogger จะเกิดได้ก็ช่วงที่มี YouTube แล้ว ซึ่งประจวบเหมาะกับที่กล้องมือถือเริ่มถ่ายวิดีโอได้ชัดขึ้น อินเตอร์เน็ตเร็วขึ้น เราจึงได้เห็นความเฟื่องฟูของการรีวิวมาพร้อมๆกับการเข้ามาของ YouTube และ Facebook
รีวิวอะไรดีล่ะ?
เมื่ออินเตอร์เน็ตและโซเชี่ยลอยู่ในมือทุกคน โลกแห่งการรีวิวก็เปิดกว้างเข้าไปอีก ทุกคนสามารถรีวิวทุกอย่าง ทุกอย่างจริงๆนะ ในโลกนี้ ถ้าไล่จากลิสต์ยอดฮิตก็จะมี Gadget , เครื่องสำอาง , อาหาร , โรงแรม , สถานที่ท่องเที่ยว , รถ , เครื่องบิน , ผ้าอ้อมเด็ก, ของเล่น , คอนโด , กระเป๋า, รองเท้า , แฟนเก่า จะรีวิวอะไรก็เอาเลย เพราะคอนเซ็ปต์ของมันคือการบอกเล่า ชอบ ไม่ชอบ มันเป็นอีโมชั่นล้วนๆ ส่วนใครจะชอบและเห็นด้วยกับเรามั้ยก็เป็นมุมมองเฉพาะบุคคลมากๆ
ส่วนใครที่เริ่มอยากเขียนหรือทำวิดีโอรีวิว เราก็มีเทคนิคเล็กๆน้อยๆมาฝากกัน 5 ข้อดังนี้
- บรรยายลักษณะภายนอก : ลำดับแรกต้องเล่าก่อน ว่าสิ่งนี้คืออะไรให้ ให้ข้อมูลพื้นฐาน พูดง่ายๆคือ รูป รส กลิ่น เสียง
- บอกข้อดี-ข้อเสีย : หลังจากเราได้ใช้ ชม หรือสัมผัสกับสิ่งที่เราจะรีวิวแล้ว การบอกข้อดี ข้อเสียอย่างจริงใจ ถือเป็นหัวใจของ Costumer Review เลยก็ว่าได้ หรือว่าหากมีการว่าจ้างให้รีวิวการบอกให้ชัดเจนก็ถือเป็นเรื่องที่ควรทำ เพราะทำเป็นเนียนยังไงก็ไม่มีทางเนียนแน่นอน เผลอๆจะสร้างผลเสียให้ทั้งคนรีวิว และแบรนด์ไปด้วย
- ให้คะแนน หรือ ระดับความพึ่งพอใจ : อันนี้เป็นเทคนิคง่ายๆ น่ารักๆ เช่น เรากินข้าวไข่เจียวจานนี้แล้วอร่อยมากเลย ให้คะแนนรสชาติเต็ม 5 แต่ให้น้อยไปหน่อย ไม่อิ่ม เรื่องปริมาณ ให้ 3 คะแนน ราคาล่ะ เหมาะสมกับปริมาณหรือเปล่า แยกเป็นเรื่องๆ จะช่วยให้เราสื่อสารได้ง่ายขึ้น และยังทำให้เราต่อยอดการคุยกับคนดูไปได้อีกว่าตัวเราให้คะแนนเท่านี้ แล้วคนอื่นให้เท่าไหร่ก็ต่อยอด Engagement ไปได้อีก
- แสดงความคิดเห็นอย่างสุภาพ : อย่างที่บอกไปว่าการรีวิวเป็นเรื่องของอารมณ์ อีโมชั่น ล้วนๆ ถึงของที่เรารีวิวจะแย่ เราไม่ชอบ มันไม่ดียังไงก็แค่บอกไป หรือบอกแนวทางการปรับปรุงได้ก็เป็นเรื่องดีด้วยซ้ำ แต่การใช้คำหยาบคาย สร้างความเสื่อมเสียให้กับสิ่งที่เรารีวิว นอกจากจะไม่สร้างสรรค์แล้ว ของบางอย่างจะเอามาตรฐานของเราคนเดียวไปตัดสินก็ไม่ได้ เพราะบางทีรสนิยมแต่คนก็ชอบไม่เหมือนกันก็เป็นได้
- ลงข้อมูลการติดต่อให้ครบถ้วน : เคยมั้ยที่รีวิวไปแล้วต้องมาตอบคำถามซ้ำๆประเภทว่า ซื้อที่ไหน? ร้านอยู่ที่ไหน? ราคาเท่าไหร่? บางทีเรารีวิว เล่าๆๆๆๆ แต่ไม่ได้ให้ข้อมูลในตอนท้าย ก็เกิดปัญหาข้อมูลไม่ครบถ้วน ต้องมาตอบ คอยเติมข้อมูลเล่านี้ภายหลังอีก ดังนั้นหาข้อมูลเพิ่มเติมมาให้ครบ ใส่ลิงค์ Official ของสิ่งที่เรารีวิว เบอร์โทร ถ้ามันมีคำถามที่นอกเหนือที่เรารู้จะได้ให้เขาไปสอบถามกับเจ้าของสินค้า หรือสถานที่นั้นๆต่อได้ แต่ถ้าลงข้อมูลครบแล้วแต่ยังมีคำถามเหล่านี้มาอีก ก็ทำใจร่มๆ และแคปจอให้เขาดูก็ช่วยได้นะจ้ะ
เอาล่ะต่อไปเราลองไปดูเหล่า Reviewer ระดับโลกที่ทำเงินได้ปีละหลายล้านจากการรีวิวของพวกเขา ไปดูลีลา การทำเนื้อหาว่าทำไมเขาเหล่านี้ถึงรวยจากการรีวิวได้เป็นกอบเป็นกำขนาดนี้
Marques Brownlee
Tech Reviewer อายุ 24 ปีที่มาแรงมากๆ (เขาอยู่ใน YouTube Rewind 2018 ด้วยนะ) พ่อของ Brownlee เป็นที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศดังนั้นเขาจึงมีโอกาสได้สัมผัสกับอุปกรณ์ต่างๆ และแลกเปลี่ยนความรู้กับพ่อของเขา จึงเริ่มทำวิดีโอลง YouTube เมือ 10 ปีที่แล้วด้วยวัยเพียง 13 ปี จนตอนนี้เขาได้รับการยกย่องจากสื่อต่างๆว่าเป็น The Tech Reviewer
Casey Neistat
ศาสดาแห่งยูทูปคนนี้เขาแจ้งเกิดจากการรีวิวบริการหลังการขายของ Apple อย่างแสบสรรในปี 2003 หลังจากนั้นเขาก็เริ่มรีวิวข้าวของต่างๆ ไลฟ์สไตล์ในนิวยอร์ก ด้วยความรวยอยู่แล้วเป็นพื้นฐานบวกกับลูกบ้าของเขา ทำให้เขาเป็นยูทูปเบอร์ที่มีสไตล์การรีวิวแบบจับตัวยาก วิดีโอที่เขารีวิวห้องโดยสารเครื่องบินชั้น First Class ราคา $21,000 หรือราวๆ 680,000 บาท ก็มีคนเข้าชมถึง 60 ล้านครั้ง และหลังจากนั้นก็เริ่มมีกระแสรีวิวเครื่องบิน First Class จากยูทูปเบอร์คนอื่นๆตามมาอีกมากมาย ทั้งที่สปอนเซอร์และไม่สปอนเซอร์
Ryan ToysReview
หนูน้อยเงินล้าน ไรอัน วัย 7 ขวบ ที่ทำช่องรีวิวของเล่นจนโด่งดัง และเป็นข่าวไปทั่วโลก เพราะในปีที่ผ่านมา นิตยสาร Forbes ได้จัดอันดับยูทูปเบอร์ที่มีรายได้สูงสุด ปรากฏว่าหนูน้อยไรอัน มีรายได้กว่า 363 ล้านบาท ยอดวิวแต่ละคลิปที่ไรอันรีวิวของเล่นของเขาก็ไม่ต่ำกว่าล้านวิวเลย ทำไมหนูน้อยถึงทำเงินได้มากขนาดนี้ มันเริ่มมาจากอินเนอร์ของตัวไรอันเองที่อยากจะพูดถึงของเล่นของเขา ความตลก น่ารักของครอบครัวทำให้ดูสนุกน่าติดตามเป็นสเน่ห์เฉพาะตัวใครก็ก็อปปี้ไม่ได้
เห็นมั้ยละว่าการรีวิวนั้นฝั่งรากลึกอยู่กับเรามานานโดยที่เราแทบไม่รู้ตัวและยังเป็นเรื่องตั้งต้นการทำคอนเทนต์ที่ง่ายและใกล้ตัวที่สุดด้วย ไม่แน่นะ คุณอาจจะรวยจากการรีวิวอีกคนก็ได้ เพียงแต่ต้องมีไอเดียและความสม่ำเสมอในการนำเสนอคอนเทนต์ RAiNMaker เองก็หวังจะได้อ่านรีวิวของคุณเร็วๆนี้นะ
เรียบเรียงโดยทีมงาน RAiNMaker