- โอตะ BNK48 ที่เราเคยคิดว่าจะมีผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ แต่จริงๆคือผู้หญิง
- รายการที่เคยคิดว่ามีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็ก แต่ข้อมูลกลับบอกว่าเด็กไม่ได้ดูเยอะที่สุด
- รายการที่หลอน น่ากลัว ไม่เหมาะกับกลุ่มบิวตี้ แต่กลุ่มคนดูกลับเป็นผู้หญิงซะส่วนใหญ่
- ภาพยนต์ที่ดังมากในต่างจังหวัด แต่คนกรุงกลับไม่รับรู้กระแสมากนัก
ความน่าสนใจของ Thailand Zocial Awards’18 ในปีนี้ นอกจากธีมที่ดูเซ็กซี่แล้ว คุณกล้า ตั้งสุวรรณ CEO Thoth Zocial OBVOC ยังมอบรางวัลพิเศษเพิ่มให้กับหมวดต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รางวัลในหมวด Entertainment Awards ซึ่งเป็นรางวัลใหม่ที่เกิดขึ้นในปีนี้ เพราะ Social Media มีผลต่อวงการบันเทิงเป็นจำนวนมาก และข้อมูลส่วนใหญ่คุณกล้ายังย้ำอีกว่าเป็นข้อมูลที่เกี่ยวกับเรื่องบันเทิง
วันนี้ทางทีมจึงสนใจในข้อมูลต่างๆ ของแวดวงบันเทิง โดยเฉพาะกับหัวข้อที่ “คุณชลากรณ์ ปัญญาโฉม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานดิจิทัลทีวี บริษัท เวิร์คพอยท์เอ็นเตอร์เทรนเมนท์ จำกัด ได้ให้เกียรติขึ้นพูดบนเวที เกี่ยวกับข้อมูลมหาศาลในแวดวงบันเทิง ไปสู่การทำ Live Broadcast ของเวิร์คพอยท์ ที่ต้องการพิสูจน์ว่า “ทีวี และออนไลน์จะไปด้วยกัน หรือจะฆ่ากันแน่?” ซึ่งข้อมูลจริงที่คุณชลากรณ์ หยิบยกมาเปิดเผยกันนั้น สร้างความประหลาดใจเกินคาดคิดให้กับพวกเราเป็นอย่างมาก
เชื่อมั้ยว่า BNK48 มีโอตะที่เป็นเพศหญิง มากกว่าเพศชาย?
เพียงแค่ปาดหัวข้อถึงแฟนคลับของ BNK48 ที่สร้างปรากฎการณ์ให้หนุ่มๆหลงรักกันทั่วทั้งบ้านเมือง ก็ทำให้หลายคนปักใจเชื่อไปแล้วว่าแฟนคลับ หรือเหล่าโอตะของสาวๆนั้น จะต้องเป็นเพศชายซะส่วนใหญ่อย่างแน่นอน แต่นั้นก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานที่ยังไม่ได้รับการยืนยันทางข้อมูลจริงแต่อย่างไร
ข้อมูลจริงที่ โธธ โซเชียล ได้จัดทำนั้น กำลังบอกเราว่าประชากรที่เป็นเพศหญิง ซึ่งเป็นแฟนคลับ BNK48 นั่นมีมากกว่าประชากรเพศชาย 52:47 เลยทีเดียว
และถ้ายังคิดว่าประชากรเพศหญิงที่เยอะกว่า ส่งผลต่อข้อมูลของโอตะเพศหญิงที่เยอะกว่าแล้วล่ะก็ เรามาดูกันต่อที่ข้อมูลประชากรเฟสบุ๊คที่มีการสมัครสมาชิก และระบุตนว่าเป็นเพศหญิง และชายกัน ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีสัดส่วนเพศหญิงต่อเพศชายที่ 49:51 ซึ่งเป็นจำนวนเพศหญิงที่ใช้เฟสบุ๊คน้อยกว่าเพศชาย
สำนักข่าวออนไลน์ที่สร้างเอ็นเกจเม้นท์ BNK48 บนโลกออนไลน์เยอะที่สุด คือ เพจ “ลงทุนแมน”
ด้วยยอดการเข้าถึงสูงกว่า 3.3 ล้านวิว 7.4 หมื่น รีแอคชั่น และ 3.4 หมื่นแชร์ เฉือนชนะอันดับ 2 วู้ดดี้ ไปเพียงไม่กี่รีแอ้คชั่น และอันดับ 3 คัทโตะ
กระแสอันทรงอิทธิพลของ BNK48 จึงกลายเป็นคอนเทนต์ที่พึ่งพากันระหว่างตัวศิลปิน และสำนักข่าวต่างๆ BNK48 มีแฟนเยอะขึ้นจากการโปรโมทของสำนักข่าว ในขณะที่สำนักข่าวก็ได้เอ็นเกจเม้นท์เพิ่มขึ้นทุกครั้งที่จับคอนเทนต์ซึ่งเกี่ยวข้องกับ BNK48 มาพาดหัว
รายการ “ซุปเปอร์เท็น” เป็นรายการเด็กจริงเหรอ?
เมื่อซุปเปอร์จิ๋วเป็นรายการเด็ก แล้วซูปเปอร์เท็นก็เป็นรายการเด็กใช่มั้ย?
“ซูเปอร์จิ๋ว” ตามข้อมูลพื้นฐานบนวิกิพีเดีย และความเข้าใจของคนทั่วไป เป็นรายการวาไรตี้เด็ก และเยาวชน ที่เปิดโอกาสให้เด็ก และเยาวชนมาแสดงความสามารถต่างๆ ซึ่งเป็นรายการที่อยู่คู่กับวงการบันเทิงไทยมายาวนานที่สุดถึง 26 ปี ดำเนินรายการโดย “ซุป วิวัฒน์ วงศ์ภัทรฐิติ“ คนเดียวมาตลอด
จนกระทั่งวันนี้ได้ปรับโฉมใหม่กลายเป็นรายการ “ซูเปอร์เท็น” และสร้างปรากฏการณ์เป็นรายการเด็กขึ้นมาอีกครั้ง มีการเปลี่ยนตารางออกอากาศจากตอนเช้า เป็นตอน 5 โมงเย็นวันเสาร์ และทำเรตติ้งอันดับ 1 ท่ามกลางรายการที่ออกอากาศในช่วงเดียวกัน โดยเรตติ้งรายการเคยทะลุสูงถึง 2.3 ส่วนในโลกออนไลน์ ก็มียอดวิวรวมกันเกินกว่า 500 ล้านวิวเรียบร้อยแล้ว
พี่ซุปเอง และทีมงานมองว่าซูปเปอร์จิ๋วเป็นรายการเด็ก จนกระทั่งได้เกิดเป็นรายการ “ซูเปอร์เท็น” ขึ้นมา แต่ข้อมูลคนดูที่แท้จริงของ “ซูเปอร์เท็น” กลับสร้างความประหลาดใจให้กับรายการเด็กที่พวกเราคิดอีกครั้ง
คุณชลากรณ์เปิดข้อมูลของทีวีเรตติ้งรายการ ซูเปอร์เท็น ให้เราเห็น และพบว่าเรตติ้งคนดูอันดับหนึ่ง เป็นประชากรอายุมากกว่า 40 ปี รองลงมาอายุ 30-40 ปี ตามด้วย 20-29 ปี ในขณะที่ข้อมูลบนโลกออนไลน์ บอกเราว่าเรตติ้งคนดูอันดับหนึ่งอายุ 18-34 ปี รองลงมาอายุมากกว่า 35 ปี ซึ่งหมายความว่ารายการซูเปอร์เท็น มีคนดูรายการส่วนใหญ่ไม่ใช่เด็กอย่างที่หลายคนคิด
คลิป “น้องพีเตะฟุตบอล” ดังมาก แต่การเข้าถึง และเอ็นเกจเม้นท์ กลับไม่สามารถทำได้เยอะแบบรายการบันเทิงทั่วไป เช่น The Mask Singer, The Face Thailand หรือรากนครา เหตุผลอาจเพราะ เนื้อหาในคลิปไม่ได้มีหัวข้อให้คนคุยกัน เป็นแค่การส่งต่อให้เพื่อนดูมากกว่าการสร้างหัวข้อถกเถียงกัน ฉะนั้นการสร้างเอ็นเกจเม้นท์น้อย ไม่ได้แสดงว่าจะสร้างอิมแพคหรือไม่ ขึ้นอยู่การที่เราใช้ข้อมูลนั้นยังไง
ความเชื่อมโยงระหว่างคอนเทนต์ออฟไลน์ กับออนไลน์ กับ “เชฟเรียว”
“เชฟเรียว” คือ น้องเรียว ที่เรียกตัวเองว่า “เชฟแห่งแดนปลาแดก” ที่เปิดตัวมากับคลิปโชว์ทำเมนู “ก้อยกะปอม” หรือก้อยกิ้งก่า มากับคู่หู “น้องอ้วน” ที่แสดงเป็นคนกินในคลิปอย่างเอร็ดอร่อย ด้วยเมนูพิศดาร และการนำเสนอของเชฟเรียว และน้องอ้วนตลอดคลิป ทำให้คลิปดังกล่าวซึ่งโพสโดยเพจ Ptss โด่งดังเพียงข้ามคืน
ถึงตอนนี้คลิปได้ถูกแชร์ไปมากกว่า 108,000 ครั้ง ยอดคนดูเกือบ 7 ล้านวิว และทำรีแอ้คชั่นได้อีก 2.3 แสน
และเชฟเรียวก็กลายเป็นเชฟเด็กที่ดังมากบนโลกออนไลน์ตั้งแต่คืนนั้นเป็นต้นมา จนกระทั่งเมื่อรายการซูเปอร์เท็นได้ดึงเอาเชฟเรียวเข้ามาในรายการ ก็สร้างสถิติบนยูทูบเอาไว้ ด้วยยอดวิวกว่า 26 ล้านวิว และเคยติด อันดับ 5 ของยูทูบประเทศไทย อีกด้วย
แต่ถึงอย่างนั้น ถ้าให้ไปถามถึงรายการซูเปอร์เท็นแล้ว คนส่วนใหญ่จะจำคลิป น้องพีเตะฟุตบอลได้มากกว่า คลิปเชฟเรียว ซึ่งตัวผู้เขียนคิดว่าคลิปน้องพีเตะฟุตบอลนั้นสามารถสร้างแบรนด์ให้กับรายการซูเปอร์เท็นได้มากกว่าคลิปเชฟเรียวซธอีก เหตุผลอาจเป็นเพราะ การออกรายการซูเปอร์เท็นของเชฟเรียว ไปส่งผลดีต่อแบรนด์เชฟเรียวมากกว่า
รายการหลอนน่ากลัว แต่มีกลุ่มแฟนคลับประจำเป็นผู้หญิง คือความท้าทายของแบรนด์
เมื่อแฟนประจำรายการ คนอวดผี อีจัน เลขอวดกรรม เป็นผู้หญิง
แล้วแบรนด์สินค้าผู้หญิง สวยๆงามๆ จะเลือกใช้พื้นที่ในการโฆษณาหรือไม่?
จากข้อมูลคนดูรายการ คนอวดผี อีจัน เลขอวดกรรม นั้น นับเป็นสัดส่วน ผู้หญิงต่อผู้ชายที่ 60:40 เลยทีเดียว
แบรนด์จะกล้าขายสินค้าผู้หญิงกับความเชื่อ ความน่ากลัวมั้ย?
Case Study ที่เกิดขึ้นคือ แบรนด์ Beauty Buffet ที่ไปแปะอยู่บนคลิป อีจัน กลายเป็นผู้กล้าทำลายล้างกฏทุกข้อ ด้วยการที่วิ่งเข้าหากลุ่มเป้าหมาย โดยไม่สนใจภาพลักษณ์ที่น่ากลัว ซึ่งผู้บริหารได้กล่าวว่า เมื่อผู้หญิงอยู่เยอะ หมายถึงกลุ่มเป้าหมายลูกค้าของแบรนด์อยู่ที่นั้น
แพลตฟอร์มต่างประเทศมีอิทธิพลต่อรายการทีวีอย่างไร?
บางทีการลงคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มออนไลน์อาจคุ้มกว่าการเร่ขายตามงานต่างๆเสียอีก
สำหรับด้านรายการทีวีของเวิร์คพอยท์นั้น คุณชลากรณ์ ได้เปิดเผยสถิติคนดูในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งคิดเป็นเปอร์เซ็น คนดูในประเทศไทยที่สูงถึง 92% ในทางกลับกัน รายได้ที่ได้จากพื้นที่ต่างๆในประเทศไทยได้ไปเพียง 66% อเมริกา 12% และพื้นที่อื่นๆอีกรวม 22% เท่านั้น
คุณชลากรณ์ยังเปิดเผยอีกว่าเวิร์คพอยท์มีรายได้จากยูทูบประมาณ 200 ล้าน เมื่อเทียบกับการนำคอนเทนต์ไปตะเวณขายามงาน ออกบูธ ลงทุนไป 3-4 แสน ขายคอนเทนต์ให้ต่างประเทศได้ 30 ล้าน และขายที่อื่นๆ ได้เท่ากับ หรือมากกว่า เมื่อเทียบกับการอัพลงยูทูบไม่ต้องเสียต้นทุนการเดินทางอีกด้วย
ภาพยนต์ที่ดังมากในต่างจังหวัด แต่เมืองกรุงกลับไม่ค่อยรับรู้ถึงกระแส
มีภาพยนต์เรื่องหนึ่งที่ดังในในต่างจังหวัดมาก แต่สำหรับคนเมืองอย่างเราแล้วไม่ค่อยได้รับรู้กระแสเท่าไร
นั่นก็คือภาพยนต์เรื่อง “ส่ม ภัค เสี่ยน” ซึ่งเป็นภาพยนต์ไทยแนวโรแมนติกคอมมีดี้ ที่พูดถึงความรักของหนุ่มอีสาน ที่รอคอยคนรักซึ่งเข้าเมืองไปทำงานกลับมา จนทำให้เกิดเป็นเรื่องราววุ่นๆ สไตล์บ้านๆที่ถูกใจชาวต่างจังหวัดเป็นส่วนใหญ่ และภาพยนต์เรื่องนี้ก็ทำรายได้สูงถึง 76.37 ล้านบาท เลยทีเดียว
เพลงประกอบภาพยนต์ในช่องยูทูบเองก็ทำยอดวิวไปกว่า 91 ล้านวิว และ 72 ล้านวิว เช่นกัน
ในเคสนี้อาจเป็นอีกเหตุผลที่อธิบายได้ว่าถึงเราจะไม่เห็นกระแสบนโลกโซเชียล ก็ไม่ได้หมายความว่ารายการนั้นๆจะไม่โด่งดัง บางทีอาจไปจับกลุ่มคนต่างจังหวัดที่มีพฤติกรรมการใช้โซเชียลต่างจากคนเมืองก็ได้
จากข้อมูลที่เราได้จากคุณชลากรณ์ ในงาน Thailand Zocial Awards’18 ทำให้เราได้เห็นผลตอบรับที่เหนือความคาดหมายจากที่เราคิดในแวดวงบันเทิงหลายอย่างเลยทีเดียว ในฐานะที่ผู้เขียนเองก็ทำงานเกี่ยวกับคอนเทนต์ในแวดวงบันเทิง เห็นด้วยกับอิทธิพลของคอนเทนต์บันเทิงที่มีอยู่เต็มไทม์ไลน์ไปหมด และยังเห็นว่าเป็นโอกาสของหายแบรนด์ที่จะเลือกหยิบจับกระแสบันเทิงซึ่งมาเร็วไปไว เพื่อพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสได้อย่างชาญฉลาด เช่นเดียวกับทีวีดิจิทัลที่ต้องมองหาลู่ทางในการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย ไม่งั้นพวกเราอาจต้องตายไปกับดิจิทัลอย่างแน่นอน